จี้สังคายนา“บิ๊กดาต้า” ดันไทยแถวหน้าอาหารโลก

26 ก.ค. 2563 | 03:25 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.ค. 2563 | 10:45 น.

เอกชนแนะ “ตลาดนำการผลิต” ดันไทยติดท็อป 10 ผู้ส่งออกอาหารโลกจะเป็นจริงได้ บิ๊กดาต้าต้องแม่นยำ ต้นทุนและราคาแข่งขันได้ เปิดทางนำเข้าวัตถุดิบเพื่อนบ้านเพิ่มค้าชายแดน

 

นางสาวกัณญภัค  ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต ที่กระทรวงพาณิชย์จับมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะร่วมมือกัน เป้าหมายเพื่อสร้างประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลก และผลักดันประเทศไทยติด 1 ใน 10 ผู้ส่งออกอาหารของโลกนั้น จะต้องวางแผนเชื่อมโยงระหว่างความต้องการตลาดและการผลิต จะช่วยบริหารจัดการเพื่อไม่ให้มีผลผลิตล้นตลาดเกินความต้องการ ทำให้ราคาตกต่ำ หรือจัดเรื่องระบบชลประทานให้เพียงพอ เพื่อให้สามารถผลิตได้อย่างต่อเนื่อง การวางแผนการผลิตเพื่อให้สอดคล้องกับการขาย จำเป็นที่ต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับการเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวบิ๊กดาต้า Big Data สำคัญ และกระทรวงเกษตรจะสามารถสำรวจได้อย่างแม่นยำได้อย่างไร

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เอกชนเชียร์สนั่น  ไทยผู้นำอาหารโลก

อานิสงส์โควิด ไทยลุ้นแซงเบลเยียม ผงาดท็อป 10 อาหารโลก

“จุรินทร์-เฉลิมชัย” ร่วมผนึก ดันไทยขึ้นแท่นผู้นำอาหารโลก

 

 

รวมถึงยุทธศาสตร์เรื่องอาหารปลอดภัยจะช่วยเรื่องความเชื่อมั่นแก่ผู้ซื้อ ปัจจุบัน ประเทศผู้นำเข้าต่าง ๆ เริ่มเข้มงวดเรื่องกฎระเบียบความปลอดภัยอาหาร โดยมีข้อกำหนดเกี่ยวกับเรื่องการสอบกลับ traceablity และระบบการรับรองต่าง ๆ คงต้องมีการเตรียมพร้อมและถ่ายทอดข้อมูลด้านให้เกษตรกร และโรงงานแปรรูป

 

จี้สังคายนา“บิ๊กดาต้า” ดันไทยแถวหน้าอาหารโลก

 

ปัจจัยที่สำคัญต่อการแข่งขันคือ ต้นทุนและราคา ควรมองที่ผลกำไรที่เกษตรกรจะได้รับหลังจากการขายผลิตผล ทำต้นทุนให้ต่ำด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพ ผลิตผลหลายชนิดมีการนำไปแปรรูป หากมองเพียงให้ราคากับเกษตรกรสูงขึ้น จะทำให้สินค้าอาหารแปรรูปไม่สามารถแข่งขันได้

 

สรท. มองว่าประเทศไทยควรเป็นฐานการผลิตและการส่งออกในกลุ่ม CLMV ซึ่งหากเรานำเข้าวัตถุดิบจากประเทศเพื่อนบ้าน หรือจากประเทศอื่น ๆ เพื่อมาเสริมการแปรรูปในประเทศ จะเพิ่มกำลังซื้อให้กับประเทศ CLMV และในทางกลับกันก็จะสามารถนำเข้าสินค้าไทยได้มากขึ้น นอกจากจะเพิ่มการค้าชายแดน ประเทศไทยจะสามารถเพิ่มการส่งออกสินค้าอาหารไปยังประเทศอื่น ๆ ได้อีกด้วย

 

จี้สังคายนา“บิ๊กดาต้า” ดันไทยแถวหน้าอาหารโลก

 

"เราไม่ได้มอง “อาหารไทย” แต่เรามองอาหารทุกประเทศที่เราจะสามารถผลิตป้อนตลาดโลกได้ อยากให้กระทรวงพาณิชย์ยังคงมอง “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ด้วย"

 

ทั้งนี้ในภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยในปัจจุบันจากผลกระทบ Covid-19 และค่าเงินบาทที่แข็ง ลูกค้าต่างประเทศเริ่มดึงการชำระเงิน บางรายอาจมีปัญหาเรื่องการเงิน หรือเริ่มหาแหล่งอื่นที่มีราคาต่ำกว่า ส่งผลต่อผู้ประกอบการ และหากผู้ประกอบขาดสภาพคล่อง ย่อมกระทบต่อการส่งออกได้