ศิลปะกัมพูชาที่ปารีส

04 มี.ค. 2566 | 02:32 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ค. 2566 | 14:32 น.

ศิลปะกัมพูชาที่ปารีส คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

เวลานี้กระแสชาตินิยมของกัมพูชามาแรงจริงๆ เมื่อเดือนก่อนก็ปะทะกันด้วยเรื่องกีฬามวย ว่า มวยไทย รึ มิใช่มวยเขมร ลามกันไปถึงแชมป์ใหญ่อย่างบัวขาว (อดีต) บัญชาเมฆ ว่าเปนคนมวยชาติไรแน่ แหม วุ่นวายขายขนม
 
ก็ทำให้นึกถึงว่าช่วงเวลาเกือบจะสองร้อยปีมาแล้วนักล่าอาณานิคมเขาทำงานกันอย่างหนักหน่วงมิหยุดมือพัก ฝรั่งเศสเองมาไกลถึงแดนเขมรกัมพูชา พาเอางานศิลปะชิ้นสำคัญๆออกจากแดนอารยะธรรมแห่งนี้ไปไม่น้อย 
 
แกนนำสำคัญในการขนถ่ายข้าวของอารยธรรมสมบัติล้ำค่าไปเมืองนอก แกชื่อ ตาหลุยส์ เดอ ลาปอเต้ (แกล้งอ่านตรงตัวสะกดเปนอังกฤษ) ซึ่งลัดเลาะเข้าเขมรมาทางไซ่ง่อน โดยตามทหารคุมพื้นที่เขตอาณานิคมเข้ามาพร้อมลูกทีมอีกกว่า 50 คนแกเปนศิลปินนักผจญภัยในเครื่องแบบที่หลงใหลในงานศิลปะ นั่งเฝ้าแกะแบบ วัดขนาด นครวัด นครธมจนได้พิมพ์เขียว ส่วนงานศิลปะประติมากรรมนอกจากวัดขนาดและวาดแล้ว แกขนกลับไปปารีสได้อีกราว 70 ชิ้น

ปี 1878 ตาหลุยส์ไปลุยปราสาทพระขรรค์ หมายมั่นจะเอารูปกินอสุรยุดนาคที่ทำราวสะพานกลับไปให้ได้ อะไรเอาไปไม่ได้แกก็ใช้วิธีถอดพิมพ์เอากลับไป เพื่อไปสร้างโมเดลจำลอง ปราสาทหินต่างๆให้เกิดเปน “สถาน” อย่างว่า Pavillion ในงานแสดงยิ่งใหญ่ อย่าง universalle  exposition หรือแปลอังกฤษว่า Paris World’s Fair
 
งานใหญ่จัดแสดงอารยธรรมเขมรนี้ จัดกันหลายที ปี 1889 ธีมปราสาทเล็กๆ ปี 1906 ธีม ปราสาทบายน ไปจัดที่มาร์กเซย์ ปี 1922 ธีมปราสาทนครวัด ว่ากันว่า 
 
งานปี 1906 สมเด็จพระนโรดมสีสุวัตถิ์ (ไทยว่าศรีสวัสดิ์) ก็เสด็จร่วมงานนี้ด้วย เปนสมเด็จพระนโรดมกษัตริย์กรุงกัมพูชา ซึ่งทรงพระผนวชที่วัดบวรนิเวศวิหาร บางลำภูนี้เอง สมเด็จพระนโรดมศรีสวัสดิ์พระองค์นี้ทรงเปนพระราชโอรสของนักองด้วง ที่เราคุ้นเคยในตำราเรียนแต่ไหนแต่ไรมา


 

เรื่องเก่าเล่าความก็มีว่าเมื่อครั้งที่พระราชบิดาของนักองด้วงท่านเสด็จสวรรคตนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ นักองจันทร์ อภิเษกขึ้นครองราชบัลลังก์กัมพูชา พระราชทานนามว่า สมเด็จพระอุทัยราชา แต่ครั้นเมื่อสมเด็จพระอุทัยราชาขึ้นครองราชย์แล้วกลับมีใจออกห่าง หันไปคบค้าพึ่งพาเวียดนาม(ญวน)แทน ในช่วงนั้นเจ้านายและขุนนางเขมรจึงแบ่งออกเปน 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายหนึ่งเห็นด้วยกับสมเด็จพระอุทัยราชา กับฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วย ฝ่ายไม่เห็นด้วยนี้มีนักองด้วงรวมอยู่ ท่านจึงตัดสินใจหนีราชภัยญาติวงศ์เข้ามายังกรุงเทพพระมหานครในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ตั้งแต่มีชนมายุ 16 พรรษา โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เข้ามาพำนัก ณ วังเดิมที่สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดี พระบิดาเคยพำนักอยู่ เรียกกันว่า วังเจ้าเขมร
 
ต่อมา ล่วงถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เมื่อนักองด้วงมีพระชนมายุ 43 หลังจากที่ทรงพำนักอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลา 27 ปี จึงเดินทางกลับเขมรพร้อมกับกองทัพพระราชทานมีเจ้าพระยาบดินทรเดชา เปนแม่ทัพ เพื่อรบกับญวนที่กำลังแผ่อำนาจเข้าสู่เมืองเขมรในช่วงนั้น โดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการว่า “หากเขมรสงบเรียบร้อยเมื่อใดให้อภิเษกนักองด้วงขึ้นครองเขมร” ดังนั้น เมื่อกองทัพของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สามารถจัดการเหตุการณ์ในเขมรได้เปนที่เรียบร้อยแล้ว จึงมีการพระราชพิธีอภิเษกนักองด้วงขึ้นครองราชสมบัติที่เขมรเมื่อพระชนมายุ 51 พรรษามีพระนามว่า “พระหริรักษ์รามาธิบดี ศรีสุริโยพันธุ ธรรมมิกวโรดม บรมศรีอินทรา มหาจักรพรรดิราช บรมนารถบรมบพิตร สถิตย์เปนอิศวรกัมพูชารัตนราช โอภาศชาติวรวงศ์ ดำรงกัมพูชามหาประเทศราชนคร บวรวิวัฒนาดิเรก เอกอัครมหาเขมราธิบดินทร นรินทรวิสุทธิอุดม บรมบพิตร เจ้ากรุงกัมพูชา” 
 
ต่อมาผลัดแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แก้สร้อยพระนามของสมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี ตามที่ทรงมีศุภอักษรเข้ามาขอเปลี่ยน เปนว่า “องค์พระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี ศรีสุริโยประพันธ์ ธรรมิศวโรดม บรมศิรินทร บวรมหาจักรพรรดิราช พิกาศนารถบพิตร สถิตยเป็นอิศรกัมพูชารัตนราช โอภาศชาติวรวงศ์ ดำรงกัมพูชามหาประเทศราชนคร บวรวิวัฒนาดิเรก เอกอัครมหาเขมราธิบดินทร นรินทรวิสุทธิอุดม บรมบพิตร” ก็แลดูมีนัยสำคัญชอบกลอยู่


 
กลับมาที่เรื่องตาหลุยส์ แกเทียวไปเทียวมาระหว่างฝรั่งเศสกับเขมรหลายเที่ยว ทำบันทึกการเดินทางไว้เป็นเล่มๆ ประกอบภาพวาดภาพถ่ายอย่างดีสวยงาม ในความเปนศิลปินของแกนั้น แกก็ประทับใจใหลหลงในอารยะธรรมเขมรกัมพุชโบราณนี่แล แต่การเผยแพร่ให้คนฝรั่งอื่นนิยมด้วยมันก็ลำบาก เพราะเขาไม่เข้าใจเรื่องตำนานเทววิทยาของเขมร 
 
ตาหลุยส์ก็พยายามเขียนหนังสือแต่งตำรา ทำการเทียบเคียงเทวดากรีกกับเทวดาเขมรเพื่อให้ผู้คนเข้าใจ ข้าวของต่างๆที่ได้ไปนำไปบอกกับพิพิธภัณฑ์ลูฟว์กลางกรุงปารีสให้ตั้งแสดง ภัณฑารักษ์ผู้ใหญ่เขาก็ไม่สนใจ จนเวลาผ่านนานไป 


 
มีการไปจัดงาน Exposition Colonial de Paris กันในถิ่นผู้ชนะ อย่างว่าเจ้าผู้เข้าครอง โดยจำลองเมืองนครวัดขึ้นมา แต่ว่าขนโบราณวัตถุของจริงไปจัดแสดงประกอบความเกียรติยศเกรียงไกรในการได้พิชิตอารยธรรมโบราณที่แสนจะงดงามละเอียดอ่อน แต่ปรับตัวรับภัยสงครามได้ไม่ทันมือ ผู้คนก็เริ่มตระหนักในคุณค่าศิลปะวัฒนธรรมเขมร
 
โบราณวัตถุชิ้นสำคัญๆ ที่พลัดบ้านเกิดเมืองนอนไปนั้น จึงได้มีโอกาสไปจัดแสดงอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์Muse’e Indochinois  ที่ Palais du Trocade’ro ซึ่งเขาให้ตาหลุยส์เองทำหน้าที่เปนภัณฑารักษ์เฝ้าสมบัติไปจนแก่ชราตายจากไป จนปัจจุบันนี้ประดาวัตถุต่างๆถูกย้ายไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์Guimet Museum มุมหนึ่งของกรุงปารีส ก็เผื่อท่านใดจะสนใจแวะไปเยี่ยมชม

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 หน้า 18ฉบับที่ 3,867 วันที่ 5 - 8 มีนาคม พ.ศ. 2566