นางสาวกรุณา เนียมเอี่ยม ผู้อำนวยการสำนักงานโครงการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงโครงการศึกษาจัดทำแผนการกำกับการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม โดยระบุว่า ขณะนี้ สนข.อยู่ระหว่างเตรียมเสนอร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการตั๋วร่วม พ.ศ…. ไปยังกระทรวงคมนาคมพิจารณาภายในเดือน ม.ค.2566 ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยคาดว่าตามกระบวนการจะแล้วเสร็จ เพื่อประกาศใช้ พรบ.ตั๋วร่วมดังกล่าวภายในปลายปี 2566 พร้อมเริ่มต้นการประกาศใช้อัตราราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน
“หลัง พรบ.ตั๋วร่วมมีผลบังคับใช้ ก็จะนำไปสู่การจัดตั้งบริษัทบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม และกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม ซี่งส่วนนี้จะนำมาสนับสนุนรายได้ค่าโดยสารของเอกชนที่จะขาดหายไปจากการกำหนดอัตราตั๋วร่วมในมาตรฐานเดียวกัน และจากการบังคับใช้ส่วนลดค่าแรกเข้ารถไฟฟ้าข้ามสายที่จะเกิดขึ้น เพื่อทำให้สัญญาสัมปทานที่มีเอกชนไม่ได้รับผลกระทบ แต่ขณะที่ประชาชนได้ประโยชน์จากการจัดเก็บค่าแรกเข้าครั้งเดียว ค่าโดยสารถูกลง”
ส่วนการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม โดยนำเอารายได้จากหลายส่วน อาทิ การสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ ส่วนแบ่งรายได้หรือผลประโยชน์ตอบแทนของผู้ให้บริการขนส่งรายใหม่เมื่อสัญญาสัมปทานมีข้อสัญญาให้ต้องส่งเงินเข้ากองทุน ส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการตั๋วร่วม และเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้แก่กองทุน เป็นต้น โดยเบื้องต้น สนข.ประเมินว่าจะต้องใช้เงินจากกองทุนดังกล่าว เพื่อสนับสนุนรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการรถไฟฟ้าที่มีรายได้ลดลงเฉลี่ยรวมปีละ 1,300 - 1,500 ล้านบาท
ทั้งนี้ สนข.ได้ขอรับการจัดสรรงบประมาณปี 2566 ราว 40 ล้านบาท เพื่อดำเนินการจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาเข้ามาเริ่มต้นศึกษาวิเคราะห์รูปแบบการเจรจาธุรกิจในการกำหนดและประกาศใช้โครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วม (Common Fare) สำหรับระบบขนส่งมวลชนที่เข้าร่วมในระบบตั๋วร่วมทั้งหมด หลังจากนั้น สนข.เตรียมเสนอของบประมาณประจำปี 2567 ราว 1,600 ล้านบาท เพื่อศึกษารูปแบบการจัดตั้งบริษัทบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม และพัฒนาศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House: CCH)
นางสาวกรุณา กล่าวต่อว่า สนข.ประเมินว่าภายในปี 2570 ประชาชนจะสามารถใช้ระบบตั๋วร่วมที่กำหนดอัตราค่าโดยสารเป็นมาตรฐานเดียวกัน สำหรับระบบรถไฟฟ้าจะเป็นโครงข่ายขนส่งสาธารณะหลักที่กำหนดให้มีการจัดเก็บค่าแรกเข้าครั้งเดียว โดย สนข.จะเจรจากับเอกชนผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าในปัจจุบัน ขอความร่วมมือเข้าร่วมระบบ CCH เพื่อเป็นประโยชน์ให้การคำนวณการชดเชยรายได้ของเอกชน และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในการถือบัตรรถไฟฟ้าเพียงใบเดียว
อย่างไรก็ตามการเจรจาสัมปทานรถไฟฟ้าในอนาคต กระทรวงคมนาคมมีนโยบายที่จะกำหนดให้ภาคเอกชนใช้ระบบ CCH ของ สนข.ในการชำระค่าโดยสาร เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ เบื้องต้น สนข.ศึกษาโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมและอัตราค่าโดยสารเดียว สำหรับรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลโดยศึกษาจากพฤติกรรมการเดินทางของผู้โดยสาร โดยพบว่าอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมจะเริ่มต้นที่ 14 บาท และเพดานสูงสุดขั้นแรกที่ 42 บาท แต่หากมีการเดินทางข้ามระบบรถไฟฟ้าในพื้นที่ปริมณฑล ซึ่งส่วนใหญ่จะมีแนวเส้นทางยาว จึงประเมินว่าการเดินทาง 36 กิโลเมตรขึ้นไป จะมีอัตราค่าโดยสารสูงสุดที่ 65 บาท รวมทั้งระบบขนส่งสาธารณะ