วงษ์สยามฯ ยื่นอุทธรณ์ กปน. ปมประมูลโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์

23 มี.ค. 2566 | 12:48 น.
อัปเดตล่าสุด :23 มี.ค. 2566 | 13:07 น.

ปมปัญหาประมูลโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ มูลค่ากว่า 6,526 ล้านบาท ล่าสุด วงษ์สยามฯ ทำหนังสือยื่นอุทธรณ์ กปน. แล้ว หลังประกาศ ITA Consortium ชนะประมูล

กรณีปัญหาโครงการประกวดราคาก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ขนาด 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน มูลค่ากว่า 6,526 ล้านบาท ของการประปานครหลวง (กปน.) ซึ่งประกวดราคาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ไปแล้วตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถดำเนินการได้ 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ที่ผ่านมา กปน. ได้ประกาศผู้ชนะการเสนอราคา ประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ขนาด 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน พร้อมงานที่เกี่ยวข้อง สัญญา GE-MS5/6-9 ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) โดยสรุปว่า

การประกวดราคาโครงการดังกล่าว ผู้เสนอราคาที่ชนะการเสนอราคา ได้แก่ ITA Consortium (บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) และบริษัท อาควาไทย จำกัด) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการสัญชาติไทย เป็นเงินทั้งสิ้น 6,390 ล้านบาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีอื่น ค่าขนส่ง ค่าจดทะเบียน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทั้งปวง

ส่วนบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ซึ่งผู้ยื่นเสนอประกวดราคาต่ำสุดที่ 6,150 ล้านบาท และเป็นราคาที่ต่ำกว่า ITA Consortium ยื่นคิดเป็นเงิน 240 ล้านบาท นั้น กปน.แจ้งว่า บริษัท วงษ์สยามฯ ไม่ผ่านการพิจารณา เพราะไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในประกาศและเอกสารประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการ ประกอบด้วย

การยื่นเอกสารไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด และไม่เสนอรายละเอียดตามขอบเขตของงานและรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุ ที่ประกาศตามเงื่อนไขกำหนดไว้ในเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นสาระสำคัญ หรือมีผลทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบแก่ผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่น

อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมานั้น นายอนุฤทธิ์ เกิดสินธ์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ระบุถึงกรณีดังกล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า วงษ์สยามฯ ได้ใช้สิทธิ์ในการยื่นอุทธรณ์เรื่องดังกล่าวไปให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง เพื่อให้พิจารณาผลอีกครั้ง 

พร้อมกันนี้ ยังเตรียมพิจารณาข้อเท็จจริงอื่นด้วยว่า พฤติกรรมและการดำเนินการของ กปน. ในการดำเนินการครั้งนี้อาจส่อไปในทางไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และหากเห็นว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอ อาจยื่นฟ้อง กปน.ต่อศาลอาญาคดีทุจริต เเละประพฤติมิชอบกลางต่อไป 

ล่าสุดแหล่งข่าวจากวงษ์สยามก่อสร้าง แจ้งข้อมูลกับฐานเศรษฐกิจว่า ที่ผ่านมาวงษ์สยามฯ ได้ทำหนังสือขออุทธรณ์ผลการจัดซื้อจัดจ้าง ต่อผู้ว่าการการประปานครหลวง (หัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่ทำการจัดซื้อจัดจ้าง) ไปแล้ว ลงวันที่ 20 มีนาคม 2566 พร้อมเอกสารชี้แจงรวมกว่า 140 หน้า ครอบคลุมประเด็นข้อสงสังต่าง ๆ อย่างครบถ้วนแล้ว

โดยในเอกสารได้ ระบุถึงกรณี กปน. ได้แจ้งผลการจัดซื้อจัดจ้างโครงการดังกล่าว ซึ่งวงษ์สยามฯ ได้ยื่นข้อเสนอเพื่อทำการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุกับหน่วยงานของรัฐ และขออุทธรณ์เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุแล้ว

พร้อมทั้งระบุว่า ในกรณีที่เห็นว่าหน่วยงานของรัฐมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามความในพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 เป็นเหตุให้ผู้อุทธรณ์ไม่ได้รับการประกาศผลเป็นผู้ชนะ หรือไม่ได้รับการคัดเลือกเป็นคู่สัญญา ตามนัยมาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อ จัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 แล้ว