ผู้สูงวัยกับความเค็มของอาหาร

21 ก.ค. 2566 | 21:59 น.
อัพเดตล่าสุด :22 ก.ค. 2566 | 03:41 น.

คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา ผู้สูงวัยกับความเค็มของอาหาร โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

อาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้ไปเยี่ยมและร่วมรับประทานอาหารกับผู้ใหญ่ที่ผมเคารพท่านหนึ่ง ผมสังเกตได้จากอาหารที่ท่านทานอยู่นั้น ท่านจะไม่ยอมทานอาหารที่มีรสเค็มเลย จึงสอบถามท่านไปว่า ท่านมีอาการโรคไตอยู่เหรอเปล่า? เพราะท่านทานแต่อาหารจืดๆ ไม่ยอมแตะอาหารที่มีรสชาติเลย ท่านบอกว่าคุณหมอบอกให้งดอาหารเค็ม เพราะอาการโรคไตจะกำเริบ ทำให้ผมอดคิดถึงผู้สูงวัยท่านหนึ่งที่เป็นชาวเมียนมา 

ท่านเป็นคุณแม่ของเพื่อนผม ท่านเป็นโรคไตขั้นรุนแรงมาก ข้อมือของท่านจะปูดบวม และมีอาการเต้นตามจังหวะของหัวใจ เห็นแล้วน่ากังวลใจแทนลูกหลานท่านมาก จนกระทั่งในที่สุดท่านก็ต้องจากโลกนี้ไปในเวลาไม่นาน จึงคิดว่าการเป็นโรคไตนั้น ต้องไปล้างไตทุกๆ อาทิตย์ บางท่านอาทิตย์ละหลายครั้ง มันช่างทรมานเหลือเกิน แต่หากเรารู้จักดูแลตัวเอง ก็น่าจะดีกว่าปล่อยตัวปล่อยใจไปตามยถากรรมนะครับ

แน่นอนว่าในปัจจุบันนี้ โรคความดันโลหิตสูงและโรคไตเรื้อรัง น่าจะเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สําคัญของคนไทยไปแล้ว เพราะจากการศึกษาพบว่า มีประชากรไทยที่เป็นความดันโลหิตสูงได้ถึง 1 ใน 4 ของผู้ใหญ่หรือกว่า 10 ล้านคน และยังพบว่ามีประชากรไทยเป็นโรคไตเรื้อรังอีกประมาณ 7 ล้านคน ซึ่งส่วนมากจะเป็นโรคไตระยะเริ่มต้น ซึ่งเกิดจากความเสื่อมจากการทํางานของไต ก็จะนําไปสู่ภาวะไตวายในที่สุด แน่นอนว่านั่นเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ต้องไปเข้าเฝ้าพระอินทร์ได้ครับ
       
ที่แน่ๆ ของการเกิดอาการของโรคไตในระยะต้น มักจะมากันเป็นแพ็คเกจ จะไม่มาเดี่ยวๆ เสมอ เช่นจะเกิดโรคความดันโลหิตสูง ตามมาด้วยโรคเบาหวาน และโรคไตนั่นเองครับ ทีนี้จะทำอย่างไรไม่ให้มันมาเป็นแพ็คเกจอย่างที่ว่าละครับ เราก็ต้องเริ่มด้วยการควบคุมโรคความดันโลหิตก่อนเป็นอันดับแรก เวลาพูดนะพูดง่ายเนาะ แต่เวลาทำนั้นยากแสนยาก เพราะอุปสรรคที่สําคัญในการควบคุมความดันโลหิตไม่ได้ ส่วนใหญ่จะเกิดจากการบริโภคอาหารไม่ระวัง 

พูดง่ายๆ คือตามใจปากมากจนเกินไป ชอบทานอาหารที่มีรสเค็มจากเกลือในปริมาณที่มากนั่นเอง คนไทยส่วนใหญ่ (ผมเองก็เป็น ไม่ต้องไปว่าใครเขาหรอก) เวลาทานอาหารมักจะต้องมีพริกน้ำปลาหรือไม่ก็น้ำพริกไว้ข้างกายเสมอ ส่วนในอาหารเอง ก็มีการเติมเกลือหรือน้ำปลาในการปรุงรสชาติอาหารอยู่แล้ว เพราะจะทำให้อาหารมีรสเค็มนั่นเอง จะเห็นว่าคนไทยเรามีพฤติกรรมการบริโภคเกลือสูงถึง 2 เท่าของปริมาณที่ร่างกายคนเราต้องการ จึงทำให้เกิดผลเสียที่ติดตามมากับอาหารเค็ม นั่นก็คือ “โซเดียมสูง” ซึ่งก็จะส่งผลทําให้เกิดความดันโลหิตสูงนั่นเองครับ
          
เรามาดูว่าเจ้า “โซเดียม” นั้นมีความสำคัญไฉน? ต้องบอกว่าสำคัญมากสำหรับมนุษย์อย่างเรา เพราะเจ้าโซเดียมมีหน้าที่ในการควบคุมสมดุลของเกลือแร่ ที่จะมากระจายตัวของน้ำในส่วนต่างๆ ของอวัยวะในร่างกาย และควบคุมความสมดุลของกรดและด่าง การเต้นของหัวใจและชีพจร ที่มีผลต่อความดันโลหิตและการทำงานของเส้นประสาท และกล้ามเนื้อต่างๆ    
          
ร่างกายของเราจะได้รับโซเดียมจากอาหาร ซึ่งมักอยู่ในรูปของเกลือที่ทําให้มีรสชาติเค็ม และเครื่องปรุงรสต่างๆ  เช่น น้ำปลา กะปิ ผงชูรส ฯลฯ  นอกจากนี้โซเดียมยังแอบแฝงอยู่ในอาหารรูปแบบอื่นๆ ที่เป็นของมักดองต่างๆ เช่น ผักกาดดอง ขิงดอง แหนม และอาหารหมักดองอื่นๆ ที่ต้องใช้เกลือเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิต ล้วนแล้วแต่มีปัญหาโซเดียมทั้งสิ้น 

แต่อย่าเพิ่งกลัวมากจนเกินไปนะครับ เอาเป็นว่า การบริโภคโซเดียมนั้น เราเองก็มีความจำเป็นต้องบริโภคมัน เพราะในทางการแพทย์ เขากำหนดปริมาณการบริโภคโซเดียมไว้ที่วันละไม่ควรเกิน 1 ช้อนชา ดังนั้นก็อย่าบริโภคจนมากเกินไปละ เพราะมันจะทำให้พวกเราผู้สูงวัยทั้งหลาย ที่มีภูมิคุ้มกันน้อยกว่าคนวัยฉกรรจ์ ทำให้โรคภัยไข้เจ็บก็จะตามมา ดังนั้นจึงต้องควรระมัดระวังการบริโภค 
        
ปัจจุบันนี้จะว่าไปแล้ว อาหารที่เรารับประทานกันเกือบทุกชนิด ล้วนแล้วแต่มีการเจือปนของโซเดียมทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นอาหารแปรรูปหรือการถนอมอาหาร เช่น อาหารกระป๋องทุกชนิด อาหารหมักดอง อาหารเค็ม อาหารตากแห้ง เนื้อเค็ม ปลาเค็ม ปลาร้า ผักดอง และผลไม้ดอง เป็นต้น หรือเครื่องปรุงรสชนิดต่างๆ ได้แก่ เกลือ ที่มาในรูปของเกลือเม็ดและเกลือป่น น้ำปลา ซีอิ๊วขาว เต้าเจี้ยว น้ำบูดู กะปิ เต้าหู้ยี้ ซอสหอยนางรม ซอสมะเขือเทศ ซอสพริก น้ำจิ้มต่างๆ ที่มีรสเปรี้ยวๆ หวานๆ 

ซอสเหล่านี้ แม้จะมีปริมาณโซเดียมไม่มากเท่ากับน้ำปลา แต่เราเองก็ต้องจํากัดโซเดียมและระมัดระวังไม่ให้กินมากเกินไปด้วย มีอาหารที่เราคาดไม่ถึงว่าจะมีโซเดียมอีกชนิดหนึ่ง คือ ผงชูรส แม้เป็นสารปรุงรสที่ไม่มีรสเค็ม แต่ก็มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วยเช่นกัน ยังมีขนมขบเคี้ยวต่างๆ ที่ในขบวนการผลิต เขาก็จะต้องเติมผงฟู (Baking Soda) เข้าไปอีกเช่นกัน 

ยังมีน้ำอัดลม และเครื่องดื่มเกลือแร่ยี่ห้อต่างๆ ก็จะมีการเติมสารประกอบของโซเดียมลงไปด้วยเสมอ ซึ่งเครื่องดื่มเกลือแร่ อาจจะมีมากเป็นพิเศษ เพราะเขาผลิตมาให้แก่นักกีฬาที่เวลาออกกำลังกายแล้วจะเสียเหงื่อ จึงต้องเติมเกลือแร่เพื่อชดเชยการเสียเหงื่อนั่นเองครับ
      
ดังที่กล่าวมานั้น ไม่ได้ให้พวกเราชาวผมขาวทั้งหลาย กลัวจนกระทั่งไม่กล้าทานอาหารเค็มนะครับ เพียงแต่บอกให้ระวังไว้บ้าง เพื่อจะได้ไม่ต้องไปนอนทรมานให้พยาบาลล้างไตในยามแก่มากๆเท่านั้นเองครับ.....