กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้คิกออฟวิสัยทัศน์ เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด ภายใต้ยุทธศาสตร์ ตลาดนำการผลิต เป้าหมายเพื่อจับมือสร้างประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลก มีเป้าหมาย 3 เพิ่มคือ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ เพิ่มจีดีพีประเทศ และเพิ่มรายได้เกษตรกรและผู้ประกอบการทุกระดับ โดยทั้งสองกระทรวงจะไปจัดตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อขับเคลื่อนพันธกิจ รวมถึงกำหนดไทม์ไลน์แผนปฏิบัติการ เป้าหมาย และดัชนีชี้วัดต่างๆ ที่จับต้องได้ให้เป็นรูปธรรมต่อไป ซึ่งในมุมมองภาคเอกชนเห็นด้วยกับวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์นี้ และมีข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ที่ต้องเร่งดำเนินการอีกมากมาย
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่ายุทธศาสตร์นี้จะเป็นจริงได้จะต้องมีเอกภาพในการขับเคลื่อนจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยมุ่งเน้นการส่งเสริม พัฒนาและอำนวยความสะดวกตลอดห่วงโซ่อย่างสมดุลเพื่อลดอุปสรรคจากนโยบายและแนวทางการกำกับดูแลที่ไม่สอดคล้องกันของแต่ละหน่วยงาน รวมถึงต้องไม่ออกกฎหมายควบคุมที่ซ้ำซ้อนและมากมายเกินความจำเป็น
ปัจจุบันสินค้าอาหารที่มีการเติบโตมากได้แก่ อาหารสำเร็จรูป ซอสปรุงรส อาหารทานเล่น เป็นต้น ซึ่งเป็นสินค้าที่ต้องใช้วัตถุดิบที่หลากหลาย และวัตถุดิบที่ผลิตได้ในประเทศยังมีปริมาณไม่เพียงพอ ดังนั้นยุทธศาสตร์ด้านซัพพลายต้องครอบคลุมถึงวัตถุดิบที่จำเป็นต้องนำเข้าด้วยเพื่อสะท้อนความเป็นจริงที่เกิดขึ้น รวมถึงไม่สร้างมาตรการกีดกันที่เป็นอุปสรรคต่อภาพรวมของห่วงโซ่อุปสงค์-อุปทาน นโยบายการตลาดนำการผลิตจึงจะเกิดขึ้นได้จริง
“ในส่วนของ Big Data ทางการเกษตรฐานข้อมูลยังไม่เป็นเอกภาพ และไม่น่าเชื่อถือ เนื่องจากเป็นการสุ่มสำรวจจากพื้นที่ตัวอย่างแล้วคำนวณโดยไม่ได้ใช้พื้นฐานความเป็นจริงที่แต่ละพื้นที่มีปริมาณผลผลิตไม่เท่ากัน มีความเสียหายในพื้นที่ไม่เท่ากัน หากเพิ่มการใช้เทคโนโลยีสำรวจอย่างจริงจัง เช่นการยิงภาพถ่ายดาวเทียมทุกไตรมาสเพื่อให้เห็นภาพรวมของพื้นที่เพาะปลูก ไม่ใช่การยิงภาพถ่านดาวเทียมปีละ 1 ครั้งอย่างในปัจจุบัน อีกทั้งควรใช้ภาพถ่ายสำรวจจากโดรน เพื่อติดตามสภาพปัญหาของพืชผลทางการเกษตรโดยละเอียดทุกเดือน โดยแบ่งโซนการสำรวจตามรอบเวลาเพื่อเข้าแก้ปัญหาได้ทัน โดยทำควบคู่กับการตรวจวิเคราะห์ดิน แหล่งน้ำ และพื้นที่ จึงจะสามารถวางแผนการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ หรือปรับชนิดการเพาะปลูกได้อย่างเหมาะสม เมื่อข้อมูลมีความแม่นยำ การวางแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดจึงจะเป็นไปได้”
ส่วนด้านการตลาดและการส่งออกที่ส่วนใหญ่ยังเป็นการรับจ้างผลิต(OEM) หากเพิ่มการส่งเสริมการสร้างแบรนด์เพื่อทำตลาดมากขึ้นจะสร้างความยั่งยืนและสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรและอาหารส่งออกของไทยได้อีกมาก
หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,586 วันที่ 25-27 มิถุนายน พ.ศ. 2563