ส่งออกอาหารไปอียูระสํ่า  ผู้นําเข้าบีบปรับสูตรผลิตใหม่ไร้นํ้ามันปาล์ม

10 ต.ค. 2562 | 05:35 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ต.ค. 2562 | 12:34 น.

 

อียูเลิกใช้นํ้ามันปาล์ม ลามสินค้าอาหาร ผู้นำเข้ารุกเงียบ บีบให้เปลี่ยนสูตรผลิตใหม่ พร้อมให้ระบุในฉลาก ขืนยังมี “ไม่ซื้อ” วงการรถยนต์ปูดอียูลด-เลิกใช้ไบโอดีเซล เป้าหมายขายรถยนต์ไฟฟ้าแทนรถดีเซล

นโยบาย Zero Palm Oil ของสหภาพยุโรป (อียู) มีคำสั่งให้สมาชิกทยอยลด-เลิกการใช้นํ้ามันปาล์มเพื่อบริโภค และนํ้ามันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของนํ้ามันปาล์ม (ไบโอดีเซล) เริ่มจากภาคขนส่งตั้งแต่ปี 2562 และจะยกเลิกการใช้ภายในปี 2573 อ้างเหตุผลการเพาะปลูกปาล์มมีส่วนทำลายพื้นที่ป่าไม้และสิ่งแวดล้อม รวมถึงปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่านํ้ามันเชื้อเพลิงทั่วไป เรื่องดังกล่าวมาเลเซียและอินโดนีเซียผู้ผลิตและส่งออกนํ้ามันปาล์มอันดับ 1 และ 2 ของโลก ได้ขู่จะฟ้องร้องอียูต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ว่าไม่เป็นธรรม ขณะที่ไทยแม้จะไม่ใช่ประเทศผู้ส่งออกนํ้ามันปาล์มรายใหญ่ แต่เริ่มได้รับผลกระทบแล้ว

ส่งออกอาหารไปอียูระสํ่า   ผู้นําเข้าบีบปรับสูตรผลิตใหม่ไร้นํ้ามันปาล์ม

 

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า นอกจากอียูอยู่ระหว่างลด-เลิกการใช้นํ้ามันปาล์มเพื่อบริโภค และนํ้ามันเชื้อเพลิงจากปาล์มน้ำมันแล้ว ล่าสุดผู้นำเข้าสินค้าอาหารจากอียูได้แจ้งมายังผู้ส่งออกของไทยแล้วว่า จากนี้สินค้าอาหารที่ส่งออกไปอียูห้ามมีส่วนประกอบ หรือมีส่วนผสมของนํ้ามันปาล์ม และให้ระบุในฉลากด้วยว่าสินค้านั้น ๆ ไม่มีส่วนผสมของนํ้ามันปาล์ม ซึ่งจะส่งผลกระทบกับผู้ส่งออกสินค้าอาหารของไทยต้องปรับตัว เช่น ปรับสูตรการผลิตสินค้าอาหารใหม่ โดยสินค้าที่จะได้รับผลกระทบ เช่น สแน็ก เครื่องแกง และอาหารสำเร็จรูปต่างๆ ที่ใช้นํ้ามันปาล์มในการทอด หรือเป็นส่วนประกอบในอาหาร

 

ส่งออกอาหารไปอียูระสํ่า   ผู้นําเข้าบีบปรับสูตรผลิตใหม่ไร้นํ้ามันปาล์ม

 

“เรื่องนี้ยังไม่มีผลบังคับใช้ที่ชัดเจน แต่ผู้นำเข้าเขาเริ่มแล้ว ดังนั้นเราต้องปรับตัว โดยนำนํ้ามันชนิดอื่นมาใช้แทนนํ้ามันปาล์ม เช่น นํ้ามันรำข้าว นํ้ามันถั่วเหลือง เป็นต้น ซึ่งแปลว่าเราต้องมีการวิจัยและพัฒนาสินค้าใหม่อีกรอบหนึ่ง และเป็นอีกจุดเปลี่ยนที่เราต้องปรับตัว ไม่เช่นนั้นเราก็ขายสินค้าให้เขาไม่ได้ เรื่องนี้ที่เรากลัวคือจะส่งผลกระทบด้านจิตวิทยา ทำให้ตลาดอื่น ๆ มีการเลิกใช้นํ้ามันปาล์มเพื่อบริโภค หรือในสินค้าอาหารที่มีส่วนประกอบของนํ้ามันปาล์มตามไปด้วย”

ส่งออกอาหารไปอียูระสํ่า   ผู้นําเข้าบีบปรับสูตรผลิตใหม่ไร้นํ้ามันปาล์ม

                                              วิศิษฐ์  ลิ้มลือชา

 

แหล่งข่าวจากกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ กล่าวว่า การลด-เลิกการใช้นํ้ามันปาล์มของอียู เหตุผลหลัก เนื่องจากเวลานี้หลายประเทศในอียูมีความพร้อมเรื่องอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ที่จะมาแทนรถที่ใช้นํ้ามันที่เป็นเทรนด์ของโลกรวมถึงประเทศไทย ซึ่งการอ้างเหตุผลการเพาะปลูกปาล์มมีส่วนทำลายป่าไม้และสิ่งแวดล้อมนั้นก็ไม่ถูกต้องทั้งหมด แต่มีนัยแอบแฝงเรื่องการผลิตและส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าด้วย

 

 

จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือของกรมศุลกากร ในปี 2561 ไทยส่งออกนํ้ามันปาล์มปริมาณ 4.71 แสนตัน (ลดลงจากปีก่อนหน้าที่มีการส่งออก 4.29 แสนตัน) มูลค่าส่งออก 1.07 หมื่นล้านบาท ส่วนช่วง 8 เดือนแรกปี 2562 ส่งออกปริมาณ 3.35 แสนตัน(ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ส่งออก 4.22 แสนตัน) มูลค่า 5,687 ล้านบาท (กราฟิกประกอบ)

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,512 วันที่ 10-12 ตุลาคม 2562

ส่งออกอาหารไปอียูระสํ่า   ผู้นําเข้าบีบปรับสูตรผลิตใหม่ไร้นํ้ามันปาล์ม