นายกฯ ปิดดีล Google Microsoft พร้อมลงทุนในไทย 2 แสนล้าน

15 พ.ย. 2566 | 02:14 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ย. 2566 | 03:06 น.

นายกฯ เศรษฐา หารือภาคเอกชนรายใหญ่ของสหรัฐ หลายราย โดยเฉพาะ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ไอที ทั้ง Google และ Microsoft เล็งเข้ามาลงทุน Data Center ในไทย รวมกว่า 2 แสนล้าน

วันนี้ (14 พฤศจิกายน 2566) เวลา 09.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นนครซานฟรานซิสโก ซึ่งช้ากว่าเวลาที่กรุงเทพฯ 15 ชั่วโมง) ณ มหาวิทยาลัย Stanford นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้หารือภาคเอกชนชั้นนำของสหรัฐฯ หลายราย โดยเฉพาะ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านไอที ทั้ง Google และ Microsoft ซึ่งแสดงความสนใจในการเข้ามาลงทุน Data Center ในไทย

บริษัท Google

สำหรับการหารือกับบริษัท Google บริษัทดำเนินธุรกิจบริการด้านซอฟต์แวร์และโซลูชั่นชั้นนำระดับโลก มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองเมาน์เทนวิว มลรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยผลิตภัณฑ์หลักที่ให้บริการหลากหลาย อาทิ กลุ่มการให้บริการสื่อและโฆษณา ( Media and Advertising) และกลุ่มการให้บริการบนระบบคลาวด์ (Cloud Services) โดยบริษัทมีแผนที่จะลงทุนสร้าง Data Center เพิ่มเติม ในอาเซียน โดย ประเทศ ไทยเป็นหนึ่งในทางเลือกสำคัญ

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ยินดีกับการครบรอบ 10 ปี Data Center แห่งแรกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่ฉางหัว ไต้หวัน และยินดีที่ Google พิจารณาไทยเป็น 1 ในสถานที่ตั้งที่มีศักยภาพสำหรับการสร้าง Data Center ประเทศที่ 11 ของบริษัทจากทั่วโลก และแห่งที่ 4 ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก 

โดยในนามของรัฐบาลไทย นายกฯ ยินดีสำหรับการลงนาม MOU ระหว่าง Google กับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) บ่งบอกถึงความสำเร็จครั้งสำคัญในความร่วมมือระหว่างกันเพื่อไปสู่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และการเติบโตทางเศรษฐกิจ 

ทั้งนี้ไทยเชื่อมั่นว่าความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลของประเทศ และพัฒนาการให้บริการสาธารณะผ่านการเปลี่ยนแปลงบริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมสนับสนุนการลงทุนในไทยของบริษัทฯ อย่างเต็มที่

 

นายกฯ หารือกับบริษัท Google

บริษัท Microsoft

ส่วนการหารือกับบริษัท Microsoft บริษัทดำเนินธุรกิจ 3 ส่วนหลัก ได้แก่ Productivity and Business Processes,  Cloud (Azure) ครอบคลุมทั้งรูปแบบ Public, Private และ Hybrid และ Personal Computing ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ เช่น คอมพิวเตอร์ แล็ปท็อป แท็บเล็ต โดยบริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาแผนการลงทุน Data Center ขนาดใหญ่ในประเทศไทย 

โดย นายกฯ ยินดีกับบริษัท Microsoft ที่ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับรัฐบาลไทย ซึ่งยืนยันถึงความมุ่งมั่นและความพร้อมของรัฐบาลไทยในการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงการให้บริการสาธารณะด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เชื่อมั่นว่าความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลของประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ และปรับปรุงการให้บริการสาธารณะผ่านการเปลี่ยนแปลงบริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ขอให้มั่นใจได้ว่าการลงทุนในประเทศไทยจะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐบาลไทย

ทั้งนี้ รัฐบาลทราบดีว่า พลังงานสะอาดเป็นหนึ่งในปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญสำหรับธุรกิจของ Microsoft ในการบรรลุเป้าหมาย ESG  ประเทศไทยได้เตรียมกลไกใหม่ที่เรียกว่า Utility Green Tariff (UGT) ที่นำเสนอพลังงานหมุนเวียนพร้อมแหล่งที่ตรวจสอบย้อนกลับได้ และมาพร้อมกับ REC (ใบรับรองพลังงานทดแทน) ซึ่งกลไกนี้สอดคล้องกับข้อกำหนด RE100 อย่างมีประสิทธิภาพ นายกฯ เชื่อว่าการหารือในวันนี้จะเป็นสะพานเชื่อมทั้งสองฝ่ายไปสู่โอกาสทางธุรกิจ และการลงทุนในอนาคตอันใกล้นี้

รายงานข่าวระบุว่าในการเข้ามาลงทุน Data Center ในประเทศไทย ของทั้งสองบริษัทนั้น เบื้องต้นจะมีการมูลค่าการลงทุนมากถึงบริษัทละ 100,000 ล้านบาท รวมกันกว่า 200,000 ล้านบาท

 

นายกฯ หารือกับบริษัท Microsoft

บริษัท Western Digital 

พร้อมกันนี้ นายกฯ ยังหารือกับบริษัท Western Digital เป็นผู้ผลิต Hard Disk Drive (HDD) รายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต Hard Disk Drive ที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท และเป็นโรงงานผลิต HDD เพียงแห่งเดียวที่มีขั้นตอนการประกอบ ทดสอบ ขั้นสุดท้าย บริษัทฯ จึงมีส่วนช่วยสำคัญให้ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออก HDD รายใหญ่ที่สุดของโลก 

นายกฯ ยินดีที่ได้ทราบว่าบริษัทฯ ย้ายสายการผลิตหัวอ่าน (Recording Head) ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญที่สุดชิ้นส่วนหนึ่งของระบบ HDD ทั้งหมดมาที่ไทย ซึ่งการเลือกย้ายฐานผลิตหัวอ่านมาไทยนี้ จะทำให้ไทยเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนสำคัญนี้แห่งเดียวในโลกของ WD แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของบริษัทที่จะขยายลงทุนต่อเนื่องในไทย 

นายกฯ กล่าวว่า ไทยมีนโยบายส่งเสริมพลังงานสีเขียว (green energy) ซึ่งทางบริษัทฯ กล่าวชื่นชมและยินดีกับนโยบายนี้ของไทยเป็นอย่างมาก ถือเป็นนโยบายที่เป็นจุดเด่นของไทย โดยบริษัทกำลังผลิตผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น จึงมีความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของบริษัท และต้องการใช้พลังงานสะอาดอย่างมาก 

นอกจากนี้ นายกฯ หวังว่าบริษัทฯ จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะของไทย ขอให้มั่นใจว่า รัฐบาลและสถาบันการศึกษาของไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับ WD เพื่อพัฒนาทักษะแรงงานท้องถิ่นให้พร้อมสำหรับแผนการลงทุนในอนาคต พร้อมย้ำว่าไทยพร้อมและเปิดประเทศเพื่อรับการลงทุนแล้ว ซึ่งบริษัทฯ มีความโดดเด่นด้านการพัฒนาบุคลากรไทยมาอย่างต่อเนื่อง หัวหน้าโรงงานทั้งสองแห่งของบริษัทก็เป็นคนไทย จึงพร้อมที่จะร่วมมือและมีศักยภาพที่จะรองรับอย่างดี

โอกาสนี้ บริษัทฯ ยังได้กล่าวชื่นชมมาตรการวีซ่าประเภทใหม่ของไทย “Long-Term Resident (LTR)” ที่เอื้อและเพิ่มความน่าดึงดูดในการอยู่อาศัยและลงทุนในกลุ่มบุคคลที่มีศักยภาพสูงมาประเทศไทยมากขึ้น โดยขณะนี้ บริษัทฯ ยังพิจารณาที่จะย้าย Headquarter มาตั้งที่ไทยด้วย

 

นายกฯ หารือกับบริษัท Western Digital

 

บริษัท Walmart

นายกฯ หารือกับบริษัท Walmart เป็นบริษัทค้าปลีกสัญชาติอเมริกาและเป็นหนึ่งในผู้ค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีสาขามากกว่า 10,500 สาขา ใน 20 ประเทศทั่วโลก โดยบริษัทฯ ประกาศว่าจะลงทุน เพื่อปรับโฉมร้านค้า ให้ทันสมัยขึ้น พร้อมเพิ่มขนาดร้านขายยา เพิ่มจุดชําระเงิน และแผนกอาหารในสาขา

นายกฯ ขอบคุณที่บริษัท Walmart ดำเนินการจัดซื้อ/หาสินค้าจากไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยนายกฯ ยังได้เชิญชวนให้บริษัทฯ พิจารณาจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าในไทย ซึ่งจะช่วยให้บริษัทฯ สามารถใช้ประโยชน์จากจุดแข็งในสถานที่ตั้งที่ใกล้กับแหล่งกำเนิดสินค้า เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับ supply chain อีกทั้งไทยยังเหมาะที่จะเป็นแหล่งที่ตั้งสำนักงานใหญ่ประจำภูมมิภาคอีกด้วย ทั้งนี้ ไทยส่งเสริมผลิตภัณฑ์ฮาลาล และผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของไทย

โดยทางผู้บริหารบริษัท Walmart กล่าวว่า ทางบริษัทฯ มองประเทศไทยเป็นผู้ผลิตสินค้าและวัตถุดิบที่มีศักยภาพ อาทิ สินค้าเกษตร (ข้าว และผลไม้ฤดูร้อน เป็นต้น) โดยคาดว่าในไตรมาสแรกของปีหน้าจะเดินทางไปเยี่ยมเยือนเมืองไทยเพื่อไปหาสินค้าและวัตถุดิบใหม่ ๆ ซึ่งหากไทยเห็นว่ามีสินค้าใดที่มีศักยภาพก็สามารถแนะนำได้

 

นายกฯ หารือกับบริษัท Walmart

 

Amazon Web Services

นายกฯ หารือกับบริษัท Amazon Web Services โดย AWS ชื่นชมนายกรัฐมนตรีในการผลักดันการเติบโตของประเทศไทยผ่านเทคโนโลยีที่มีมูลค่าสูงและเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม AWS เดินหน้าให้การสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลในทันที 

ทั้งนี้เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในเศรษฐกิจดิจิทัล และ innovation hub ผ่านการมาลงทุนของเทคโนโลยีคลาวนด์ (AI, ML, data analytics, IoT) ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัลที่สำคัญ และรากฐานในการพัฒนาประเทศทางด้านเศรษฐกิจและการเพิ่มโอกาสในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ของคนรุ่นต่อไป

นายกฯ ขอบคุณและให้การสนับสนุน AWS ที่เป็น hyperscale data center ระดับโลกเจ้าแรกที่กำลังลงทุนก่อสร้าง AWS Asia Pacific (Bangkok) Region ในประเทศไทย ด้วยงบประมาณกว่า 1.9 แสนล้านบาท ในระยะเวลากว่า 15 ปี 

นายกฯ มั่นใจว่าการลงทุนของ AWS จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญในระยะยาว เพิ่มความปลอดภัย และปรับปรุงประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของภาครัฐ และช่วยสร้างแรงงานที่มีทักษะสูงที่ประเทศไทยกำลังขาดแคลน 

นายกฯ ยืนยัน จะให้ความร่วมมือกับ AWS อย่างต่อเนื่องในการมาลงทุนครั้งนี้ ทั้งในการสนับสนุนให้เกิดการใช้คลาวน์ให้ครบทุกภาคส่วนต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนประสิทธิภาพการพัฒนาบริการทางดิจิทัลให้แก่ประชาชนทั้งของรัฐและเอกชน ทั้ง 

  1. การเงิน อุตสาหกรรมการผลิต สาธารณสุข การค้าปลีก และ SMEs
  2. การสร้างรัฐบาลดิจิทัลของทุกหน่วยงานให้เป็นรูปธรรมด้วยนโยบาย Cloud First Policy
  3. การผลักดันความร่วมมือด้านพลังงานหมุนเวียน สอดรับกับความเป็นผู้นำระดับโลก ในการก่อตั้งคำปฏิญาณ Climate Pledge ของ AWS ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานดาต้าเซ็นเตอร์ทั่วโลกด้วยพลังงานหมุนเวียน 100% ภายในปี 2025 
  4. การพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้และทักษะเรื่องคลาวน์เทียบเท่ามาตรฐานโลกและได้รับการจ้างงานหลังจบหลักสูตรทันทีผ่านโครงการ AWS re/Start 

 

นายกฯ หารือกับบริษัท Amazon Web Services