นายนริศ นิรามัยวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้กำหนดจัดประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ หรือ ครม.สัญจร ณ จังหวัดระนอง ระหว่างวันที่ 22-23 มกราคม 2567 นั้น
ในส่วนของจังหวัดระนองในฐานะจังหวัดเจ้าภาพ เจ้าของสถานที่ ได้เตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ไว้เรียบร้อยแล้ว สำหรับโครงการที่จังหวัดเสนอเพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ ในวงเงิน 50 ล้านบาท คือโครงการปรับปรุงถนนและระบบสาธารณูปโภคพร้อมปรับภูมิทัศน์ถนน “จัดสรรพัฒนา” ตั้งแต่ปากซอย 15 ไปจนถึงสี่แยกประปา จาก 2 เลน เป็น 4 เลน ระยะทาง ประมาณ 750 เมตร
ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง กล่าวอีกว่า สำหรับถนน“จัดสรรพัฒนา”เส้นนี้มีการก่อสร้างและใช้งานมานานไม่น้อยกว่า 30 ปีแล้ว อยู่ในเขตเทศบาลเมืองบางริ้น เชื่อมต่อกับเทศบาลเมืองระนอง โดยจะมีการปรับปรุงภูมิทัศน์สองข้างทางให้สวยงาม พร้อมระบบไฟฟ้าส่องสว่าง มีกำแพงกันดินให้เรียบร้อย ถนนเส้นนี้เปรียบเหมือนหน้าบ้านของจังหวัดระนอง เป็นถนนที่เชื่อมต่อจากถนนเพชรเกษมเข้า-ออกตัวเมืองระนองชั้นใน และเชื่อมต่อไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ รวมทั้งท่าเทียบเรือสะพานปลาหรือท่าเทียบเรือระนอง-เกาะสองที่ไปเมียนมาด้วย
รวมทั้งจังหวัดระนอง จะได้เสนอโครงการเพื่อให้คณะรัฐมนตรีผลักดันและสนับสนุนในโอกาสต่อไปอีก 1 โครงการ คือ โครงการปรับปรุงท่าเรือระนอง - เกาะสอง เนื่องจากท่าเรือดังกล่าว เป็นท่าเรือข้ามฟากระหว่างจังหวัดระนองกับจังหวัดเกาะสอง ประเทศเมียนมา และเป็นท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยว และการขนส่งสินค้าด้วย
นอกจากนี้ยังมีโครงการที่เสนอให้คณะรัฐมนตรีช่วยเร่งรัดดำเนินการอีก 3 โครงการ คือ
1.โครงการถนนเพชรเกษม จากระนองไปพังงา ที่บางช่วงยังเป็น 2 เลนอยู่ให้เป็น 4 เลนตลอดสาย
2.โครงการถนนสายราชกรูด-ชุมพร(หลังสวน) ซึ่งเป็นถนนที่มีความสำคัญต่อจังหวัดระนองอีกเส้นหนึ่งเช่นเดียวกัน ปัจจุบันมีรถใช้สัญจรไปมามาก แต่ยังเป็นถนน 2 เลนที่วิ่งสวนทางกันอยู่ ซึ่งจะเสนอคณะรัฐมนตรีให้เร่งรัดเช่นเดียวกัน เพื่อรองรับการเดินทางไปมาระหว่างจังหวัดชุมพรกับจังหวัดระนอง
และ3.โครงการก่อสร้างฝายน้ำล้นคลองบางริ้น วงเงิน 90 ล้านบาท เพื่อทดแทนฝายเดิมที่ได้ชำรุดเสียหายเมื่อปี 2565 ซึ่งมีความสำคัญเนื่องจากเป็นแหล่งกักเก็บน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาของจังหวัดระนองด้วย
นายพรศักดิ์ แก้วถาวร ประธานหอการค้าจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า โครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร – ระนอง ที่กำลังจะมีการดำเนินการอยู่นั้นโดยตั้งแต่เริ่มนั้นทางภาคเอกชนสภาภาคอุตสาหกรรมจังหวัดระนอง ต้องการเส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าระหว่างจ.ชุมพร มายัง จ.ระนอง เพื่อส่งเสริมสินค้าไปยังชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น
โดยได้ทำการศึกษาเส้นทางรถไฟดังกล่าวตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2560 ซึ่งขณะนั้นมีการประชุม ครม.สัญจรที่ จ.ภูเก็ต และทางจังหวัดระนองได้งบประมาณมาทำการศึกษาโครงการดังกล่าวจนแล้วเสร็จ
กระทั่งรัฐบาลได้มีการประชุม ครม.สัญจรที่ จ.ชุมพร ทางรัฐบาลได้อนุมัติโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ Southern Economic Corridor ( SEC ) ซึ่งมีการอนุมัติโครงการที่เกี่ยวกับจังหวัดระนองหนึ่งโครงการคือ โครงการประตูการค้าด้านตะวันตก ที่จะเชื่อมโยงฝั่งอันดามัน เข้ากับ ฝั่งอ่าวไทย จึงเป็นที่มาของโครงการแลนด์บริดจ์ที่กำลังดำเนินการในปัจจุบัน
ประกอบด้วยการสร้างท่าเรือทั้งสองฝั่ง ทางรถไฟ และถนนมอเตอร์เวย์ ซึ่งในด้านเชิงบวกจะส่งผลให้ทางจังหวัดระนองมีผลิตภัณฑ์มวลรวมด้านรายได้ของจังหวัดมากขึ้นกว่าเดิม ในปัจจุบันมีประมาณ 30,000 ล้านบาทต่อปี ได้จากภาคประมงการค้าชายแดน การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ ไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจภาครวมของจังหวัดเติบโตไปมากกว่านี้ได้ ถ้าไม่มีรายได้จากภาคส่วนด้านอื่นเข้ามาเสริม
ดังนั้นการเข้ามาของโครงการแลนด์บริดจ์ ที่จะสร้างงานสร้างอาชีพมากกว่า 200,000 ตำแหน่งเป็นผลให้เกิดการจ้างงานและการหมุนเวียนทางด้านเศรษฐกิจในทุกๆด้านมากกว่าเดิม รวมถึงการเพิ่มการส่งออกสินค้าจากชายแดนจะเปลี่ยนไปเป็นระหว่างประเทศ
ในส่วนที่มีการคัดค้านโครงการแลนด์บริดจ์ มองว่าทุกโครงการย่อมมีด้านลบมีผลกระทบโดยเฉพาะกลุ่มประมงพื้นบ้านที่ต้องได้รับผลกระทบมากที่สุดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นรัฐบาลต้องมีมาตรการรองรับกลุ่มประมงเหล่านั้นให้มีอาชีพ รวมถึงการที่ให้บุตรหลานของกลุ่มประมงได้มีอาชีพมีพื้นที่ทำกินสามารถดำรงชีพได้อย่างต่อไปได้