นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์ แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แม้โควิดสายพันธุ์โอมิครอนจะกระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดลต้า 3 เท่า ทำให้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากในระยะเวลารวดเร็ว แต่ความรุนแรงน้อยกว่า การจัดการในการระบาดระลอก 5 นี้ ถือว่ารัฐบาลมีการวางแผนงานและบริหารจัดการได้ดี จากประสบ การณ์ต่างๆ ที่ผ่านมาทั้ง 4 ระลอก
อย่างไรก็ดี เชื่อว่าตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีอยู่ในขณะนี้ยังไม่สะท้อนความเป็นจริง คาดว่าจะเกินหมื่นคนต่อวัน เพราะการตรวจหาเชื้อโอมิครอนไม่สามารถตรวจผ่าน RT-PCR ได้ ต้องตรวจด้วยเทคนิคพิเศษ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง แต่เบื้องต้นประเมินว่า รัฐบาลจะต้องเตรียมงบประมาณในการจัดการสูงถึง 5 หมื่นล้านบาท ในการรับมือการระบาดระลอก 5
โดยกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษได้แก่ กลุ่มเด็กที่มีอายุ 5-11 ปี รวมถึงเด็กที่อายุต่ำกว่า เพราะยังไม่ได้รับวัคซีน ไม่มีภูมิต้านทานโดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปี จะมีภูมิต้านทานจากการดื่มนมแม่เท่านั้น ขณะที่การตรวจรักษาเด็กเล็ก ก็ต้องใช้พยาบาลที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ที่แตกต่างและเหมาะสมกับเด็ก
ดังนั้นโรงพยาบาลต่างๆ ต้องเตรียมความพร้อมรองรับทันที นอกจากนี้ยังต้องเฝ้าระวังบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาลหรือทีมงาน เพราะปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ เข้ามาตรวจรักษาจำนวนมาก หากไม่มีการป้องกัน ก็อาจติดเชื้อได้
“วันนี้เด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า11 ปี ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน เริ่มมีปริมาณการติดเชื้อโควิดมากขึ้น ขณะเดียวกันแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ก็เริ่มมีการติดเชื้อ 30-40 คนต่อวัน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการรักษาพยาบาล หากโรงพยาบาลขาดแคลนแพทย์ พยาบาล”
นายแพทย์บุญ กล่าวอีกว่า ไม่เห็นด้วยกับการที่สาธารณสุขนำเสนอให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น แทนที่จะเป็นโรคระบาด เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาล เพราะหากเป็นโรคระบาด รัฐบาลจะต้องดูแลทุกอย่าง ติดตามให้ยา ให้อาหาร ที่พัก แต่หากเป็นโรคประจำถิ่น เช่นเดียวกับไข้หวัด ก็สามารถไปรักษาที่โรงพยาบาลต่างๆ ได้ เพราะประเทศไทยยังมีกลุ่มเสี่ยงเช่น เด็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ฯลฯ ที่หากปล่อยให้ติดเชื้อ อาจมีความรุนแรงเช่นเดียวกับเดลต้า ได้
“วันนี้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อและแสดงอาการมีสัดส่วนราว 30% เท่านั้นอีก 70% ยังไม่แสดงอาการ ทำให้เกิดการระบาดได้ง่าย อย่างไรก็ดีคาดหวังว่า ไทยจะเหมือนแอฟริกาใต้ ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ก็ลดลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นคาดว่าจะใช้เวลาราว 3 เดือนก็จะเริ่มคลี่คลาย”
นายแพทย์บุญ กล่าวอีกว่า วันนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ เรื่องของเศรษฐกิจที่เข้าสู่สถานการณ์ “เผาจริง” เพราะไทยกำลังเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อพร้อมเงินฝืด วันนี้ปัญหาเนื้อหมู ไข่ ไก่ ผักแพง นักศึกษาจบใหม่ไม่มีงานทำ คนตกงานปีละกว่า 5 แสนคน ยังไม่รวมถึงพนักงานในสายงานท่องเที่ยว SME ที่ต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด ทำให้ต้องตกงาน ธุรกิจกว่า 50% ต้องปิดกิจการแบบถาวร เพราะไม่มีเครดิต เดินหน้าต่อไม่ได้
สิ่งเหล่านี้เกิดจากโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศที่ผิดเพี้ยน ไทยพึ่งต่างประเทศถึง 90% ท่องเที่ยว 12% ส่งออก 51% วิกฤติอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกา ในปี 2552 ขณะนั้นอสังหาริมทรัพย์มีหนี้แค่ 2 ล้านล้านบาท แต่ตอนนี้คริปโตเคอร์เรนซี่มีมูลค่า 3 ล้านล้านบาท ทุกอย่าง “ไม่จริง” (unreal) ดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้น ถ้าดอกเบี้ยแพง กองทุนบ้านเรา มีแต่ฮอทมันนี่ เข้ามาซื้อหุ้นบ้าง ตราสารหนี้บ้าง ถ้าถอนออกไป เราก็จะขาดดุล