NRF แนะโอกาส “Future Food” ดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์

07 ส.ค. 2566 | 10:19 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ส.ค. 2566 | 10:19 น.

NRF แนะโอกาส “Future Food” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทั้งช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม แนะไทยดูเกาหลีผสมผสานอาหารผ่านสื่อ สร้างการรับรู้ ปักธงธุรกิจลงทุนในลอนดอน 10 แห่ง

นายแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF กล่าวในงานสัมนา The Nation Seminar "Thailand Economic: Resilience and Opportunities" ในหัวข้อ “Harnessing Opportunities in “The Creative Economy” ว่า ธุรกิจอาหารการเกษตรมีมูลค่าต่อจีดีพีถึง 21% และเราเห็นชัดเจนว่าอาหารไทยติดท็อป 5 ในอุตสาหกรรม ซึ่งมีโอกาสสำหรับเศรษฐกิจสร้างสรรค์

นายแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน)

นอกจากนี้ Future Food หรืออาหารอนาคต ยังเป็นธุรกิจใหม่เพื่อมาเรียนแบบเนื้อสัตว์ เพื่อให้คนที่ไม่กินอาหารมังสวิรัติก็หันมากินได้ ซึ่งเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ปลอดภัย ถือเป็นโจทย์ใหญ่ทั่วโลก เพราะเคมีจากอุตสาหกรรมการเกษตรค่อนข้างเยอะ มีผลต่อสุขภาพ

สำหรับ Future Food จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่เข้ามาช่วยลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะอุตสาหกรรมอาหารปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 30% และล่าสุด การประชุม Conference of the Parties หรือ COP26 ที่ผ่านมา ได้มีการพูดถึงอาหารเพื่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ฉะนั้น Future Food จะใช้ทรัพยากร มนุษย์ เทคโนโลยี ให้สามารถผลิตอาหารได้คลีน เฮลตี้ได้

“ตามเป้าหมายการคำนึงสิ่งแวดล้อม ในปี 2050 คาดว่าฤดูกาลปลูกอาจจะหายไปหนึ่งฤดู จากปัญหาโลกร้อน ซึ่งที่อินเดียเกิดขึ้นแล้ว ฉะนั้น Future Food จึงเกี่ยวข้องกับการผลิตอาหารอย่างไรที่ป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันยังไม่เห็นนโยบายจัดเจนจากรัฐบาลออกมา ซึ่งเป็นโอกาสของประเทศไทย เพราะอาหารไทยเป็นอาหารที่รู้จักกันทั่วโลก”

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เกาหลีเริ่มแซงไทย เนื่องจากมีการผสมผสานอาหารผ่านสื่อ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนโยบายของประเทศ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ก็ควรจะเลียนแบบเกาหลี เพื่อเผยแพร่อาหารไทยสู่เวทีโลก และตอบโจทย์มากขึ้น โดยวัตถุดิบต้นทุนในการทำอาหารไทยถูกกว่าฝรั่งมาก ในช่วงยุคเงินเฟ้อฝรั่งควรจะทานอาหารไทยด้วยซ้ำ

“การที่จะพัฒนาอาหารไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ต้องคำนึงถึงว่าจะทำอย่างไรให้อาหารไทยเป็นเบอร์หนึ่ง เช่น เกาหลีที่มีการนำเสนอภาพอุตสาหกรรมอาหารผ่านสื่อ และไอดอล เป็นต้น นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงว่าทำอย่างไรให้อาหารไทยเป็นอาหารหลัก หากเป็นอาหารหลักได้จะเป็นหมื่นเท่าจากอุตสาหกรรมขนาดเล็กที่อาหารไทยมีอยู่ และหากนำองค์ประกอบเหล่านี้ให้ฝรั่งเห็นจะเป็นโอกาสมหาศาลสำหรับประเทศไทย”

ขณะที่การดำเนินธุรกิจของ NRF นั้น ปัจจุบันบริษัทส่งออก 30 กว่าประเทศทั่วโลก โดยเป็นธุรกิจครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ร่วมกับเกษตรกรให้ปลูกวัตถุดิบปลอดเคมี ลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจก และผลิตอาหารหลากหลาย ตั้งแต่ อาหารสัตว์เลี้ยง ซอส พริกแกง และสิ่งที่กำลังโฟกัส คือ ช่องทางซื้อการจัดจำหน่ายอาหารเอเชีย เริ่มจากลอนดอน โดยซื้อซุปเปอร์มาเก็ตของเอเชีย 2 แห่งแล้ว และมีเป้าหมายขยายให้ใหญ่ที่สุดในลอนดอนเป็น 10 แห่ง

“สิ่งที่น่าสนใจอาหารแพลนต์เบสไม่ว่าจะยุโรป หรืออเมริกา โดยคนเอเชียกินอาหารแพลนต์เบสถึง 30% ของตลาด แต่มีอาหารเอเชียน้อยมาก โดยสาเหตุที่เลือกอังกฤษเนื่องจากอาหารเอเชียมีมูลเกิน 1 แสนล้านบาท คนอังกฤษชอบทานอาหารเอเชีย และคนเอเชียก็ชอบไปเที่ยวอังกฤษ ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทกำลังเน้นสร้างแพลตฟอร์ม ที่จะขายอาหารผ่านแอปพลิเคชันไปสู่ผู้บริโภค โดยจะใช้เดต้ามาจับ เนื่องจากที่อังกฤษยังไม่มีข้อมูลเหล่านี้”

ทั้งนี้ แผนธุรกิจของ NRF ยังโฟกัสไปที่อังกฤษก่อน เพราะเป็นตลาดใหญ่มีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท และผู้บริโภคชอบอาหารเอเชียอยู่แล้ว ส่วนอาหารสัตว์นั้น ส่วนใหญ่เน้นขายในเอเชีย โดย 40% ของประชากรทั่วโลกมีสัตว์เลี้ยง ขณะที่อาหารสัตว์เลี้ยงที่เป็นวีแกนไม่มีเลย NRF จึงกำลังจะทำวีแกนแพลนต์เบสสำหรับอาหารสัตว์ด้วย