ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยผลสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจเฉพาะกิจ (BSI SPECIAL ISSUE : BSI) ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และเอสเอ็มอี ระหว่างวันที่ 1-25 พ.ค. 2556 จำนวน 341 ราย เกี่ยวกับผลกระทบของการเลือกตั้งและการเมืองต่อการลงทุนของภาคธุรกิจในปี 2566
ทั้งนี้ พบว่า การเลือกตั้งและการเมืองส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนของธุรกิจน้อย โดยธุรกิจส่วนใหญ่ทั้งภาคการผลิต 79% และภาคที่ไม่ใช่การผลิต 75% ยังคงลงทุนตามแผนเดิม ซึ่งผู้ประกอบการจะพิจารณาปัจจัยพื้นฐานก่อน อาทิ กำลังซื้อ การแข่งขัน และแหล่งเงินทุน
อย่างไรก็ดี ยังมีธุรกิจส่วนหนึ่งเลื่อนแผนการผลิต แบ่งเป็น ธุรกิจในภาคการผลิต 17% และธุรกิจที่ไม่ใช่การผลิต 19% อาทิ ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจการค้า และธุรกิจผลิตเคมีภัณฑ์ เพื่อรอความชัดเจนของรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมการลงทุน และค่าแรงขั้นต่ำ
ซึ่งหากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดด ธุรกิจบางส่วนจะหันไปลงทุนใน Automation มากขึ้น หรืออาจชะลอการลงทุนในไทย แต่ไปเพิ่มการลงทุนในต่างประเทศที่ค่าแรงต่ำกว่าแทน
ขณะที่ผลสำรวจเกี่ยวกับการประเมินภาวะการส่งออกของธุรกิจในไตรมาสที่ 2/2566 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ประเมินว่า การส่งออกในไตรมาส 2 โดยรวมมีแนวโน้มทรงตัวจากไตรมาสก่อน
โดยมีหลายธุรกิจประเมินว่าการส่งออกจะเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน อาทิ ธุรกิจผลิตเคมี ปิโตรเลียม ยางและพลาสติก ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ และผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แต่ส่วนใหญ่จะขยายตัวเพียงเล็กน้อยไม่เกิน 10% ตามคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าที่เพิ่มขึ้น และปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่ทยอยคลี่คลายลง
อย่างไรก็ตาม หลายธุรกิจคาดว่าการส่งออกในไตรมาส 2 ปีนี้ทรงตัวใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน เช่น ภาคการค้า และธุรกิจผลิตยานยนต์
ขณะที่ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (Retailer Sentiment Index : RSI) ประจำเดือน พ.ค. 2566 ซึ่งทำการสำรวจข้อมูลระหว่างวันที่ 17-26 พ.ค. 2566 อยู่ที่ 51.2 ปรับลดลงจากเดือนก่อนที่มีเทศกาลสงกรานต์ ประกอบกับกำลังซื้อของผู้บริโภคยังอ่อนแอตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า
ขณะที่ค่าครองชีพยังทรงตัวในระดับสูง ส่งผลให้ผู้ประกอบการคาดว่าในระยะต่อไปจะมีการแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่กดดันให้ดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับลดลงด้วย
ทั้งนี้ หากจำแนกตามประเภทร้านค้า พบว่า ความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบันปรับลดลงจากกลุ่มห้างสรรพสินค้าและร้านอาหารเป็นสำคัญ เนื่องจากผู้บริโภคพยายามลดรายจ่าย โดยเลือกซื้อเฉพาะสินค้าจำเป็น และลดความถี่ในการทานอาหารนอกบ้าน
ส่วนความเชื่อมั่นต่อยอดขายสาขาเดิมทุกภูมิภาคปรับลดลง โดยอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ยกเว้นภาคใต้ เนื่องจากยังไม่มีมาตรการจากภาครัฐที่ช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคออกมาใหม่ และทำให้ความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับลดลงเช่นเดียวกัน ขณะเดียวกัน พบว่า ภาคธุรกิจมีสภาพคล่องลดลง โดย 50% ยังมีสภาพคล่องเพียงพอมากกว่า 12 เดือน โดยในเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ 61%
“ผลการสำรวจ พบว่า 3 ใน 4 ของธุรกิจ หรือ 74% ของธุรกิจ เห็นว่าการเมืองภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปจะไม่กระทบกับแผนการลงทุนในปีนี้ โดยจะยังลงทุนตามแผนที่วางไว้ ส่วนอีก 24% ชะลอการลงทุน และอีก 2% มองว่ายังเร็วไปที่จะทราบผลกระทบของการเมืองต่อการลงทุน”