ไทย-ซาอุฯ ยกระดับสัมพันธ์ เปิดเวที STCC เจรจา ม.ค.67 ขยายการค้า-ลงทุนทุกมิติ

29 พ.ย. 2566 | 07:47 น.
อัพเดตล่าสุด :29 พ.ย. 2566 | 08:29 น.

ไทย-ซาอุฯ รุกยกระดับความสัมพันธ์ทุกมิติ เตรียมเปิดหารือเวที STCC ในเดือนม.ค. 67 กระชับการค้าการลงทุน ไทยคาดหวังดึงลงทุนด้านพลังงานสีเขียว AI และอีวี ขณะที่ซาอุฯ สนใจความมั่นคงด้านอาหาร และความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวและภาคบริการ


ซาอุดีอาระเบีย ถูกกำหนดเป็น “1 ใน 10 ประเทศเป้าหมาย” สำหรับ นโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกของไทย ในฐานะประเทศที่เป็น “ตลาดศักยภาพใหม่” เกี่ยวกับเรื่องนี้ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงริยาด กล่าวว่า กลไกขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดผลเป็นรูปธรรมนั้นมีพร้อมอยู่แล้ว

นายดามพ์ บุญธรรม เอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย ให้สัมภาษณ์พิเศษระหว่างเดินทางมาร่วมประชุมเอกอัครราชทูตไทยและกงสุลใหญ่ทั่วโลกระหว่างวันที่ 19-24 พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อรับมอบนโยบาย “การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก” จากนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยซาอุดีอาระเบียถูกกำหนดเป็น “1 ใน 10 ประเทศเป้าหมาย” สำหรับนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกของไทยในฐานะประเทศที่เป็น “ตลาดศักยภาพใหม่” ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2565 ที่ผ่านมา หลังจากที่ทางการไทยและซาอุดีอาระเบียได้เริ่มฟื้นคืนความสัมพันธ์ระหว่างกันสู่ระดับปกติ มีการตั้งเอกอัครราชทูตกลับไปประจำในซาอุฯ ได้ 1 ปีแล้ว ความร่วมมือระดับทวิภาคีไทย-ซาอุดีอาระเบียได้ฟื้นตัวแบบก้าวกระโดดในทุกมิติ

นายดามพ์ บุญธรรม เอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย

ทั้งนี้ นับตั้งแต่เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีแห่งซาอุดีอาระเบีย ได้เสด็จเยือนประเทศไทยและเข้าร่วมเป็นแขกพิเศษในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเมื่อเดือนพ.ย.ปี 2565 มีการลงนามในความตกลง MOU จัดตั้งกลไกที่เรียกว่า สภาการที่ปรึกษาทวิภาคีไทย-ซาอุดีอาระเบีย (Saudi-Thai Consultation Council: STCC) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้ง 2 ประเทศเป็นประธานร่วม และมีคณะกรรมาธิการ 5 คณะ ดูแลการหารือด้านการเมือง-ความมั่นคง การทหาร การลงทุน การค้า และวัฒนธรรม เพื่อเป็นแนวทางหลักที่ใช้ในการฟื้นฟูความร่วมมือกัน

ความคืบหน้าหลังการจัดตั้งกลไกดังกล่าว คือ จะมีการประชุมร่วมกันนัดแรกในสัปดาห์ที่สองหรือสามของเดือนมกราคมปีหน้า (2567)โดยฝ่ายไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ ซึ่งจะมีนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และเจ้าชายฟัยศ็อล บิน ฟัรฮาน อัลซะอูด รัฐมนตรีต่างประเทศแห่งซาอุดีอาระเบีย เป็นประธานร่วมในการประชุม ซึ่งจะมีเอกสาร “แผนแม่บทการกระชับความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย” ที่ร่างกันไว้ตั้งแต่เดือนก.พ ปีที่แล้วเป็นโรดแมปสำหรับการหารือซึ่งมีการกำหนดรูปแบบ-เป้าหมายความร่วมมือเอาไว้ในทุกสาขา ไม่ว่าจะเป็นการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ การค้า-การลงทุน การศึกษา วิทยาศาสตร์ การท่องเที่ยว สาธารณสุข ฯลฯ จะรวมอยู่ในนี้ทั้งหมด

ไทย-ซาอุฯ ยกระดับสัมพันธ์ เปิดเวที STCC เจรจา ม.ค.67 ขยายการค้า-ลงทุนทุกมิติ

“ที่กล่าวมาเป็นส่วนหลักๆของการฟื้นความสัมพันธ์ นอกเหนือจากนี้ยังมีความตกลงย่อยๆที่ลงนามกันไว้ในระดับรัฐบาลอีกอย่างน้อย 8 ฉบับเมื่อตอนที่ท่านมกุฎราชกุมารเสด็จเยือนเมื่อพ.ย.ปีที่แล้ว จากนั้นก็ยังมีความตกลงอื่นๆตามมาอีก เช่น การบินพลเรือนมีการเพิ่มเที่ยวบินระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบีย การยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูตและข้าราชการ ที่มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ 6 พ.ย. ซึ่งจะทำให้มีการเดินทางไปมาหาสู่กันได้คล่องขึ้น ขณะที่พาสปอร์ตธรรมดาก็ได้รับการปรับหมวด (category) จาก B เป็น A ทำให้สามารถขอวีซ่าทางออนไลน์ได้แล้ว ไม่ต้องไปขอที่สถานทูตให้เสียเวลา” ท่านทูตกล่าว

แผนแม่บทผลักดันการค้า-การลงทุนทวิภาคี

ขณะเดียวกันการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างไทยและซาอุฯ นั้นเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในเกือบทุกระดับสะท้อนการฟื้นฟูของความสัมพันธ์ โดยล่าสุด นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียเมื่อเดือนต.ค.2566 เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-GCC(กลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ) ครั้งที่1 ซึ่งทุกอย่างเรียบร้อยราบรื่นด้วยดี โดยนายกฯได้มีโอกาสเข้าพบเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมานฯ มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีแห่งซาอุฯด้วย เพื่อหารือเร่งรัดกระชับความสัมพันธ์โดยเฉพาะในด้านการค้าและการลงทุน ทั้งสองฝ่ายต้องการให้มีแผนแม่บทผลักดันการค้า-การลงทุนทวิภาคีออกมาโดยเร็วหรือภายในเดือนมกราคมปีหน้า เพื่อให้สอดคล้องกับการประชุม STCC ครั้งแรกที่กำลังจะมีขึ้น

ไทย-ซาอุฯ ยกระดับสัมพันธ์ เปิดเวที STCC เจรจา ม.ค.67 ขยายการค้า-ลงทุนทุกมิติ

ในแง่การค้า-การลงทุนนั้น ท่านทูตดามพ์กล่าวว่า มีสาขาต่างๆที่ไทยและซาอุดีอาระเบียมีความสนใจร่วมกัน อาทิ ด้านพลังงานที่ไทยคาดหวังให้ซาอุดีอาระเบียมาร่วมมือกับเราเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน ขณะที่ซาอุฯเอง ก็มีความสนใจที่จะทำความตกลงกับไทยเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร เพราะไทยก็เป็นประเทศผู้ผลิตอาหารได้ในอันดับต้นๆ ของโลก ความร่วมมือทางด้านอื่นๆ ที่ทั้งสองฝ่ายมีความสนใจร่วมกัน ยังได้แก่ ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เทคโนโลยี AI รวมทั้งด้านการกีฬา ที่ไทยให้การสนับสนุนซาอุฯเป็นเจ้าภาพจัดฟุตบอลโลกปี 2034 เป็นต้น

“อีกด้านที่อยากจะกล่าวถึงซึ่งเป็นด้านที่ทางซาอุฯคาดหวังจากเรามากๆ คือ ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวและภาคบริการ ซึ่งฝ่ายเขามองไทยว่าเป็นต้นแบบที่ดีที่เขาอยากจะเรียนรู้จากเรา รวมทั้งทางด้านการศึกษาซึ่งมีนิมิตหมายอันดีที่จะร่วมมือกันได้มากขึ้น ไม่เพียงเฉพาะบางสาขาเหมือนในอดีต ที่เราเคยส่งนักศึกษาไปเรียนทางด้านภาษาและอักษรศาสตร์และอิสลามศึกษา แต่ปัจจุบันจะมีหลากหลายสาขาเพิ่มมากขึ้น โดยล่าสุดรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการของเขาได้นำคณะผู้แทนจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งด้านการสอนและการวิจัยของเขากว่า 10 แห่งมาเยือนไทยโดยมาเยือนมหาวิทยาลัยของไทยทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดหลายแห่ง สะท้อนโอกาสที่จะมีความร่วมมือต่อไปในอนาคตทั้งด้านการแลกเปลี่ยนบุคลากรทางการศึกษาและการวิจัย รวมทั้งด้านทุนจากฝ่ายเขาด้วย”

เกี่ยวกับนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกที่ได้รับมอบหมายนั้น ท่านทูตดามพ์กล่าวว่า มีกลไกการทำงานที่วางไว้ตั้งแต่เริ่มมีการปรับความสัมพันธ์สู่ระดับปกติแล้ว ซึ่งนอกจากกลไกของ STCC ซึ่งเป็นกลไกของภาครัฐแล้ว ยังมีกลไกที่ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมในรูปแบบ GtoG+B (จีทูจีพลัสบี) หรือกลไกรัฐต่อรัฐที่มีเอกชนเพิ่มเข้ามา โดยเรามี Investment Forum ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการลงทุน มีรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยและรัฐมนตรีอุตสาหกรรมของซาอุฯเป็นประธาน จัดตั้งกันมาตั้งแต่เดือนพ.ค.2565 มีการประชุมกันมา 3 ครั้งแล้ว โดย 2 ครั้งแรก จัดในรูปการประชุมใหญ่ครั้งแรกที่ซาอุฯในเดือนพ.ค.มีหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมเข้าร่วม มีการลงนามความตกลงหลายฉบับทั้งรัฐต่อรัฐ รัฐต่อเอกชน และเอกชนต่อเอกชน เช่นในด้านการก่อสร้าง สุขภาพ การโรงแรม พลังงาน

Investment Forum ครั้งที่สองจัดที่ไทยในเดือนพ.ย.2565 ส่วนครั้งที่สามเพิ่งมีไปเมื่อเดือนมิ.ย.66 นี้เอง ในลักษณะการประชุมโต๊ะกลมเพื่อติดตามงานว่ามีความคืบหน้าอย่างไร ติดขัดตรงไหนและจะร่วมกันแก้ไขอย่างไร นับว่ามีความคืบหน้าอย่างมาก และบริษัทไทยหลายรายแสดงความสนใจจะไปลงทุนในซาอุดีอาระเบีย ที่รุกเข้าไปเปิดบริษัทแล้ว ได้แก่ SCG ไปทำ trading เรื่องวัสดุก่อสร้าง เทคนิคการก่อสร้าง-งานระบบ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของซาอุฯที่เรียกว่า Vision 2030

6 สาขาความสนใจร่วมลงทุน

นอกจากนี้ รัฐบาลไทย-ซาอุฯ ยังมีการจัดทำ white paper เป็นแผนการลงทุนร่วมกันจัดทำเมื่อครั้งรัฐมนตรีพลังงานได้พบหารือกันที่นครริยาดต้นปีที่ผ่านมา ทางฝ่ายซาอุฯให้ไทยเขียน white paper เสนอมาว่าสนใจร่วมมือลงทุนกับซาอุดีอาระเบียในด้านใดบ้าง ซึ่งเราก็เสนอแผนกลับไปให้ทางฝ่ายซาอุฯพิจารณาแล้ว ซึ่งมีการเสนอแผนการลงทุนร่วมกันใน 6 สาขา ได้แก่

  • พลังงานสีเขียว หรือกรีนไฮโดรเจน ที่โลกจับตามองว่ากำลังจะมาเป็นพลังงานแห่งอนาคต
  • การร่วมมือด้านปิโตรเคมี
  • รถยนต์ไฟฟ้า (EVs)
  • บริการด้านสุขภาพ (wellness)
  • อุตสาหกรรมเกม-เมตาเวิร์ส-อีสปอร์ต
  • และการเกษตรยุคใหม่ (smart agriculture)

หลายสาขาที่กล่าวมา มีการทำงานร่วมกันและมีความคืบหน้า เช่นด้านกรีนไฮโดรเจนทางซาอุฯได้มีการเสนอที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นของการศึกษาความเป็นไปได้

อีกทั้ง ด้านรถยนต์ไฟฟ้า (Evs) ได้มีการหารือกันอยู่ตลอดว่าจะมีการทำซัพพลายเชนกันอย่างไรบ้าง เพราะไทยเองก็มีการขับเคลื่อนเรื่องอุตสาห กรรมรถอีวีอย่างต่อเนื่อง มีการคุยกับซาอุฯในเรื่องของการแลกเปลี่ยนซัพพลายเชนซึ่งกันและกัน ขยายไปจนถึงเรื่องรถยนต์ไฮบริดและชิ้นส่วนประกอบ ที่ภาคเอกชนสนใจคุยกันอยู่ และไทยเองที่ผ่านมาก็มีการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ไปยังซาอุดีอาระเบียมูลค่ามหาศาล เป็นสินค้าส่งออกอันดับต้นๆอยู่แล้วและมีอนาคตที่ดีมากๆ และมีแนวโน้มที่จะมีการไปลงทุนในซาอุดีอาระเบียด้วย

นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มที่ดีเกี่ยวกับเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ โดยซาอุฯ สนใจการทำฟาร์มกุ้ง-การเลี้ยงปลาโดยใช้เทคโนโลยี เพราะเขาต้องการผลิตอาหารภายในประเทศทดแทนการนำเข้า จึงเป็นโอกาสของไทยเราที่จะส่งออกทั้งด้านเทคโนโลยีการเลี้ยง รวมทั้งอาหารปลา-อาหารกุ้ง เข้าไปในตลาดซาอุดีอาระเบีย