ผลการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) รอบที่สอง ปัจจุบันได้ตัวเอกชนผู้ชนะประมูลเป็นที่เรียบร้อย และมีกระแสข่าวว่าเร็วๆนี้กระทรวงคมนาคมจะเสนอผลการคัดเลือกเอกชน ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณาเห็นชอบ เพื่อลงนามในสัญญา หลังล่าช้ามากว่า 2 ปี
สวนทางกับหลายฝ่ายที่ยังคัดค้านและเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ตรวจสอบ ความไม่โปร่งใส ก่อนที่จะอนุมัติ เนื่องจากมีกระบวนการประมูลที่ก่อให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัย โดยเฉพาะส่วนต่าง 68,612.53 ล้านบาท อาจทำให้รัฐเสียหาย กรณี บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด (มหาชน) หรือ BTSC
เปิดตัวเลขการขอรับสนับสนุนงบประมาณรัฐลงทุนงานโยธาสายสีส้มตะวันตกเพียง 9,675 ล้านบาท เทียบกับการประมูลรอบสองรัฐต้องอุดหนุนงบประมาณมากถึง 78,288 ล้านบาท ให้กับผู้ชนะประมูล
แหล่งข่าวจากวงการรับเหมาก่อสร้างระบุว่า มีความเป็นไปได้สูงที่เร็วๆนี้ กระทรวงคมนาคมจะนำผลการประมูล เข้าครม.เพื่ออนุมัติลงนามในสัญญา เพราะอายุรัฐบาลเหลือไม่มากหรืออาจจะยุบสภาจากนี้
เนื่องจากอัยการสูงสูดตรวจสอบ ผลการคัดเลือกเอกชน และรายละเอียดในร่างสัญญา เสร็จเรียบร้อยแล้ว คาดการณ์ว่าน่าจะส่งกลับมายังการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ตามเงื่อนเวลา 45 วัน ตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 หรือ PPP นับจากได้ตัวผู้ชนะประมูล
ด้านความคืบหน้า แหล่งข่าวจากรฟม. ระบุ ว่า หลังจากคณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36 สรุปผลการคัดเลือกตามขั้นตอนพรบ.ร่วมลงทุนฯ 2562 ได้เสนอต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.เมื่อปลายเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา
เบื้องต้นบอร์ด รฟม.ไม่มีอำนาจเห็นชอบผลการเจรจา แต่มีอำนาจในการพิจารณาว่ากระบวนการคัดเลือกได้ดำเนินการครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดไว้แล้วหรือไม่ หากครบถ้วน บอร์ดมีหน้าที่เสนอผลเจรจาต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ในปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ 2 เรื่อง คือ
1.การจัดทำร่างสัญญาร่วมลงทุนฯ ซึ่ง รฟม.ได้ส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบแล้ว มีระยะเวลาดำเนินการ 45 วัน ที่อนุมัติภายในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
2.รายงานของคณะผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรม ที่จัดส่งไปยังองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT และส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) หลังจากนั้นจะส่งกลับ รฟม. เพื่อนำทั้ง 2 ส่วนมาประกอบกับข้อสรุปผลการคัดเลือก และนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาให้ความเห็นชอบ
นอกจากนี้ผลการเจรจาต่อรองนั้น ทางเอกชนยืนยันอัตราค่าโดยสารโดยปรับลดเพดานราคา ใช้เกณฑ์เดียวกันกับรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน สูงสุด 42 บาท และตามเงื่อนไขเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) กำหนด ระยะเวลาในการยืนราคาข้อเสนอนับจากวันยื่นข้อเสนอประมูล คือเดือน กรกฎาคม 2565 เป็นระยะเวลา 270 วัน หรือ 9 เดือน ซึ่งจะครบช่วงเดือน เมษายน 2566
ปัจจุบัน รฟม.ยังไม่ได้เสนอผลการคัดเลือกฯ ต่อกระทรวงคมนาคม แต่เมื่อนำเสนอเข้ามาตามขั้นตอน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีอำนาจในการพิจารณาผลการคัดเลือกตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ
“กรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีความเห็นหรือข้อสงสัยในประเด็นใด สามารถให้คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 พิจารณาทบทวนได้ หลังจากนั้นจะเสนอกลับมายัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมอีกครั้ง ทั้งนี้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ กำหนดให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาภายใน 30 วัน จากนั้นให้นำเสนอผลการคัดเลือกต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป”
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือBTSC กล่าวว่า กรณีมีการเร่งรัดโครงการสายสีส้มเข้าครม.ในเร็วๆนี้ ขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ปัจจุบันยังมี 3 คดีเกี่ยวกับสายสีส้มค้างอยู่ในศาลปกครอง ได้แก่ คดีเปลี่ยนแปลงเกณฑ์ทีโออาร์ ประมูลรอบแรก และ คดีล้มประมูล
ปัจจุบันรอศาลปกครองสูงสุดชี้ขาด หลังศาลชั้นต้นตัดสิน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกคดี ยังอยู่ในศาลชั้นต้น คือ การกีดกันการแข่งขัน ประมูลรอบสอง ขณะศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง คดีการทุจริตเจ้าหน้าที่รัฐ BTSC อยู่ระหว่างขอขยายเวลาอุทธรณ์