ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2566 โดยเฉพาะสหรัฐและยุโรป หลังธนาคารกลางเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงต่อเนื่องเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อพุ่งสูง แต่อัตราเงินเฟ้อยังไม่มีท่าทีชะลอลง โดยเงินเฟ้อเดือนกันยายนของสหรัฐ ยูโรโซน และอังกฤษอยู่ที่ 8.2%yoy (+0.4% mom), 9.9%yoy (+1.2%mom) และ 10.1%yoy (+0.5%mom) ตามลำดับ แม้เงินเฟ้อใกล้จุดสูงสุดหรือได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว แต่หากเงินเฟ้อยังสูงเทียบเดือนต่อเดือนต่อเนื่อง ราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มขยับต่อ
การขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงปีนี้ยังไม่มีท่าทีคุมเงินเฟ้อได้ ราคาน้ำมันมีโอกาสปรับขึ้นอีกรอบหลังโอเปกพลัสลดกำลังการผลิตน้ำมันลง 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน จนมีนักเศรษฐศาสตร์มองว่า จำเป็นต้องลดอุปสงค์ในประเทศ หรือขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงต่อเนื่องเพื่อลดการบริโภคและการลงทุน แม้เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือใช้ recession แก้ปัญหา inflation เพราะเมื่อเศรษฐกิจถดถอย คนว่างงานเพิ่มขึ้น การใช้จ่ายและการลงทุนจะชะลอ ราคาสินค้าก็ชะลอตามหรือปรับลดลงได้
“ส่วนตัวผมไม่แน่ใจ ว่าต่อให้เศรษฐกิจประเทศสำคัญถดถอย จากการเร่งขึ้นดอกเบี้ย คนใช้จ่ายและลงทุนลดลง คนอเมริกันว่างงานเพิ่มขึ้นอีกหลายล้านคน ราคาสินค้าและบริการจะลดลงได้จริงหรือ ในทางตรงข้าม เงินเฟ้ออาจจะยังเกินกรอบเป้าหมาย 2% ไปอีกนานเป็น new normal ต้องกลับมาแก้ปัญหาเงินเฟ้อปีหน้าด้วยการปล่อยให้เงินเฟ้อสูงปีนี้ เพื่อหวังให้ฐานที่สูงปีนี้ดึงให้เงินเฟ้อเทียบปีต่อปีลดลง เรียกว่าใช้ inflation แก้ปัญหา inflation ซึ่งไม่ได้แก้ปัญหาอะไรได้นอกจากแก้ทางเทคนิคเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ ผมมองว่าธนาคารกลางจะยังคงขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในปีหน้า ไม่น่าเห็นการปรับมุมมองมาลดดอกเบี้ย หรือ policy pivot อย่างที่นักลงทุนหวังกัน เพราะเงินเฟ้อปีหน้ายังสูงกว่ากรอบนโยบายการเงินที่ 2% แม้จะต้องโดนวิจารณ์จากฝั่งการเมืองที่ได้แรงกดดันจากคนที่ว่างงานและการบริโภคและการลงทุนที่หดตัวก็ตาม แต่ธนาคารกลางทั้งหลายยังไม่น่ายอมถอยจากการขึ้นดอกเบี้ย หรือคงดอกเบี้ยในระดับสูงลากยาว จนกว่าเงินเฟ้อจะยอมลดลงจริงๆ เสียที ซึ่งน่าจะเห็นได้ในปี 2567 หลังฐานที่ยังสูงในปี 2566 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้ากรอบได้ในปีถัดไป” ดร.อมรเทพ กล่าว
เศรษฐกิจไทยจะเผชิญอะไรในภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย
สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3.2% ปีนี้ และ 3.4% ปีหน้า โดยปรับจากแบบจำลองของ Oxford Economics เดือนตุลาคมที่คาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 1.7% ปีนี้ และ -0.5% ในปีหน้า และเศรษฐกิจสหภาพยุโรป หรือ EU ขยายตัว 3.1% ปีนี้ และ -0.04% ในปีหน้า แม้สหรัฐและ EU เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยปีหน้า แต่ไม่ได้รุนแรงจนนำไปสู่การถดถอยของเศรษฐกิจโลก เพียงแต่โตช้าลง โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้ 2.9% ปีนี้และ 1.5% ปีหน้า โดยปีหน้า เศรษฐกิจจีนและญี่ปุ่นยังขยายตัวได้ และน่าประคองเศรษฐกิจประเทศอื่นๆ ไม่ให้ชะลอลงแรงได้บ้าง อย่างไรก็ดี การที่เศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปเข้าสู่ภาวะถดถอยเล็กน้อย ก็มีผลให้เศรษฐกิจไทยเผชิญความท้าทายในปีหน้าในด้านต่างๆ ดังนี้
1.การส่งออกติดลบ – กำลังซื้อสินค้าอุตสาหกรรมไทยจากสหรัฐและยุโรปมีแนวโน้มชะลอลง โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ นอกจากอุปสงค์ชะลอ ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนต่อเนื่องจากปีนี้ ส่วนการส่งออกไปจีนและอาเซียนยังไม่ค่อยดี เพราะการส่งออกของจีนหดตัวตามการถดถอยของเศรษฐกิจประเทศสำคัญ การนำเข้าสินค้าจากไทยและอาเซียนจะลดลงเช่นกัน อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารแปรรูป สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรน่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องจากปีนี้
2.กำลังซื้อระดับล่าง SMEs ต่างจังหวัด ภาคเกษตรอ่อนแอ – ไทยยังเผชิญปัญหาเงินเฟ้อที่ฉุดกำลังซื้อของครัวเรือนรายได้น้อยลากยาวถึงปีหน้า กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กในต่างจังหวัดที่ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวและพึ่งพิงภาคเกษตรยังอ่อนแอ แม้การส่งออกสินค้าเกษตรจะเติบโตได้ดี แต่เกษตรกรมีรายได้หักค่าใช้จ่ายลดลง เพราะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วและโตเร็วกว่าราคาสินค้าเกษตร ประกอบกับปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ยังกดดันกำลังซื้อต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีหนี้สูง
3. ดอกเบี้ยขึ้นต่อเนื่อง – ปัญหาเงินเฟ้อสูงมีแนวโน้มลากยาวไปปีหน้า แม้เงินเฟ้อไทยเดือนกันยายนอยู่ที่ 6.41%yoy (+0.22%mom) ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 7.86%yoy (+0.05%mom) แต่จะเริ่มเห็นการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าแบบเดือนต่อเดือนต่อเนื่อง หลังมีหลากหลายสินค้าทยอยปรับราคาขึ้นหลังเปิดเมือง แม้ราคาน้ำมันจะปรับลดลง แต่ค่าไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน และราคาอาหารสดปรับสูงขึ้น มองต่อไป เมื่อเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวในช่วงที่เงินเฟ้อเกินกรอบเป้าหมายของธปท. ที่ระดับ 1-3% ทางธปท. น่าจะทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นไปจนถึงระดับ 2.00% เป็นอย่างน้อยภายในช่วงกลางปีหน้า ขณะที่สหรัฐน่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแตะระดับ 5.00% เป็นอย่างน้อยช่วงกลางปีหน้าเช่นกัน
4.บาทอ่อนค่าถึงกลางปี ลุ้นพลิกมาแข็งค่าครึ่งปีหลัง – ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยสหรัฐที่สูงกว่าไทยมาก น่าจะส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายกลับไปถือสินทรัพย์รูปดอลลาร์สหรัฐ สนับสนุนให้บาทอ่อนค่าต่อเนื่องไปถึงกลางปีหน้า ไทยแม้จะมีรายได้จากการท่องเที่ยว แต่ไม่น่าเพียงพอให้เกินดุลบัญชีเดินสะพัดช่วงครึ่งปีแรกจากการส่งออกที่หดตัวต่างจากการนำเข้าที่มีมาก ทำให้ดุลการค้าขาดดุลสูง อย่างไรก็ดี ช่วงครึ่งปีหลัง จะเห็นดุลบัญชีเดินสะพัดพลิกกลับมาเกินดุลจากรายได้การท่องเที่ยว และจากการคาดหวังว่าเฟดจะเริ่มส่งสัญญาณลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2567 สนับสนุนให้นักลงทุนกลับเข้ามาลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงได้อีกครั้งและมีโอกาสให้บาทพลิกกลับมาแข็งค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐ
5.ท่องเที่ยวระดับบนฟื้นต่อเนื่อง – แม้เศรษฐกิจโลกจะชะลอ โดยเฉพาะสหรัฐและยุโรป อีกทั้งจีนยังไม่น่ารีบเปิดเมืองหลังตอกย้ำมาตรการโควิดเป็นศูนย์ แต่จากการที่คนทั่วไปเว้นว่างจากการท่องเที่ยวเป็นเวลานาน เมื่อเปิดให้มีการเดินทางได้เสรีมากขึ้น โดยเฉพาะในฝั่งเอเชีย อาจเห็นการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวต่อเนื่อง คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะมากถึง 20 ล้านคนในปีหน้า เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากที่คาดไว้ที่10 ล้านคนปีนี้ อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่อคนอาจไม่มากเท่าช่วงก่อนโควิด และกระจุกตัวในกลุ่มโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไป ในเมืองท่องเที่ยวสำคัญ โดยกลุ่มที่ได้ประโยชน์อื่น เช่น ร้านอาหาร ขนส่ง ธุรกิจเช่ารถยนต์ ธุรกิจนำเที่ยว และร้านค้าปลีกทั่วไป แต่เมื่อยังขาดกลุ่มทัวร์ โดยเฉพาะจากจีน จะยังไม่เห็นการกระจายตัวของการใช้จ่ายมายังโรงแรมระดับต่ำลงมาและกลุ่มค้าขายทั่วไปมากนักในปีหน้า
6.กำลังซื้อระดับบน ธุรกิจขนาดใหญ่ ภาคบริการในเมืองแข็งแกร่ง – เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ดีขึ้นหลังเปิดเมืองช่วงกลางปีที่ผ่านมา และน่าสนับสนุนกิจกรรมเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อเนื่อง เพียงแต่การฟื้นตัวรอบนี้ยังขาดการกระจายตัว เพราะกลุ่มที่ได้ประโยชน์เกี่ยวข้องกับการเปิดเมืองจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญ และกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีทุนทรัพย์พร้อมปรับปรุงกิจการ ลงทุนพัฒนาด้านเทคโนโลยี และเชื่อมกับการค้าโลก อีกทั้งไทยไม่มีปัญหาด้านการว่างงาน ซึ่งสนับสนุนกำลังซื้อจากมนุษย์เงินเดือนที่มีฐานะให้จับจ่ายใช้สอยได้ต่อเนื่อง
ปรับตัวอย่างไรกับความเสี่ยงศก.ที่โตช้า
ในภาวะเศรษฐกิจโลกที่เติบโตช้าและมีความเสี่ยงสารพัด ธุรกิจขนาดเล็กควรมองช่องทางตุนสภาพคล่องไว้ใช้ยามจำเป็น มีเงินทุนหมุนเวียนได้ระยะหนึ่งหากขาดรายได้ช่วงเศรษฐกิจย่ำแย่ การมีกระแสเงินสดที่ดีจะช่วยให้กิจการฟื้นกลับมาได้เร็วเมื่อกำลังซื้อของคนดีขึ้น และไม่ต้องปิดกิจการไปเสียก่อน และไม่ควรสต๊อกสินค้ามากเกินไป แม้สต๊อกสินค้าตอนนี้อาจจะช่วยลดภาระต้นทุนสูงในอนาคต แต่จากความผันผวนด้านวัตถุดิบ และการลดรายจ่าย เสริมกระแสเงินสด การสต๊อกสินค้าเท่าที่จำเป็นและบริหารต้นทุนเป็นทางเลือกที่ดีช่วงที่ความไม่แน่นอนมีสูง
นอกจากนี้ SMEs ควรพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุน เปิดโอกาสขยายตลาดออนไลน์ และหาพันธมิตรกับธุรกิจขนาดใหญ่เพื่อเกาะกลุ่มลูกค้าที่เติบโตได้ดี ส่วนประชาชนทั่วไป มีความไม่แน่นอนทางรายได้ มีผลต่อความเชื่อมั่น คนลดการใช้จ่ายสินค้าไม่จำเป็น โดยเฉพาะช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นส่งผลต่อต้นทุนการกู้ยืมเงิน แต่หากคนกู้อยู่ในกลุ่มที่เศรษฐกิจเติบโตได้ในปีหน้า สามารถกู้ลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ทำเลที่ดีได้ เพราะราคายังไม่ปรับขึ้นมาก ส่วนการกู้ซื้อรถยนต์อาจมองหารถยนต์มือสองสภาพดีราคาถูก เป็นทางเลือกที่ดีในภาวะที่มีความไม่แน่นอนสูง