5 สัญญาณ เตือนภัยคนหัวอ่อน ก่อนถูกเอาเปรียบในที่ทำงาน 

29 ต.ค. 2565 | 03:01 น.

JobsDB แนะ 5 สัญญาณเตือนคนทำงาน เกิดอาการ “หัวอ่อน” ให้เพื่อนร่วมงานเอาเปรียบ เช็คพฤติกรรมตัวเองด่วน ปฏิเสธใครไม่เป็น ไม่กล้าถามเมื่อเกิดความสงสัย ไม่โต้เถียง ขอโทษพร่ำเพรื่อ และไม่มั่นใจความคิดตัวเอง

JobsDB ได้นำเสนอบทความถึงโลกของการทำงาน ที่คนหัวอ่อนจะถูกเอาเปรียบ โดยกล่าวถึง ในโลกของการทำงาน มีปัญหาหลายๆ อย่าง แก้ไขได้จากตัวเราเอง เพราะการคาดหวังให้คนอื่นเปลี่ยนแปลง เป็นเรื่องยาก เพราะฉะนั้น ให้ลองเช็คตัวเอง ว่าเข้าข่ายคนหวอ่อนให้เพื่อนร่วมงาน หรือองค์กรเอาเปรียบคุณแล้วหรือยัง
 

1. ปฏิเสธใครไม่เป็น : สัญญาณแรกเริ่ม ที่กลัวว่า การบอกปัดเป็นเรื่องไม่ให้ความช่วยเหลือ กลัวทีมจะมองเราไม่ดี เป็นคนไม่มีน้ำใจ แต่ถ้าปริมาณงานที่คุณถืออยู่นั้น ค่อนข้างเยอะอยู่แล้ว นั่นก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่สมเหตุสมผลให้คุณนำมาชี้แจงและอธิบายกับทีมได้ สิ่งที่คุณต้องปักธงในใจให้ชัดคือ อย่ามองว่าการปฏิเสธ คือ สิ่งไม่ดี

 

สิ่งที่ต้องทำให้ดี คือรับผิดชอบงานในหน้าที่หลักอย่างเต็มความสามารถ เพราะนั่นคือสิ่งชี้วัดผลงานได้ดีที่สุด เว้นแต่ว่าว่างจากงานหลัก จะไปช่วยคนอื่นในทีมก็เป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ก็ต้องทำในฐานะคนช่วยเท่านั้น เพราะถ้าหากคุณจริงจังมากเกินไป เดี๋ยวจะถูกโยนงานมาให้แบบไม่รู้ตัว ช่วยเหลือได้แต่อย่าให้ตัวเองเดือดร้อน อย่างไรก็ตาม ลองปฏิเสธดูบ้าง ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ใครจะมองเราอย่างไร ให้มองว่าเป็นปัญหาของบุคคลนั้น อย่าลืมว่าเราไม่สามารถบังคับความคิดใครได้อยู่แล้ว ตัวเราเองคือคนที่รู้ดีที่สุด

2. ไม่กล้าตั้งคำถามในสิ่งที่สงสัย : จงใช้ชีวิตด้วยความเชื่อที่ว่าสงสัยหรือไม่รู้อะไร ก็แค่ตั้งคำถาม อย่ากลัวที่จะเป็นคนไม่รู้ หนึ่งในการเติบโตทางความคิดที่สำคัญ คือการกล้ายอมรับว่าเราไม่รู้ และพร้อมเติมเต็มกับข้อมูลใหม่ๆ ด้วยการตั้งคำถามมอยู่เสมอ เพราะไม่มีใครรู้ทุกเรื่องบนโลก และอย่าใช้ชีวิตด้วยการคิดเองเออเอง ไม่รู้ก็แค่ถาม ไม่ใช่เรื่องต้องกังวล เผลอ ๆ ช่วยให้การทำงานของคุณราบรื่นขึ้นด้วยซ้ำ จะขอคำปรึกษาจากหัวหน้า หรือคนในทีมก็ได้ ให้คนที่มีประสบการณ์แนะนำ แล้วค่อยๆ เรียนรู้จากสิ่งเหล่านี้

 

3.คนหัวอ่อนไม่กล้าโต้เถียงในสิ่งที่เห็นต่าง : การคิดต่างไม่ใช่เรื่องแปลก ทุก ๆ การประชุมหรือการขอความคิดเห็นกันของคนในทีม หากคุณมีความเชื่อหรือมีจุดยืนที่ต่างออกไป ย่อมมีสิทธิ์ที่จะเสนอหรือบอกเล่าถึงสิ่งเหล่านั้นได้ อย่ามองว่าหากโต้แย้งไปจะถูกมองว่าก้าวร้าวหรือดูไม่ดี หากคุณมีมุมมองหรือเหตุผลสนับสนุนที่สมเหตุสมผล สามารถชี้แจงถึงรายละเอียดได้ การประชุม มีที่มาจากการต้องการเปิดรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย และต้องการหาข้อสรุปร่วมกัน

4.ใช้คำว่า “ขอโทษ” พร่ำเพรื่อเกินไป : คนหัวอ่อนมักพูดคำว่า “ขอโทษ” จนติดปาก ทั้ง ๆ ที่ตัวเองไม่ใช่ฝ่ายผิด บางครั้งคนเราใช้ว่า “ขอโทษ” เพราะไม่อยากให้ช่วงเวลาแห่ง “ความตึง” ทำลายมู้ดการทำงานโดยรวมของทีม การอ่อนข้อในสันติวิธีนั้น บางครั้งก็ทำให้ยุติปัญหาได้โดยไว แต่บางครั้งคือการสะสมปัญหาไปในตัว เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ถูกแก้อย่างถูกวิธี แต่หากคุณผิดจริง “ขอโทษ” คือสิ่งที่ควรทำ


 5.ไม่มั่นใจในความคิดเห็นตัวเอง : เชื่อว่าส่วนหนึ่งของคนหัวอ่อนที่ไม่กล้าแสดงความเห็น ยอมนั่งเงียบๆ ตลอดการประชุม ไม่โต้แย้ง ทำงานตามคำสั่งทั้งหมด แต่ต้องมองย้อนกลับด้วยว่า การไม่พูดอะไรเลย เพราะกลัวดูไม่ดี กลัวเเพื่อนดูถูกความคิด แบบนั้นคือ ความไม่เชื่อมั่นในตัวเอง อย่างที่บอกไปในข้อ 2 การที่คนอื่นจะมองว่าเราเป็นอย่างไร นั่นคือความคิดเห็นของเขา สิ่งเหล่านั้นไม่มีทางเปลี่ยนความจริงหรือตัวตนของคุณได้ อย่ากลัวที่จะแสดงความคิดเห็น จงมั่นใจในความเป็นตัวคุณ ถามในสิ่งที่ควรถาม โตแย้งในสิ่งที่เห็นว่าไม่ถูกต้อง

 

“ความใจดี” เป็นสิ่งดีงามที่ทำให้โลกกลม ๆ ใบนี้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น แต่อย่าให้ความเป็นคนใจดี กลายเป็น “คนหัวอ่อน” ทำให้คนอื่นนำสิ่งนี้มาเอาเปรียบได้ ปฏิเสธคนอื่นให้เป็น รักษา Balance ให้ได้ แล้วจะเป็นคนใจดีที่ทำงานได้อย่างมีความสุขมากขึ้น 

 

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,830 วันที่ 27 - 29 ตุลาคม พ.ศ. 2565