นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร และศิษย์เก่า คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ในปี 2566 ที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง ความคาดหวังคือการได้รัฐบาลที่ตระหนักรู้ถึงปัญหา และเริ่มลงมือแก้ปัญหาที่โครงสร้าง แต่สิ่งที่กังวลคือเริ่มเห็นการหาเสียงแบบใช้นโยบายประชานิยมสุดขั้ว ถือเป็นเรื่องที่อันตรายมาก ที่ผ่านมามีบทเรียนอย่าง โครงการจำนำข้าว ที่ทำให้อุตสาหกรรมข้าวไทยถดถอย ทรัพยากรของรัฐถูกใช้ไปอย่างมหาศาล และเป็นหนี้ติดพันยาวนาน จนกระทบเศรษฐกิจ
ส่วนสาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยพัฒนาช้า ไม่ได้เกิดจากภาคอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง แต่มีปัญหามาจากโครงสร้างภาครัฐ ตั้งแต่ยุคก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้เศรษฐกิจไทยติดกับดักนานนับสิบปี
ทั้งนี้ที่ผ่านมามีงานวิจัยจำนวนมากรวมทั้งจาก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่มองว่าขนาดของรัฐไทยใหญ่เกินไป จากบทบาทรัฐและอำนาจรัฐที่มีมากเกินไป ในขณะที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วทั่วโลกได้พิสูจน์ว่า อำนาจรัฐที่มากเกินไปไม่เป็นผลดี ต้องมีขนาดที่จำกัด และทำเฉพาะสิ่งที่ควรทำเท่านั้น
ดังนั้นการแก้ปัญหาโครงสร้างประเทศ ต้องลดขนาดภาครัฐ รวมทั้งบทบาท และอำนาจรัฐ โดยเฉพาะการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นเอกชน โดยรัฐวิสาหกิจที่มีอำนาจผูกขาดยังดำเนินธุรกิจได้ แต่รัฐวิสาหกิจที่ต้องแข่งกับภาคเอกชนมักขาดทุนเกือบทุกรายทำให้ต้องปรับปรุง
อย่างไรก็ตามการสร้างแรงกดดันในการเปลี่ยนแปลงต้องมาจากภาคประชาชน โดยภาครัฐต้องเริ่มด้วยการยอมรับปัญหาทุกอย่างแบบตรงไปตรงมา รวมทั้งต้องให้สาธารณชนรับรู้เข้าใจปัญหาต่างๆ เมื่อประชาชนตระหนักรู้ว่าถูกเอาเปรียบ จะออกมาเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงแบบปฏิรูปมีประโยชน์กว่าแบบปฏิวัติ เพราะการปฏิวัติมีต้นทุนที่สูง และไม่ได้ส่งผลดีในระยะยาว จึงต้องใช้การจัดเรียงโครงสร้างประเทศใหม่แบบไม่แตกหัก ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับเงื่อนไขสำคัญของความเจริญต้องมี 3 อย่าง ประกอบด้วย เป็นประชาธิปไตย ใช้ระบบทุนนิยมแบบแข่งขันสมบูรณ์ และมีระบบตรวจสอบที่ไม่อนุญาตให้มีการโกงกิน หากบรรลุทั้ง 3 ข้อได้ก็จะนำไปสู่ความมั่งคั่ง