นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การเปิดประเทศภายใน 120 วัน ซึ่งเป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรี ในส่วนของการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ถือว่าดำเนินการได้ครบตามเป้าหมายที่กำหนดในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.การเปิดเมืองท่องเที่ยวรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติภายใต้โครงการแซนด์บ็อกซ์ และ 2.การเปิดเมืองเพื่อฟื้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศกลับขึ้นมาอีกครั้ง
ผมมองแล้วว่า การเปิดเมืองเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติภายใต้โครงการแซนด์บ็อกซ์ ตลอดทั้งปีนี้ จะเปิดได้ทั้งหมด 9 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต,สุราษฎร์ธานี, กระบี่, พังงา, เชียงใหม่,ชลบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, เพชรบุรีและกรุงเทพฯ ซึ่งที่ผ่านมาเปิดพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ไปแล้ว 3 โครงการ คือ ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์, สมุยพลัส โมเดล และ 7+7 Phuket Extension เชื่อมจากภูเก็ตไปเกาะสมุย, เกาะพะงัน, เกาะเต่า (สุราษฎร์ธานี) เกาะพีพี, เกาะไหง,ไร่เลย์ (กระบี่) เขาหลัก, เกาะยาว (พังงา)
ช่วง 77 วันที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวภูเก็ตแล้ว 32,480 คน มียอดการจองห้องพัก 523,513 คืนในช่วงก.ค.-ก.ย.64 พบการติดเชื้อ 91 คนคิดเป็น 0.28% เท่านั้นและเดินทางเชื่อมโยงภูเก็ต 7+7 อยู่ที่ 7,569 คน ส่วนสมุยพลัส โมเดล ครบ 1 เดือนมี
นักท่องเที่ยวแค่ 711 คน ซึ่งขณะนี้ทางสมุยก็จะขอปรับเปลี่ยนไปใช้โมเดลเดียวกับภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์แทนในเดือนต.ค.นี้เพราะสมุยพลัส โมเดล ไม่ประสบความสำเร็จจากมีการกักตัว ขณะที่วันนี้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่เข้าไปสมุย พะงัน เกาะเต่า กว่า 4,247 คนล้วนมาจากภูเก็ต 7+7
เมื่อเราเห็นบทเรียนจากสมุยพลัสแล้ว การเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้นในระยะต่อไปในอีก 5 พื้นที่ที่เหลือก็จะใช้โมเดลเดียวกับภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ทั้งหมด โดยในวันที่ 1 ต.ค.นี้จะเปิดแบบ Sealed Area ใน 4 จังหวัด คือ เปิดให้เที่ยวได้โดยไม่ต้องกักตัวในบางพื้นที่ คือ อ.เมือง อ.แม่ริม อ.แม่แตง อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่, อ.บางละมุง (พัทยา), สัตหีบ จ.ชลบุรี อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และอ.ชะอำ จ.เพชรบุรีและในวันที่ 15 ต.ค.นี้จะเปิดกรุงเทพฯครบ 50 เขต(กรณีถ้าเร่งฉีดวัคซีนเข็ม2 ได้ครบ70%ในวันที่ 5 ต.ค.นี้) ซึ่งนักท่องเที่ยวจะต้องโหลดแอปหมอชนะเพื่อใช้ติดตามตัวซึ่งหากนักท่องเที่ยวออกจากพื้นที่ก็จะทำให้ทราบได้ทันที
รูปแบบการเดินทางของนักท่องเที่ยวจะเข้ามาได้ใน 2 รูปแบบ คือ 1.เดินทางเข้ามาโดยตรงไปยังพื้นที่ในจังหวัดนั้นๆใช้โมเดลเดียวกับภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์และ2.การเดินทางเที่ยวเชื่อมโยง 7+7 ซึ่งตนก็จะเสนอศบศ.และศบค.ที่จะเปิดให้ทั้ง 9 พื้นที่นี้เที่ยวเชื่อมโยงแบบ 7+7 ได้ ในกรณีที่หากศบค.ยังไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอที่จะขอลดวันกักตัวนักท่องเที่ยวเหลือ 7 วัน อาทิ อยู่กรุงเทพฯ7วัน ไปอยู่หัวหิน 7 วัน หรืออยู่กรุงเทพฯ7วันไปอยู่พัทยา 7 วัน เป็นต้น
จากนั้นผมตั้งเป้าหมายไว้ว่าในทุกพื้นที่ใน 9 จังหวัดนี้จะต้องเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ครบทั้งจังหวัดภายในเดือนพ.ย.นี้ ซึ่งหน้าที่ผมจากนี้คือการประสานกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อพยายามจัดสรรวัคซีนไปลงใน 9 จังหวัดนี้เพื่อให้ประชากรได้รับการฉีดวัคซีนไม่ต่ำกว่า 70% เพราะทั้ง 9 พื้นที่นี้ถือว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวหลักที่ทำรายได้สูงสุดจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ส่วนการเปิดเมืองเพื่อฟื้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ก็จะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.นี้ด้วยเช่นกัน เริ่มจากไทยเที่ยวไทยผ่านโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 3 และทัวร์เที่ยวไทย หลังจากเปิดให้ลงทะเบียนในวันที่ 24 ก.ย.นี้ นอกจากนี้จะเปิดเมืองในอีก 25 จังหวัดกระตุ้นให้คนเที่ยวในประเทศทั้งกลุ่มคนไทยและคนต่างชาติที่ทำงานในไทย เพราะจังหวัดเหล่านี้ไม่ถือว่าเป็นเดสติเนชั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยจะผลักดันให้เกิดการผ่อนคลายเงื่อนไขของแต่ละจังหวัดโดยเฉพาะการเข้ามาต้องกักตัว14 วัน
ขณะเดียวกันในต้นปีหน้าก็จะเริ่มทราเวล บับเบิ้ล ระหว่างไทยกับประเทศต่างๆ ต่อไป และเชื่อว่าจนถึงเวลานั้นคนไทยน่าจะได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วนแล้ว ก็จะทำให้เราเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ทั้งประเทศโดยไม่ต้องกักตัว
ข่าวหน้า1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,715 วันที่ 19-22 กันยายน 2564