นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานประกาศผลผู้ชนะเลิศโครงการ GIT World’s Jewelry Design Awards 2023 ว่า โครงการนี้เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ GIT ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 17 แล้ว เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ นักออกแบบ และบุคคลทั่วไปที่มีใจรักในการออกแบบและสนใจในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ
ได้มีเวทีและโอกาสในการแสดงศักยภาพและพัฒนาฝีมือให้เข้าสู่มาตรฐานระดับโลก สร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย และเปลี่ยนประเทศไทยจากประเทศผู้รับจ้างผลิต เป็นประเทศที่สามารถสร้างแบรนด์เครื่องประดับที่ได้รับการยอมรับระดับโลก เพื่อการตอกย้ำการเป็นประเทศผู้ผลิตและผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก
สำหรับการประกวดในปีนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิดนี้ “Glitter & Gold – The Brilliant Way of Gold Shine” เครื่องประดับที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสีทองอร่ามกับประกายระยิบระยับของอัญมณีหลากชนิดที่ผสมผสานเข้ากันจนเป็นงานสร้างสรรค์ที่ลงตัว โดยมีนักออกแบบต่างชาติส่งชิ้นงานจำนวน 497 ชิ้นงาน และจากประเทศไทย 273 ชิ้นงาน รวมผลงานที่ผ่านเกณฑ์คัดเลือกเข้าร่วมประกวดมากถึง 770 ผลงาน
โดย GIT และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้ตัดสินรอบคัดเลือกแบบวาด และคัดเลือกจนเหลือ 30 แบบ และเลือกเฟ้นหาแบบวาดที่มีคะแนนสูงสุด 4 แบบวาด เพื่อนำไปผลิตเป็นเครื่องประดับ และแสดงผลงานพร้อมเหล่านางแบบในรอบชิงชนะเลิศ
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการ GIT กล่าวว่า ผู้ชนะการประกวดในครั้งนี้ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ผลงาน Golden Hour หรือช่วงเวลาดั่งต้องมนต์สะกด รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1จากผลงาน Line รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได่แก่ Ms.Xueer Song นักออกแบบชาวจีน จากผลงาน Time และรางวัลชมเชย ได้แก่ Mrs.Zahraa Mohamed Haji นักออกแบบชาวบาห์เรน จากผลงาน Volcano Eruption
ทั้งนี้ การจัดโครงการในปีนี้ มีผู้ร่วมโหวตผลงานจากทั่วทุกมุมโลกกว่า 600,000 คะแนน และผลงานที่ได้รับรางวัล คือ นักออกแบบชาวไทย จากผลงานชื่อ ใบตอง ด้วยคะแนนโหวต 322,322 คะแนน ทั้งนี้การจัดการประกวดนี้ ถือเป็นโอกาสที่สำคัญที่เราจะทำให้ทั่วโลกและนานาชาติ ได้เห็นถึงศักยภาพของนักออกแบบไทย โดยเฉพาะด้านอัญมณีและเครื่องประดับ และยังได้เห็นถึงเทรนด์ในการออกแบบ ซึ่งมาจากทั่วทุกมุมโลกที่น่าสนใจ และสามารถนำมาปรับใช้เป็นแนวทางสำหรับนักออกแบบได้อีกด้วย