หนี้กยศ. สะท้อนต้นทุนชีวิต รายได้ ไม่พอรายจ่าย จับตาหนี้เสียพุ่ง

14 พ.ย. 2566 | 23:43 น.

หนี้กยศ. สะท้อนต้นทุนชีวิต เปิดข้อมูล สภาพัฒน์ฯ ,ธนาคารแห่งประเทศไทย , กระทรวงพาณิชย์ สะท้อน รายได้ ไม่พอรายจ่าย จับตาคนอายุน้อยหนี้สินอุปโภคบริโภคพุ่ง เสี่ยงเป็นหนี้เสีย

จากกรณีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย เปิดเผยถึงการคำนวณภาระหนี้ของลูกหนี้กยศ.ใหม่ ซึ่งจะทำให้ภาระหนี้ของลูกหนี้ลดลงจากเดิม ตามพ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ซึ่งกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไม่เกิน 1% ต่อปี จากเดิมไม่เกิน 7.5% ต่อปี และคำนวณเบี้ยปรับใหม่ จากเดิม 7.5% เหลือเพียง 0.5% 

ที่ผ่านมา หนี้กยศ. ถือเป็นอีกส่วนสำคัญ ที่ทำให้หนี้ครัวเรือนของประเทศไทยขยับสูงขึ้น และกลุ่มลูกหนี้ที่อยู่ในวัยอายุต่ำกว่า 30 ปี ยังมีภาระหนี้ที่น่าเป็นห่วง ดังปรากฏในตัวเลขหนี้ครัวเรือน ไตรมาส1/2566 ของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่พบว่า ในยอดหนี้คงค้าง 16 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 90.6% ต่อจีดีพีนั้น มีหนี้ กยศ. จำนวนถึง 4.83 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 4% ของหนี้ครัวเรือนจำแนกตามวัตถุประสงค์ ณ ไตรมาส1/2566

หนี้ครัวเรือน ไตรมาส1/2566 ของธนาคารแห่งประเทศไทย

และเมื่อดูจากการแถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส2/2566 ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะพบข้อมูลเกี่ยวกับหนี้สินคนไทยว่า หนี้ครัวเรือนขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วง โควิด-19 โดยใน ไตรมาส1/2566 มูลค่าหนี้สินครัวเรือนอยู่ที่ประมาณ 12.9 ล้านล้านบาทจากจำนวนบัญชีสินเชื่อ 83.1 ล้านบัญชี

กลุ่มที่มีปัญหาการชำระหนี้มากขึ้นหลัง โควิด-19 คือกลุ่มผู้ที่มีอายุ 50-60 ปีขึ้นไป และกลุ่มอายุน้อยกว่า 30ปีลงมา ซึ่งกลุ่มนี้อาจมีผู้ที่ยังคงเป็นลูกหนี้ กยศ. รวมอยู่ด้วย ซึ่งจากข้อมูลยังพบว่า ผู้ที่อายุน้อยกว่า 30ปี ถือเป็นกลุ่มที่มีหนี้ SML (Special Mention Loans) คือ หนี้จัดชั้นกล่าวถึงพิเศษ หมายถึง หนี้ที่ค้างชาระระหว่าง 1 - 3 เดือน มากที่สุด และยังมีหนี้เสีย(NPL) ต่อสินเชื่อรวม สูงสุดที่ 20.8% และมักเป็นการก่อหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้แต่อย่างใด

ภาวะสังคมไทยไตรมาส2/2566 ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2566 กองดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานนโยบายและกลยุทธ์ กระทรวงพาณิชย์ ได้ออกรายงานค่าใช้จ่ายครัวเรือน เดือนพฤษภาคม 2566 พบว่า ค่าใช้จ่ายของครัวเรือนโดยรวมอยู่ที่ 18,023 บาท ต่อเดือน

โดยค่าใช้จ่ายอันดับ 1 ได้แก่ ค่าโดยสารสาธารณะ  ค่าซื้อยานพาหนะ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าบริการโทรศัพท์ มากถึง 4,202 บาท/เดือน และรองลงมาคือค่าเช่าบ้าน ค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม เครื่องใช้ในบ้าน อยู่ที่ 3,922 บาท/เดือน

ในขณะเดียวกัน โดยสภาพัฒน์ ได้เปิดเผยค่าจ้างแรงงานเฉลี่ย ของไตรมาส2/2566 อยู่ที่ 15,412 บาท/คน/เดือน นั่นหมายความว่า รายรับเฉลี่ยต่อเดือน ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายครัวเรือน กว่า 2,600 บาท/เดือน ซึ่งนั่นยังไม่ได้รวมเอาภาระหนี้สินจากบัญชีสินเชื่อเข้าไว้ด้วย

ค่าใช้จ่ายของครัวเรือนไทย พฤษภาคม 2566

สถิติลูกหนี้กยศ. (ณ วันที่ 30 กันยายน 2566) 

  • ผู้กู้ยืมเงินกองทุน 6,739,085 ราย  
  • อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3,537,022 ราย คิดเป็น 53%
  • อยู่ในช่วงปลอดหนี้ 1,299,490 ราย คิดเป็น 19%
  • ชำระหนี้เสร็จสิ้น1,830,978 ราย คิดเป็น 27%
  • เสียชีวิต / ทุพพลภาพ71,595 ราย คิดเป็น 1%

สถิติลูกหนี้กยศ. (ณ วันที่ 30 กันยายน 2566) 
สาระสำคัญของ พ.ร.บ. กยศ. ฉบับใหม่ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่  20 มีนาคม 2566 เป็นต้นมา คือ กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไม่เกิน 1% ต่อปี กรณีผิดนัดชำระลดอัตราเบี้ยปรับเหลือไม่เกิน 0.5% ต่อปี และไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันในทุกกรณี 

พร้อมทั้งลำดับการตัดชำระหนี้ใหม่ ซึ่งกำหนดให้นำเงินที่ผู้กู้ยืมเงินชำระไปหักต้นเงินเฉพาะส่วนที่ครบกำหนด ดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่นใด และเงินเพิ่มตามลำดับ ปัจจุบันกองทุนอยู่ระหว่างปรับปรุงระบบการตัดชําระหนี้เพื่อให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด 

ทั้งนี้ เมื่อระบบเสร็จสมบูรณ์แล้ว กองทุนจะนำยอดรับชำระเงินทุกรายการตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2566 มาคำนวณการรับชำระใหม่อีกครั้งและปรับข้อมูลให้ถูกต้อง โดยจะนำเงินที่ได้รับมา หักต้นเงินเฉพาะส่วนที่ครบกำหนด ดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่นใด และเงินเพิ่มตามลำดับ และจะคำนวณเบี้ยปรับใหม่ จากเดิม 7.5% เหลือเพียง 0.5% เท่านั้น