นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตาม มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 เห็นชอบให้ คนต่างด้าว ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ ยื่นขอต่ออายุใบอนุญาตทำงาน ไว้เรียบร้อยแล้ว แต่เอกสารประจำตัวและหลักฐานการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรยังไม่ครบถ้วน สามารถอยู่ต่อได้เป็นกรณีพิเศษไม่เกินวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 นั้น โดยให้นายจ้าง และ แรงงานต่างด้าว ที่ยังไม่ยื่นเอกสารหลักฐาน เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 หากพ้นกำหนด จะไม่สามารถอยู่ต่อและทำงานภายในราชอาณาจักรต่อไปได้
ทั้งนี้หากกรมแรงงานตรวจพบคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน จะดำเนินคดีและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดทั้งนายจ้างคนไทยและลูกจ้างคนต่างด้าว โดยคนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกส่งกลับประเทศต้นทาง รวมถึงห้ามขอใบอนุญาตทำงานเป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับโทษ
ส่วนนายจ้างที่รับคนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตเข้าทำงานหรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 - 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน กรณีกระทำความผิดซ้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 - 200,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามนายจ้างจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ โดยหากมีข้อขัดข้องให้ติดต่อสำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 10
“ขณะนี้เศรษฐกิจในประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงของการฟื้นฟู มีความต้องการแรงงานต่างด้าวอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลจึงได้เปิดโอกาสให้นายจ้างสามารถจ้างแรงงานต่อได้อย่างถูกกฎหมาย โดยเฉพาะแรงงานที่เข้ามาผ่านระบบ MOU ที่มีวาระการจ้างงานครบ 4 ปี โดยนายจ้างที่มีความต้องการจ้างแรงงานกลุ่มดังกล่าว ให้รีบยื่นคำร้องขอนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศ ก่อนถึงวันที่ 31 ก.ค.66 เพื่อให้แรงงานสามารถทำงานต่อได้อย่างถูกกฎหมาย” นางสาวรัชดา