จากที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ถอนเรื่องความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(CPTPP) เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2563 จากที่ได้บรรจุเป็นวาระเตรียมเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในวันที่ 28 เมษายน เพื่อพิจารณาอนุมัติให้ไทยเข้าสู่ขั้นตอนการเจรจาเพื่อเข้าเป็นภาคีสมาชิกของ CPTPP ด้วยเหตุผลสถานการณ์ไม่เอื้อ ขณะที่ CPTPP ยังได้รับเสียงคัดค้านจากหลายภาคส่วน และไทยยังมีปัญหาโควิด-19 ที่ต้องเร่งแก้ไขสถานการณ์ ทั้งนี้นายจุรินทร์ระบุจะไม่นำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุม ครม.อีก ตราบใดที่ภาคส่วนต่าง ๆ ยังมีความเห็นไม่ไปเป็นในทิศทางเดียวกัน
ล่าสุด(2 พ.ค.2563)นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ชี้แจงผ่าน “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า เรื่อง CPTPP นี้ หากยังไม่ได้รับความเห็นชอบหรือสั่งการจากคณะรัฐมนตรี ก็ยังไม่สามารถดำเนินการอะไรต่อได้ เช่น การยื่นหนังสือถึงนิวซีแลนด์ในฐานะประเทศผู้รักษาความตกลงฯ เพื่อขอเจรจาเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกของไทยก็ยังไม่สามารถทำได้ สรุปคือขั้นตอนต่าง ๆ ต้องหยุดไว้ทั้งหมดก่อนในเวลานี้ ข่าวที่สื่อนำเสนออาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าทางกรมฯ ยังสามารถดำเนินการในเรื่อง CPTPP ต่อได้อีก จึงขอชี้แจงทำความเข้าใจที่ถูกต้องมา ณ ที่นี้
อย่างไรก็ดีการชี้แจงดังกล่าว มีที่มาจากบทสัมภาษณ์นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3571 วันที่ 3-6 พฤษภาคม พ.ศ.2563 ส่วนหนึ่งระบุข้อความว่าแม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะดึงเรื่องออกไม่นำเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบในการเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลง CPTPP เมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา แต่มีอีกหลายเรื่องที่ยังต้องดำเนินการไปตามขั้นตอน โดยหลังจากนี้ไทยจะต้องมีหนังสือถึงนิวซีแลนด์ในฐานะประเทศผู้รักษาความตกลงฯเพื่อขอเจรจาเข้าร่วม
หลังจากนั้นจะมีการตั้งคณะเจรจาซึ่งประกอบด้วยผู้แทนของกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำหน้าที่เจรจาต่อรองเงื่อนไข ข้อยกเว้น และระยะเวลาในการปรับตัวของไทย เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด และในระหว่างการเจรจาจะต้องมีกระบวนการที่โปร่งใสเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้าร่วมหารือ แลกเปลี่ยนข้อมูล ความเห็น และความคืบหน้าต่างๆ ซึ่งในท้ายที่สุดการตัดสินใจว่า ไทยจะยอมรับผลการเจรจา และเข้าร่วมความตกลง CPTPP หรือไม่ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากครม.และได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก่อนซึ่งเป็นเรื่องในอนาคต
สำหรับความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership : CPTPP) หรือชื่อเดิมคือ“ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” หรือ TPP มีชาติสมาชิก 12 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และ เวียดนาม แต่ในปี 2560 สหรัฐฯ ได้ขอถอนตัว ทำให้เหลือชาติสมาชิก 11 ประเทศ
ปัจจุบันมีชาติสมาชิกที่ให้สัตยาบันความตกลง CPTPP แล้ว 7 ประเทศ ได้แก่ เม็กซิโก แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเวียดนาม โดยความตกลงมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2561 ขณะที่ยังมีประเทศที่แสดงความสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP เช่น สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ โคลัมเบีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น ซึ่งหากรวมกับประเทศสมาชิก CPTPP 11 ประเทศดั้งเดิม จะทำให้กลุ่มประเทศเหล่านี้มีสัดส่วนการค้ากับไทยประมาณ 40% ประชากรรวมประมาณ 1,000 ล้านคน