นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากผลสำรวจ ทัศนคติ พฤติกรรมและการใช้จ่ายช่วงวันมาฆบูชา จากจำนวน 1,289 ตัวอย่างทั่วประเทศ สำรวจระหว่างวันที่ 8-13 กุมภาพันธ์ 2567 พบว่าพฤติกรรมและการใช้จ่ายช่วงวันมาฆบูชา ส่วนใหญ่ 67.7% ระบุจะออกไปทำบุญไหว้พระ และ 28.8% ไม่ไปสาเหตุจาก อยากพักผ่อนอยู่บ้านไม่อยากใช้เงินต้องการประหยัดรายได้ลดลงและ 3.5% ไม่แน่ใจ
ส่วนบรรยากาศในวันมาฆบูชาในปี 2567 เมื่อเทียบกับปี 2566 ส่วนใหญ่ 43.7% มองว่าบรรยากาศเหมือนเดิม ขณะที่ 27.4% มองว่าคึกคักน้อยลง เพราะเศรษฐกิจแย่ลง ราคาสินค้าแพง ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น หนี้สินเพิ่ม ขาดสภาพคล่องทางการเงิน วิตกฝุ่นละออง และการแพร่ระบาดของโควิด แต่ 28.9% มองว่าจะคึกคักขึ้น คาดความหวังเศรษฐกิจจะดีขึ้น เศรษฐกิจแย่คนเลยทำบุญ นโยบายรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจ มีการจัดกิจกรรม และนักท่องเที่ยวมาไทยมากขึ้น
สำหรับกิจกรรมในวันมาฆบูชาส่วนใหญ่ประชาชนตั้งใจจะไปเวียนเทียน ทำบุญตักบาตร พักผ่อนและท่องเที่ยวเพราะปีนี้มีวันหยุดต่อเนื่อง คาดจะเดินทางช่วง 23-26 กุมภาพันธ์ 2567
ส่วนวันมาฆบูชา ปีนี้คาดมีเงินสะพัดกว่า 2,432 ล้านบาทขยายตัว 28% ซึ่งเป็นการขยายตัวในรอบสามปีตั้งแต่ปี 2563 โดยการใช้จ่ายต่อคนเฉลี่ย 1,560 บาทใช้ไปกับการทำบุญการเดินทางท่องเที่ยว กลับบ้าน เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการสำรวจ ทัศนะของผู้ประกอบการในช่วงวันมาฆบูชา พบว่าผู้ประกอบการมีการเตรียมสินค้าสำหรับช่วงวันมาฆบูชาปีนี้คาดว่าเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ขณะที่บรรยากาศปีนี้คาดว่าจะคึกคัก มูลค่าการใช้จ่ายโดยรวมของผู้บริโภคในปีนี้คาดว่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากปี 2566 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐส่วนการซื้อของของผู้บริโภคคาดว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า บรรยากาศวันมาฆบูชาของปี 2567 นี้จะคึกคักและมีเงินสะพัดกว่า 2,400 ล้านบาท ขยายตัว 28% แต่เมื่อเทียบปี 64 ก็ยังขยายตัวไม่มาก เหตุที่ผู้บริโภคจะใช้จ่ายในช่วงวันมาฆบูชา เพราะว่าใช้จ่ายไปในช่วงวันตรุษจีน วันวาเลนไทน์ที่ผ่านมา และจากการสอบถามปีนี้ประชาชนจะออกไปทำบุญเยอะขึ้น คาดว่าจะสูงสุดเป็นประวัติการณ์