ปริศนาขนมเดือนสิบ

25 ก.พ. 2566 | 05:37 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.พ. 2566 | 06:32 น.

คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

วันนี้ยังคงอยู่ในแดนใต้ ก็ชวนท่านไปเยี่ยมชมเทศกาลการทำบุญสารท หรือทำบุญเดือนสิบ ซึ่งจะตรงกับวันแรมสิบห้าค่ำเดือนสิบ เปนพิธีใหญ่พิธีหนึ่งของแดนใต้ซึ่งเขาถือว่าเปนการทำบุญแผ่ส่วนกุศลให้แก่ผู้วายชนม์ไปแล้ว
 
อันคำว่าสารทนี้แปลว่าอย่างไร ราชบัณฑิตทั่วไปท่านว่า สารทแปลว่า ใหม่  หรือแปลว่า ปี ก็ได้ เปนคำทำนองว่าบาลีสันสกฤต เช่นว่าในประเทศที่มี ๔ ฤดู เช่น ในอินเดียตอนเหนือ ฤดูสารท จะหมายถึง ฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อฤดูร้อนกำลังจะหมดไป อันว่าฤดูร้อนนี้ก็เปนฤดูที่พืชผลเจริญงอกงาม เมื่อย่างเข้าปลายฤดูจึงเก็บเกี่ยวพืชผล ชาวเกษตรกรในสังคมกสิกรรมก็ถือโอกาสนี้นำพืชผลที่เก็บเกี่ยวได้มาทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เช่น สังคมกสิกรรมกำแพงเพชร เอาข้าวเม่า ข้าวตอก ถั่ว งา กวนกับน้ำตาลน้ำอ้อย ทำกระยา ‘สารท’ 

ในขณะที่เมืองปักษ์ใต้ จัดการนำแป้งและน้ำตาลมาทำขนมเฉพาะถิ่น เช่น ขนมลา, ขนมห่อ (ใส่ไส้), ข้าวพอง (นางเล็ด), ขนมไข่ปลา (ขนมกง), ขนมต้ม (ลูกโยน) ปนกับอาหารแห้งทั้งหลายใส่สาแหรก จัดให้สวยงาม ทำเปนสำรับหลายชั้น ซับซ้อน เรียกโดยสะกดเปนคำลำบากว่า ห-มรั่บ แห่ไปวัด ห-มรั่บนี้ ชั้นล่างสุดเขานิยมเอาอาหารแห้ง คือ ข้าวสาร พริก เกลือ หอม กระเทียม กะปิ น้ำตาล มะขามเปียก ปลาเค็ม เนื้อเค็ม หมูเค็ม กุ้งเสียบ รองพื้นไว้ 

ถัดขึ้นมาจัดพืชผักที่เก็บไว้ได้นานเอาใส่ จะฟักแฟง มะพร้าว  หัวมันต่างๆ กล้วย อ้อย ข้าวโพด ตะไคร้ ลูกเนียง สะตอ ได้หมดชั้นสาม จัดบรรจุสิ่งของประเภทของใช้ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ น้ำมันพืช น้ำมันมะพร้าว น้ำมันก๊าด ไต้ ไม้ขีดไฟ หม้อ กระทะ ถ้วยชาม เข็ม ด้าย หมาก พลู กานพลู การบูร พิมเสน  ปูนแดง ยาเส้น บุหรี่ ยาสามัญประจำบ้าน ธูป เทียน ชั้นบนสุด จึงประจุขนมสัญลักษณ์สารทเดือนสิบ ดังได้กล่าวแล้ว คือ ขนมพอง ขนมลา ขนมกง (ขนมไข่ปลา) ขนมบ้า ขนมดีซำใส่เข้าไว้
 
พวกประดาขนมเหล่านี้แหละครับท่านผู้อ่าน มันมีความเปนปริศนา เปี่ยมไปด้วยความหมายน่าซึ้งใจ งานบุญนี้จะขาดขนมพวกนี้เสียมิได้เลยเพราะบรรพบุรุษและญาติที่ล่วงลับจะอดนำไปใช้ประโยชน์ในภพภูมิซึ่งลูกหลานสันนิษฐานว่ากำลัง ‘ตกที่นั่งลำบาก’
 
เริ่มที่ขนมพอง หรือข้าวพอง ที่ภาคอื่นเรียกนามว่านางเล็ดเสียก่อน ขนมพองนางเล็ดนี้ ทอดพองเข้าแล้วมันจะแลดูเหมือนแพ เบา ลอยน้ำได้ ใช้สมมติรูปพรรณของมันเปนสัญลักษณ์แทนเรือแทนแพ เพื่อผีบรรพบุรุษใช้ถ่อนั่งข้ามห้วงมหรรณพ โอฆสังสาร

ต่อมาด้วยขนมลา ขนมลา ทำจากแป้งข้าวเจ้าปนน้ำตาลเคี่ยวจนเปนยางมะตูม ทิ้งไว้ให้เย็นผสมกัน เทลงไปในกะลามะพร้าวที่เจาะไว้เปนรูเล็ก ๆ หลายรู และมีด้ามจับ หรือเอามือเกาะให้ไหลลงกะทะน้ำมันมะพร้าวซึ่งตั้งบนเตาไฟจนเดือดทำขนมลานี้น้ำมันต้องมีน้อยเพื่อให้แป้งที่โรยไปติดอยู่ข้างกระทะทั้งสองข้าง แป้งที่ไหลลงนี้จะจับเปนอย่างเหมือนเส้นหมี่ แต่เส้นฝอยละเอียดกว่า ขนาดกว้างประมาณ 2-3 นิ้ว ยาวฟุตหนึ่ง ตรงกลางสีเหลืองน้ำตาล เนื้อกรอบตอนปลายสีจะอ่อนลง เพราะความร้อนจากกระทะไม่เท่ากัน แล้วเขามีไม้แหลมจิ้มขึ้นไปวางไว้ให้สะเด็ดน้ำมัน ขนมลานี้ที่มีเส้นเล็กก็เพื่อให้พวกเปรตกินได้ เพราะเชื่อกันว่าเปรตจะมีปากเท่ารูเข็มกินได้ทีละเส้น 
 
ส่วนที่เรียกว่าขนมลาก็เพราะใช้กะลาดังว่า คนใต้ทั้งหลายท่านนิยมพูดสั้น ขนมกะลาจึงกลายเปนขนมลาไป ชาวใต้ดั้งเดิมมีความเชื่อถือว่าบรรพบุรุษของตนที่ล่วงลับไปแล้วบ้างก็ไปสู่ที่ชอบ บ้างก็ไปสู่ที่ชั่วได้รับความทุกข์ทรมานต่าง ๆ และได้รับความอดอยาก ทีนี้ว่าพอถึงวันสารทถือว่ายมบาลปล่อยพวกผีปีศาจที่เรียกว่าเปรตเหล่านี้มารับส่วนบุญ  (ทั้งที่คำว่าเปต หรือ เปรตนี้ แปลจริงๆเข้าท่าว่า แปลว่า ‘ผู้ไปก่อน’) ลูกหลานก็ดูเบาว่าบรรพชนเขาไปก่อนนั้นไปตกในที่ใหม่ที่มันไม่ใคร่จะดีจึงมีความกังวลจะช่วยเหลือด้วยสมมติดังว่า
 
ขนมลาในอีกโสตหนึ่งนี้จึงเปนสัญลักษณ์แทนแพรพรรณ เครื่องนุ่งห่ม เพราะขนมลามีลักษณะเปนเส้นใยเสมือนใยที่ถักทอเป็นผืนผ้าแพรพรรณเครื่องนุ่งห่ม บรรพชนจะตกที่ดีไม่ดีก็ใช้ได้ไม่ต้องกินอย่างเดียว
 
ถัดมาคือ ขนมบ้า เรียกย่อมาจากสะบ้า เปนสัญลักษณ์แทนลูกสะบ้า ซึ่งเปนของเล่นต้อนรับสงกรานต์ในหลายๆวัฒนธรรม เพราขนมบ้ามีรูปทรงคล้ายลูกสะบ้า ซึ่งเปนการละเล่นที่นิยมมากในสมัยก่อน เจือมันเทศ ทอดออกมาทรงแบบทอดมันปลา บางบ้านเรียกโดยตรงๆว่าขนมทอดมัน (เทศ)
 
นอกนี้มีขนมดีซำ หรือขนมเจาะรู  ทรงคล้ายเงินเบี้ย จึงสมมติให้เเทนเงินไว้ใช้อันดับท้ายคือขนมกง ทรงคล้ายกำไล/แหวน แทนว่าเปนเครื่องประดับทำจากถั่วเขียวบดเข้าน้ำตาล ถ้าเมืองสุพรรณจะใช้ตาลสุกยีเข้าแทน ออกมารูปทรงเหมือนไข่ปลาเปนยวงสวย
 
บางบ้านแถมขนมต้มหรือขนมลูกโยนห่อด้วยใบกะพ้อซึ่งเปนต้นปาล์มสกุลปาล์มจีบ ต้นโตเท่าแขน สูงเต็มที่ถึงสองวาใบแตกเปนแฉกลึกกว้างยาวราวศอกคืบถึงสองศอกคีบ ก้านใบยาวราวเท่า ๆ ส่วนกว้างของใบเขาเอาแต่ยอดอ่อนของมันห่อเปนรูปสามเหลี่ยม ข้าวเหนียวอยู่ภายในอาจใส่ถั่วหรือไม่ใส่ถั่วก็ได้มีรสหวาน มัน ไม่ใส่ไส้
 
แห่หมรั่บไปถึงวัดแล้ว เขาจะใช้วิธีปลูกนั่งร้านสี่เหลี่ยมไม่มีหลังคาขึ้นมาอยู่บริเวณวัดสูงสักหน่อยกว้างยาวพอสมควร เมื่อใส่บาตรพระสงฆ์เสร็จแล้ว ก็นำอาหารที่แบ่งไว้มาวางบนร้าน เพื่อให้ผีผู้ไปก่อนแต่ตกที่นั่งไม่ได้ผุดได้เกิดเหล่านี้มากิน และขณะที่พระสวดแผ่ส่วนกุศลให้แก่ผู้ตายผู้ที่ไปทำบุญก็จะกรวดน้ำตามใต้ต้นไม้บริเวณวัดเปนอันเสร็จพิธี ถือว่าพวกเปรตกินเสร็จแล้ว อาหารบนร้านนี้ใครจะรับประทานก็ได้เปนกุศลดีนัก การเข้าไปแย่งอาหารหรือขนมที่เปนเครื่องบูชาจะเรียกว่า “ชิงเปรต” เปนเรื่องสนุกและแสดงความกตัญญุตา


 
ผู้ใหญ่แดนใต้เล่าให้ฟังว่าในยุคก่อนที่พวกชาวน้ำชาวทะเลยังไม่ทันสมัยจะเตรียมกระสอบที่สานด้วยใบเตยมาคนละใบ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางสองฟุต สูงสองฟุต มาขนกลับไปบ้านพวกชาวเลชาวน้ำเมื่อได้ขนมลา ก็เก็บเปนเสบียงกรังเมื่อเวลาออกทะเลหลาย ๆ วัน จะบรรจุลงในไหแล้วโรยน้ำตาลลงไปทับหน้า ส่วนขนมต้มพอค้างคืน เขาก็เอาไม้แหลมเสียบเปนตับๆเข้า ปิ้งไฟ รสชาติอร่อยขึ้นโอชา
 
คนเก่าๆเล่าว่าเดือนสิบของทุกปีเหล่าชาวน้ำนี้จะเอากัลปังหา แหวนจากกระดองเต่ากระ กำไลกระขัดเปนเงาวับ เปลือกหอยต่าง ๆ และเสื่อที่สานด้วยใบเตยสอดสลับสีอย่างงาม ปะการังระบายสีและของทะเลอื่น ๆ รวมทั้งไม้ซางซึ่งทำด้วยไม้ไผ่ สำหรับเด็กเป่าเล่น (แต่เด็กต้องทำลูกดอกเอาเอง โดยเอาเข็มหมุดหัวโตยาวนิ้วครึ่ง ผูกกับไหมพรมสีๆ) มาขายแลกเปลี่ยนในงาน ถือเปนของแปลกและสนุก
 
ในพิธีนี้ เด็กๆคือมาโรงเรียน เมื่อครูเรียกชื่อเสร็จแล้วก็อนุญาตให้ไปวัดไปสมทบกับผู้ปกครองทำบุญทำทานได้ บางที่จัดทำเสาสูงๆทาน้ำมันข้างบนแขวนข้าวของไว้ให้ชิง ใครปีนเสาลื่นนี้ขึ้นไปได้นับว่าเก่งมาก นอกจากได้ของยังมีรางวัลพิเศษ คนดูก็ลุ้นไปเชียร์ไป ส่วนเดิมพันนั้นถือเปนของแถม ส่วนคนหนุ่มก็ถือโอกาสขี่รถวนไปทุกวัด_ชมสาว ซึ่งแต่งสวยด้วยทองหรือเพชรพลอยเพริดพรายไปหมดทั้งตัว ผมเผ้าต้องตัดใหม่อย่างสุดฝีมือ หน้าตาก็แต่งจัดกว่าเคย พวกคนแก่จะนุ่งผ้าปะเต๊ะอย่างดี ราคาแพงแสดงถึงฐานะของบุคคล สวมเสื้อเข้ารูปก่อนข้างบางให้เห็นเข็มขัดทองที่คาดอยู่ สาว ๆ ในเมืองส่วนใหญ่มีเชื้อจีน จึงมีผิวขาว ส่วนสาวๆไทยใบหน้างดงามคมคาย
 
เมื่อทำบุญทำทานเสร็จแล้ว จะรับประทานอาหารร่วมกันในตอนเที่ยง จึงแยกย้ายกันกลับไป อิ่มบุญอิ่มใจและได้ความสนุกเจือความสุขแห่งอำนาจกตัญญุตา

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ  ปีที่ 43 หน้า 18  ฉบับที่ 3,865 วันที่ 26 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม พ.ศ. 2566