KEY
POINTS
กรณีองค์การคลังสินค้า (อคส.) ประกาศ TOR เรื่อง การจำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐเป็นการทั่วไป ครั้งที่ 1/2567 เปิดประมูลข้าวข้าวหอมมะลิจาก คลังกิตติชัย หลัง 2 (ข้าวหอมมะลิ 100%) จำนวน 11,656 ตัน (112,711 กระสอบ) และคลัง บจก.พูนผลเทรดดิ้ง หลัง 4 (ข้าวหอมมะลิ 100%) จำนวน 3,356 ตัน (32,879 กระสอบ) ด้วยการยื่นชองประมูล แบบเหมาคลังตามสภาพของข้าวที่เก็บรักษาที่มีอยู่จริง
โดยการตรวจสอบคุณภาพข้าวกำหนดให้ผู้ประมูลดูตัวอย่างข้าวทางกายภาพด้วยสายตาเพื่อประกอบการพิจารณาเสนอราคาซื้อข้าวในคลังสินค้าเท่านั้น ไม่อนุญาตให้นำตัวอย่างข้าวออกนอกคลังสินค้า หรือดำเนินการตรวจสอบด้วยวิธีอื่ใดกับข้าวในคลังสินค้า ซึ่งนายกฤษณรักษ์ ใจดี รักษาการผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า เชื่อว่าเข้าร่วมประมูลมีความชำนาญเพียงพอ
ศ.ดร.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอิสระ อดีตนักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านข้าว ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ "เข้าเรื่อง" เผยแพร่ทางยูทูปฐานเศรษฐกิจ ระบุว่ามีความสงสัยในทีโออาร์ของการประมูลข้าว 10 ปี ว่าเพราะอะไรจึงไม่อนุญาตให้ผู้ประสงค์เข้าร่วมประมูลข้าว นำตัวอย่างข้าวออกไปตรวจสอบ เพื่อให้ได้การรับรองคุณภาพ
ซึ่งหากรัฐไม่ให้ตรวจควรต้องมีการชี้แจงเหตุผล ว่าทำไมจึงไม่อนุญาตให้เก็บตัวอย่างนำออกมาตรวจ ซึ่งภาครัฐควรต้องดำเนินการ ให้สังคมเกิดการยอมรับได้ ไว้วางใจและเชื่อถือ ซึ่งแม้เข้าล็อตนี้จะมีการประมูลขายแต่ราคาประมูลก็จะถูกลดลงมาอย่างมากเนื่องจากผู้ประมูลต้องคำนวณถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นจึงทำให้การประมูลข้าวล็อตนี้มีมูลค่าที่ลดลง
การกำหนดให้ผู้ประสงค์เข้าประมูลข้าวสามารถตรวจสอบทางกายภาพ ด้วยสายตาเท่านั้น ศ.ดร สมพร ให้ความเห็นว่าเป็นการเพิ่มความเสี่ยงกับผู้ประมูลข้าว เนื่องจากหากผู้ประมูลไม่สามารถตรวจสอบคุณภาพข้าวได้ว่ามีความปลอดภัยในห่วงโซ่อาหารหรือไม่
ก็จะทำให้ผู้ประมูลต้องต้องพิจารณาด้านความเสี่ยงและนำไปสู่การกำหนดราคาประมูลที่ต่ำลง เช่นราคาควรจะเป็น 18 บาทก็จะเหลือแค่ 12 บาท เนื่องจากต้องบวกค่าความเสี่ยงจากคุณภาพข้าวที่มองไม่เห็นเข้าไปด้วย
จึงเห็นว่าเงื่อนไขของทีโออาร์นี้มีความโปร่งใสน้อยเกินไป เพราะข้าวที่จะเปิดประมูลนี้ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่จึงควรต้องทำให้สมดุลย์ทั้งสองฝ่าย แม้ว่ารัฐจะเคยส่งตัวอย่างข้าวไปตรวจสอบที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้วก็ตาม แต่ต้นทางของการเก็บตัวอย่างข้าว รัฐไม่ได้เปิดเผยวิธีการสุ่มตัวอย่าง จึงถือว่ายังมีความไม่ชัดเจนในแง่ของการตรวจสอบ เป็นเรื่องที่ยังมีความลี้ลับอยู่ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นลดลง จึงยังคงมีการโต้แย้งกันอยู่ถึงปัจจุบัน
หากรัฐประสงค์จะให้มีความโปร่งใสอย่างแท้จริง ก็ควรต้องให้ผู้เข้าประมูลสามารถนำตัวอย่างข้าวในคลังออกไปตรวจสอบได้เพื่อให้เกิดความกระจ่างแจ้งอย่างแท้จริง ซึ่งจะเกิดผลดีต่อผู้ประมูลซื้อ ที่สามารถนำไปเคลมกับตลาดปลายทางได้ ว่าเป็นข้าวที่ผ่านการตรวจสอบและมีใบรับรองเป็นหลักฐานในการตรวจสอบตามมาตรฐานทางวิทยาศาสตร์ เป็นการสร้างความโปร่งใสให้กับผู้ประมูลข้าวที่จะนำไปส่งออกยังต่างประเทศอีกทีนึง
เพราะต้องเข้าใจว่าการประมูลข้าวที่ผ่านมาไม่เคยมีกรณีที่ข้าวมีข้อสังเกตเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภค เนื่องจากเก็บข้าวนานถึง 10ปีเช่นครั้งนี้ ดังนั้นที่ผ่านมาจึงเป็นการตรวจสอบทางกายภาพของข้าว และตรวจสอบคุณภาพของคลังในการเก็บรักษาข้าวก็เพียงพอ
ซึ่งไม่ว่าผู้ประมูลข้าวจะนำข้าวไปจำหน่ายในประเทศ หรือต่างประเทศก็ตาม ความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงด้วย ซึ่งหากตลาดต่างประเทศรู้ว่าบริษัทใด มีการนำข้าว 10ปีไปผสมขาย ย่อมเกิดความเสียหายต่อบริษัทมากกว่ากำไรจากข้าวล็อตนี้ด้วยซ้ำ หากผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นในบริษัท ก็อาจไม่ซื้อสินค้าของบริษัทนั้น ซึ่งจะส่งผลต่อความอยู่รอดของบริษัทต่อไปด้วย
ในกรณีที่จะอ้างอิงผลการตรวจข้าวโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก่อนหน้านั้น ศ.ดร สมพร มองว่า ขั้นตอนในเชิงแล็บไม่มีปัญหา แต่ขั้นตอนในการได้มาซึ่งตัวอย่างข้าว รัฐยังทำน้อยเกินไป ในการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สังคม หากเทียบกับวันที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดให้สื่อมวลชนร่วมตรวจสอบข้าวทางกายภาพ พร้อมทั้งชิมข้าว 10ปี ซึ่งหากมีการยืนยัน เพิ่มเติมว่ากำลังจะตรวจด้านความปลอดภัยของข้าวล็อตนี้ ก็จะทำให้สังคมเกิดความเชื่อมั่น และทุกอย่างจะจบลงด้วยดี
การสูญเสียตลาดต่างประเทศในอุตสาหกรรมข้าวไทยถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เช่นตลาดแอฟริกามีการนำเข้าข้าวไทยประมาณ 28% ซึ่งไม่ควรเป็นการส่งข้าวด้อยคุณภาพออกไป โดยไม่ได้คำนึงเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภค เพราะมาตรฐานด้านการส่งออกของกระทรวงการต่างประเทศ เป็นมาตรฐานในแง่ของกายภาพ แต่มาตรฐานด้านความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องพิสูจน์ให้เกิดความชัดเจน
ซึ่งข้าวล็อตสุดท้ายนี้เปรียบเหมือนสินทรัพย์ของภาครัฐ ที่มีมูลค่าเป็นร้อยล้านบาทฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องดูแลให้เกิดความโปร่งใส ซึ่งจะส่งผลต่อมูลค่าของข้าวที่จะได้เพิ่มขึ้น
ส่วนผู้ที่ชนะการประมูลข้าวก็ต้องมีการเปิดให้สาธารณะรับทราบ ซึ่งจะนำมาสู่การสืบค้นของภาคประชาชนและสื่อมวลชนต่อไปว่าบริษัทเหล่านั้นนำเข้าล็อตนี้ไปทำอะไรบ้าง มีการส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ หรือจำหน่ายภายในประเทศ และหากข้าวล็อตนี้มุ่งเน้นจะจำหน่ายไปยังต่างประเทศก็ควรต้องตีกรอบให้ชัดเจนว่าเพื่อการส่งออกไปยังต่างประเทศเท่านั้น