วันที่ 26 ก.ค. 2565 ที่ห้องประชุมโรงแรมตราดซิตี้ อ.เมือง จ.ตราด นายชุมพล มุสิกานนท์ รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ(อพท.) เป็นประธานเปิดเวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ถอดบทเรียน การประเมินขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว เพื่อการพัฒนาท่องเที่ยวไทย พอดี มีสุข” ภายใต้การศึกษาขีดความสามารถในรองรับนักเที่ยว (Carrying Capacity) (กิจกรรมพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษเพื่อยกระดับแหล่งเที่ยวสู่ระดับมาตรฐานสากล) พื้นที่ศึกษา “เกาะหมาก” อำเภอเกาะกูด
นอกจากนี้ยังเปิดเวทีเสวนา “การขับเคลื่อนการท่องเที่ยวตราดแบบพอดี มีสุข สู่เมืองน่าอยู่น่าเที่ยว” จัดโดยอพท. โดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยพะเยา มีนายณรงค์ เทพเสนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ร่วมกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมเวทีครั้งนี้ โดยมีหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาควิชาการ ผู้นำชุมชน และผู้ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่กว่า 100 คนเข้าร่วม
นายสุธารักษ์ สุนทรวิภาต ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 3 อพท. กล่าวว่า การศึกษาขีดความสามารถในการรองรับนักเที่ยว (Carrying Capacity) เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการท่องเที่ยว เนื่องจากในแหล่งท่องเที่ยวที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวมากเกินศักยภาพที่จะรองรับได้ ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบด้านต่าง ๆ ทั้งปัญหาความเสื่อมโทรมของแหล่งท่องเที่ยว ปัญหาขยะ ปัญหาน้ำเสีย ปัญหามลภาวะทางเสียงและอากาศ
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 อพท. ได้ดำเนินกิจกรรมประเมินขีดความสามารถในการองรับนักท่องเที่ยว อันเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ GSTC เพื่อศึกษาขีดความสามารถในการองรับการท่องเที่ยวใน 2 แหล่งท่องเที่ยว คือ คุ้งบางกระเจ้า อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ และเกาะหมาก อำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด
ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจในการศึกษาขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว และเป็นการหาแนวทางในการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว บนพื้นฐานอัตลักษณ์ของแหล่งท่องเที่ยว ตามขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว โดยให้คงคุณภาพให้บริการได้มีมาตรฐานสม่ำเสมอ
“ การศึกษาขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว เป็นเพียงข้อย่อยในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเกาะหมาก ตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ GSTC ซึ่งการพัฒนาเกาะหมากตามเกณฑ์ดังกล่าว เป็นเทรนด์การท่องเที่ยวสมัยใหม่ที่สำคัญ ซึ่งได้มีการเน้นการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวตราด แบบพอดี มีสุข สู่เมืองน่าอยู่น่าเที่ยว
กล่าวคือ “พอดี” ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวไม่มากเกินไปไม่น้อยเกินไป และ“มีสุข” เจ้าของแหล่งท่องเที่ยว ชุมชน มีความสุขในการรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับพื้นที่ ไม่แออัดจนเกินไป ไม่หนาแน่นจนเกินไป
ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวของจังหวัดตราด ที่มีการเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว แต่ไม่เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว กล่าวคือ จำนวนนักท่องเที่ยวน้อย แต่มีกำลังในการจับจ่ายใช้สอยมาก ในการสร้างรายได้ให้กับพื้นที่จังหวัดตราด” ผู้จัดการอพท. 3 กล่าว