ปั้น สระบุรี ฮับโลจิสติกส์ ดันไฮสปีด-มอเตอร์เวย์ -ทางคู่ สู่เมืองคาร์บอนต่ำ

01 ต.ค. 2566 | 01:59 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ต.ค. 2566 | 05:39 น.

โครงข่ายคมนาคม ไฮสปีดไทย-จีน มอเตอร์เวย์ บางปะอิน-โคราช รถไฟทางคู่ บูมสนั่น "หอการค้า"-สภาอุตสาหกรรม-สระบุรีพัฒนาเมือง -อบจ. ปั้นสระบุรี ฮับโลจิสติกส์ ลุยเวลเนส-โลว์คาร์บอน “แก่งคอย-มวกเหล็ก” โรงแรม รีสอร์ท พรึ่บรับความเจริญ ราคาที่ดินขยับ

สระบุรี  เมืองรอง เล็กกะทัดรัด หนึ่งในจังหวัดภาคกลางของประเทศไทย ข้อต่อสำคัญ เชื่อมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยจุดเด่นที่มีแหล่งธรรมชาติ อันงดงามติดอันดับโลก มีอาณาเขต ติดต่อกับจังหวัดนครราชสีมา ผืนป่าแนวเทือกเขา อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีอาณาเขตครอบคลุม 11 อำเภอ ของ 4 จังหวัด คือ จังหวัดสระบุรี จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดปราจีนบุรี และ จังหวัดนครนายก พื้นที่ขนาดใหญ่ผืนเดียวไร้รอยต่อ ตั้งอยู่ใน พนมดงรัก ส่วนหนึ่งของป่าดงพญาเย็นหรือดงพญาไฟในอดีต มีขุนเขาน้อยใหญ่สลับซับซ้อนหลายลูก แหล่งกำเนิดของต้นนํ้าลำธารที่สำคัญหลายสาย รวมถึงอุทยาน แห่งชาตินํ้าตกเจ็ดสาวน้อยและอุทยานแห่งชาตินํ้าตกสามหลั่น

ส่งผลให้สระบุรี กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติสุดฮิต แห่งหนึ่งใกล้กรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะอำเภอมวกเหล็ก ได้รับอานิสงส์ เป็นเมืองพักตากอากาศบ้านหลังที่สองต่อมาจาก เขาใหญ่ โอโซนติดอันดับ 7ของโลกที่มีนักลงทุนเข้าพื้นที่จำนวนมากหลังจากเปิดประเทศ

โครงข่ายบูม มวกเหล็ก-แก่งคอย

เมื่อรัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ไทย-จีน ระยะที่1 ช่วง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา  โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์) บางปะอิน-นครราชสีมาพาดผ่านพื้นที่สระบุรี  รวมถึง รถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ และโครงข่ายสัญจรทางบกขนขนส่งสินค้า ตลอดการเดินทางท่องเที่ยวรอบทิศทาง ทั้งภาคกลาง เหนือ อีสาน

ขณะความต้องการที่ดินพัฒนาโครงการมีต่อเนื่องและมีการปรับราคาสูงขึ้น แม้ว่า พื้นที่ มวกเหล็กจะไม่มีเอกสารสิทธิ์อยู่ติดเขตอุทยานเป็นส่วนใหญ่ก็ตาม ที่น่าจับตาคืออำเภอแก่งคอย เมืองทางธรรมชาติควบคู่ไปกับ อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โรงปูนซิเมนต์ มีการพัฒนาเกิดขึ้นมากสร้างความเจริญต่อเนื่องไปตามโครงข่าย และมีแม่นํ้าป่าสัก เส้นเลือดใหญ่ของการเกษตรและการท่องเที่ยวเมืองสระบุรี

 นางวรรณภา ชินชูศักดิ์ ประธานหอการค้าจังหวัดสระบุรี เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า  อำเภอมวกเหล็ก ซึ่งเป็นติ่ง ของ “เขาใหญ่” แหล่งโอโซนที่ผู้ประกอบท่องเที่ยวกลับมาพัฒนาโครงการพักตากอากาศมากขึ้น ช่วงโควิดนักลงทุนจากส่วนกลางมองหาที่ดินเพื่อลงทุน แต่ชะลอการพัฒนาออกไป

เมื่อท่องเที่ยวฟื้น คาดว่าการลงทุนจะกลับมา แต่มวกเหล็กติดเขตอุทยานส่งผลให้มีเอกสารสิทธิ์ไม่มาก พื้นที่ที่มีความเจริญมากคือ อำเภอแก่งคอยที่มีการพัฒนาสูงรับการมาของโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการสร้าง “หอมนสิการ”อำเภอ แก่งคอย พระบาทน้อยอันซีนไทยแลนด์ พื้นที่ศิลปะ มีโรงแรม6ดาว จุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวพักผ่อนและการบำบัดทั้งร่างกายและจิตใจ ขณะราคาที่ดิน สระบุรี ค่อนข้างสูง

วรรณภา ชินชูศักดิ์ ประธานหอการค้าจังหวัด สระบุรี

ดันฮับโลจิสติกส์-เมืองคาร์บอนตํ่า

 นางวรรณภากล่าวต่อว่า หอการค้าจังหวัดสระบุรี ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมในนาม คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) และสระบุรีพัฒนาเมืองได้ ผลักดัน สระบุรีเป็นฮับโลจิสติกส์ รวมถึงผลักดันโครงการในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จากกรณีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ภาครัฐ มาลงสระบุรี ทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน ระยะ1 และจะมี โครงการศูนย์ซ่อม รถไฟจากหัวลำโพง มาที่แก่งคอย ดำเนินการแล้วกว่า 70% และการเสนอ ขยายเส้นทางรถไฟผ่านเข้าใจกลางเมืองสระบุรี ทำให้ ที่นี่มีศักยภาพเป็น ศูนย์กลางการขนส่ง ทางบกและทางรางขนาดใหญ่ กระจายสินค้าและการเดินทาง และมีการจดทะเบียนการขนส่งมาก เพราะไม่ใช่แค่โครงสร้างพื้นฐาน ระบบราง

ยังมีการลงทุน โครงข่าย ของกรมทางหลวงชนบท หากแล้วเสร็จ จะผลักดัน การเกษตร มูลค่าสูง  ซึ่งเป็นโครงการระหว่างหอการค้าจังหวัดสระบุรี และ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ร่วมผลักดัน โรงพยาบาล โรคเฉพาะทาง บริเวณอำเภอเมืองเข้ามาพักฟื้นและเนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

จึงมีแผนพัฒนา โครงการรองรับผู้สูงอายุ ดูแลสุขภาพบริเวณ เขาตะกร้า อำเภอปากเปรียว ซึ่งเป็นที่ดินที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ ตั้งอยู่บนภูเขาหลังสถานีให้บริการน้ำมัน ปตท. (เขาตะกร้า) ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีได้รับโอโซนบริสุทธิ์ ที่น่าจับตาโรงเรียนนายเรืออากาศ ที่ย้ายจากดอนเมือง กทม. มายังอำเภอมวกเหล็กสระบุรี พื้นที่ขนาดใหญ่ที่เปิดให้บุคคลภายนอกเข้าทำกิจกรรม

ขณะเดียวกัน ยังผลักดัน อุตสาหกรรมอาหารเนื่องจากสระบุรี เป็นเมืองวัตถุดิบจึงจัดทำแผน 20 ปี ให้สระบุรีเป็นโครงการฟูดส์ วัลเลย์ ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น มีข้าวเสาไห้แท้ ผักหวาน เผือกหอม เพิ่มมูลค่าวัตถุดิบเป็นพืชอนาคต ฟิวเจอร์ฟูดส์ และอุตสาหกรรม ซึ่งที่ผ่านมาได้ หารือในจังหวัดผลักดันให้เป็นนิคมอาหาร ที่จังหวัดปทุมธานีเป็นงานวิจัยแต่สระบุรีนำมาผลิต

โดยใช้เส้นทาง รถไฟตรงไปที่มาบกะเบา ผลักดันศูนย์ไอซีดี สถานีบรรจุและแยกสินค้า มาที่สระบุรี และขนส่งสินค้าโดยทางรถไฟเข้ากทม. หรือไปสู่ภาคอีสาน อนาคต จะเป็นทั้งฮับ โลจิสติกส์ทางรางและทางบก รวมถึงการลดคาร์บอน ตามนโยบายรัฐบาลสระบุรีมีโรงปูน จำนวนมาก อย่างเอสซีจีทำโครงการปลูกพืชพลังงาน ลดใช้ถ่านหิน ซึ่งรณรงค์ปลูกพื้นพลังงานหญ้าเนเปียร์ส่งเสริมปลูกข้าวนํ้าน้อยเป็นต้น

 สำหรับแผนพัฒนาจังหวัดสระบุรีภาคเอกชนร่วมกับภาครัฐประกอบด้วย 
1. โครงการพัฒนายกระดับอุตสาหกรรมอาหาร เป็นการนำงานวิจัยมาต่อยอดในการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเป็น Future Food หรือนวัตกรรมอาหารต่างๆในโครงการ Saraburi Food Valley ซึ่งเป็นโครงการที่หอการค้าจังหวัดสระบุรีร่วมกับ สระบุรีพัฒนาเมือง (SBCD) นำเสนอ

2. โครงการ BCG กำจัด Food Waste ด้วยแมลงทหารเสือ (Black Soldier Fry) เป็นการกำจัดขยะอาหารที่ไม่ก่อการหมักซึ่งเป็นตัวก่อให้เกิดคาร์บอน โดยหอการค้าจังหวัดสระบุรี

3. โครงการ Food Sustainable Low Carbon โดยหอการค้าจังหวัดสระบุรีร่วมกับสภาเกษตร ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวน้ำน้อย และปลูกพืชตระกูลถั่วอาหารสัตว์ (ลดการนำเข้าถัวเหลืองจากต่างประเทศ) เป็นการลดการใช้ปุ๋ยเพื่อผลักดันให้เกิด Green Rice (ข้าวลดคาร์บอน เพื่อการส่งออกในอนาคตที่จะต้อง เคลมด้วย คาร์บอนเครดิต)

4. Saraburi Logistic Hub ทางบก การเสนอให้มีการยกรางรถไฟทางคู่ ระยะทาง 7 กม. ผ่านกลางเมืองเพื่อลดการติดขัดของจราจรและยังสามารถนำพื้นที่ภายใต้รางมาพัฒนาเศรษฐกิจภายในจังหวัด และการผลักดันให้เกิดศูนย์ ICD ขึ้นในบริเวณศูนย์ซ่อมรถไฟแก่งคอยเพื่อเป็นพื้นที่รองรับสินค้าคอนเทนเนอร์จากลาดกระบังที่มีความแออัดมาไว้ที่สระบุรี ที่สามารถเชื่อมโยงกับโครงข่ายทางหลวงที่จะสามารถไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกและภาคเหนือ

5. โครงการ Saraburi Sandbox Low Carbon โดยสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี หอการค้าจังหวัดสระบุรี และชมรมธนาคาร ด้วยการส่งเสริมให้ภาคเอกชนที่มีพื้นที่ว่างเปล่า และเกษตรกรให้ปลูกพืชพลังงานคือ หญ้าเนเปียร์ โดยโรงปูนเครือซิเมนต์ไทย พร้อมรับซื้อเพื่อมาใช้เผาแทนถ่านหิน เพื่อลดการนำเข้าถ่านหิน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็น Net Zero ตามแนวนโยบายของประเทศ

6. Saraburi Mindfulness Destination โครงการโดยหอการค้า เพื่อผลักดันให้สระบุรีเป็นเมืองท่องเที่ยว Wellness ทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่ง หอมนสิกา นิทรรศการ “Spiritual Life” เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อพระพุทธศาสนา เรือนสมาธิเรือนฝึกสมาธิสติ สถานที่พักสมองและหัวใจ โดยมีโรงแรมและร้านอาหารระดับ 6 ดาว The Soul Resort ให้บริการสถานที่พัก ร้านอาหาร ร้านกาแฟและสปา ให้บริการโดยมีบรรยากาศของภูเขาพระพุทธบาทน้อยเป็น Super View ที่สวยงาม

7. โครงการปรับปรุง อารยสถาปัตย์ในจังหวัดสระบุรี เพื่อรองรับ Tourism for all เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้สูงอายุ ผู้ป่วยพักฟื้น ครอบครัวที่มีเด็กเล็กและผู้สูงอายุ เพื่อให้มาท่องเที่ยวได้อย่างสะดวกสบาย จะเริ่มต้นที่วัดพระพุทธบาท เป็นต้นแบบ เพิ่มเติมทางลาดให้ได้ตามกฎหมายสากล และการจัดสร้างลิฟท์เพื่อผู้ที่ใช้รถเข็นเพื่อขึ้นไปนมัสการ รอยพระพุทธบาท

โครงการภาครัฐ

  1. ศูนย์ Well Ness Care สำหรับผู้ป่วยพักฟื้นและผู้สูงอายุ ที่น้ำตกเจ็ดคต ซึ่งเดิมเคยเป็นศูนย์รับผู้ป่วย Covid 19 มูลค่ากว่า 10 ล้าน นำมาพัฒนาปรับปรุง เนื่องจากมีสภาพที่ดีพร้อมรองรับทั้งสาธารณูปโภคและบรรยากาศที่เงียบสงบและอากาศดีของน้ำตกเจ็ดคต โดยอบจ.จังหวัดสระบุรี
  2. โครงการติดตั้ง Solar Floating บริเวณอ่างเก็บน้ำคลองเพรียว ศูนย์ราชการ ลดการระเหยของน้ำ ลดการใช้พลังงาน ลดโลกร้อน
  3. โครงการ โรงพยาบาลโรคเฉพาะทาง และศูนย์รับฝากผู้สูงอายุ บริเวณเขาตะกร้า ตำบลปากเพรียว อำเภอเมือง (ยังติดประเด็นปัญหาเรื่องพื้นที่ทางขึ้นที่ผ่านที่เอกชน) โครงการโดย อบจ.
  4. โครงสร้างพื้นฐาน ถนนทางหลวงชนบทเชื่อมโยงเครือข่ายจังหวัดสระบุรี ถนนทางหลวงและจังหวัดใกล้เคียงจัดทำไปกว่า 90%

โปรเจ็กต์จากส่วนกลาง

  1. โรงเรียนนายเรืออากาศ ที่ย้ายจากดอนเมืองมายังอำเภอมวกเหล็กสระบุรี
  2. ศูนย์ซ่อมรถไฟจากหัวลำโพง มาที่แก่งคอย ดำเนินการแล้วกว่า 70%
  3. โครงการรถไฟทางคู่ความเร็วปานกลาง กรุงเทพ-หนองคาย, มาบกะเบา แก่งคอย – ชุมทางจิระ นครราชสีมา (ซึ่งจะแยกไปหนองคายและอุบลฯ), มาบกะเบา แก่งคอย - มาบตะพุด ระยอง
  4. โครงการรถไฟความเร็วสูงระยะทางกรุงเทพ-นครราชสีมา และสถานีรถไฟความเร็วสูง กำหนดแล้วเสร็จปี 2570

 

5.โครงการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-นครราชสีมา เชื่อมโยงบางใหญ่ - กาญจนบุรี จะมีจุดขึ้น-ลงอำเภอเมือง อำเภอแก่งคอย อำเภอมวกเหล็ก อยู่ในการดำเนินการกว่า 85%

6.โครงการขยายทางด่วนฉลองรัชมายังอำเภอแก่งคอย ซึ่งมีการเวนคืนที่ดินเรียบร้อยแล้ว

 

 ปูพรม โครงข่ายสระบุรี

  แหล่งข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการทางพิเศษ (ด่วน) ฉลองรัชส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา ระยะทาง 16.2 กิโลเมตร(กม.) วงเงิน 24,000 ล้านบาทพร้อมเปิดให้บริการประมาณต้นปี 2570 ทั้งนี้จุดไฮไลท์ของทางด่วนสายนี้อยู่ที่พื้นที่บริการทางพิเศษ หรือจุดพักรถ (Service Area) บนเนื้อที่ประมาณ 64 ไร่ โดยจะตั้งอยู่บริเวณคลอง 9 ซึ่งจะทำเป็นอาคารคร่อมทางด่วน สามารถใช้ร่วมกันได้ทั้งสองฝั่งถนน โดยจะมีพื้นที่จอดรถขนาดใหญ่ พื้นที่จอดรถขนาดเล็ก อาคารสถานีตำรวจและกู้ภัย ร้านค้า สำนักงานของกทพ.เพื่อให้บริการประชาชน และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อาทิ ห้องนํ้า และสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charger Station)

นอกจากนี้ทางด่วนสายดังกล่าวสามารถรองรับความเร็วได้ 120 กม.ต่อชั่วโมงจะจำกัดความเร็วบริเวณทางร่วม และทางแยกต่างระดับ ใช้ระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) คาดการณ์ปริมาณจราจร ณ ปีเปิดให้บริการ อยู่ที่ประมาณ 3.2 หมื่นคันต่อวัน อัตราค่าผ่านทางเริ่มต้นที่ 25 บาท สูงสุด 125 บาท โดยทางด่วนสายนี้จะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนรังสิต-นครนายก และโครงข่ายถนนโดยรอบ

 แนวเส้นทางโครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) สายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ช่วงจตุโชติ-ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 (MR10) มีจุดเริ่มต้นโครงการยังคงเดิมที่ กม.0+000 เชื่อมต่อทางด่วนฉลองรัชบริเวณด่านจตุโชติ แต่ปรับเปลี่ยนจุดสิ้นสุดโครงการจาก กม.18+900 ที่เชื่อมต่อ MR 10 สายเดียว มาเป็น กม.17+075 เชื่อมต่อทั้ง MR 10 และ M 6 ในอนาคต มีจุดขึ้น-ลง 3 แห่ง ได้แก่ 1.บริเวณจุดต่อเชื่อมวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก (จตุโชติ) 2.บริเวณถนนหทัยราษฎร์ และ 3.บนถนนลำลูกกา รวมทั้งมีพื้นที่บริการทางด่วน (Rest Area) บริเวณ กม.11+400 ถึง กม.12+700

  ด้านความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา หรือมอเตอร์เวย์ (M6) ระยะทาง 196 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 76,580 ล้านบาท แหล่งข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) ระบุว่ามีการแก้ไขปรับปรุงแบบก่อสร้างให้มีความเหมาะสม ตามแผนโครงการฯจะเริ่มทดสอบระบบพร้อมทยอยเปิดทดลองให้บริการได้ภายในปี 2567 และเปิดใช้บริการตลอดเส้นทางอย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2568

 การดำเนินงาน แบ่งออกเป็นการก่อสร้างงานโยธาออกเป็น 40 ตอน (สัญญา) มีการแก้ไขแบบก่อสร้าง 16 ตอนแต่ที่ล่าช้าเพราะต้องปรับ แบบใหม่ เนื่องจากอุปสรรค 4 ประเด็น ได้แก่

1. สภาพพื้นที่ก่อสร้างเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

2. ปรับปรุงรูปแบบทางวิศวกรรมให้สอดคล้องกับสภาพทางกายภาพปัจจุบัน

3. ปรับรูปแบบให้เหมาะสมสอดคล้องกับโครงสร้างสาธารณูปโภค

4. ปรับรูปแบบการก่อสร้างเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อข้อร้องเรียนของประชาชนในพื้นที่ขณะความคืบหน้าการก่อสร้าง โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 แหล่งข่าวกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ว่าการก่อสร้างงานโยธา14 สัญญา ก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 10 สัญญา คาดว่าจะสามารถเปิดบริการได้ภายในปี 2570

ส่วนความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 27,453 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง โดยโครงการฯ มี 3 สัญญา ประกอบด้วย สัญญา 1 มาบกะเบา-คลองขนานจิตร ระยะทาง 58 กิโลเมตร คืบหน้า 96.31% ล่าช้า 3.69% และสัญญา 3 อุโมงค์รถไฟ ระยะทาง 5 กม. คืบหน้า 98.19% ล่าช้า 1.81% คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2566

ส่วนสัญญา 2 คลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 69 กิโลเมตร เบื้องต้นสัญญาดังกล่าวอยู่ระหว่างเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาขอปรับวงเงินเพิ่มขึ้นเป็น 10,466 ล้านบาท จากเดิมค่าก่อสร้างอยู่ที่ 7,060 ล้านบาท เนื่องจากที่ผ่านมามีข้อร้องเรียนจากเทศบาลบ้านใหม่ จังหวัดนครราชสีมาให้ปรับแบบก่อสร้างบริเวณที่ผ่าน อำเภอสีคิ้ว เป็นทางรถไฟยกระดับทดแทนคันดินยกระดับ ระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร ทำให้สัญญานี้ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้าง

 อย่างไรก็ตามโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระเป็น 1 ในโครงการพัฒนารถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วนทั่วประเทศ โดยมีแนวเส้นทางเริ่มต้นที่สถานีมาบกะเบา อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ผ่านพื้นที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี อำเภอปากช่อง อำเภอสีคิ้ว อำเภอสูงเนิน และสิ้นสุดโครงการที่สถานีชุมทางถนนจิระ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

 อนึ่ง ข้อมูลจากสภาพัฒน์ระบุในปี 2564 ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของไทยมีสัดส่วนประมาณ 14% ต่อจีดีพี

โครงข่ายสระบุรี และแผนพัฒนาเมือง