สื่อนอกตีข่าวนายกฯ งัดข้อธปท.กรณีแจกเงินดิจิทัล ทำอนาคตศก.ไทยยากจะคาดเดา

06 ก.พ. 2567 | 17:14 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.พ. 2567 | 05:14 น.

ไฟแนนเชียลไทมส์ สื่อใหญ่เมืองผู้ดี รายงานข่าวระบุ แผนแจกเงินแบบครั้งเดียวให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่กำลังเจอ "ทางตัน" ของรัฐบาลไทย ทำให้การคาดการณ์เกี่ยวกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยมีความยุ่งยากซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

 

ไฟแนนเชียลไทมส์ ตีพิมพ์บทความ Thailand’s PM Clashes With Central Bank Governor Over $14bn Handout Plan (นายกฯไทย ปะทะ ผู้ว่าแบงก์ชาติ กรณีแผนแจกเงิน 5 หมื่นล้าน) วานนี้ (6 ก.พ.) ระบุว่า ข้อเสนอ แจกเงินดิจิทัล มูลค่ารวม 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทย 500,000 ล้านบาทนั้น ได้จุดชนวนให้เกิดความขัดแย้งยาวนานหลายเดือนระหว่างผู้นำคนใหม่ของไทยและผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับคำถามสำคัญที่ว่า เศรษฐกิจไทยที่ใหญ่เป็นอันดับสองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติหรือไม่

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ประชาชนเดือดร้อน” และอัตราดอกเบี้ยที่สูงก็สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ นายกฯจึงเรียกร้องให้รัฐสภาอนุมัติแผนการของรัฐบาลที่จะจ่ายเงินครั้งเดียวจำนวน 10,000 บาท (ราว 280 ดอลลาร์) ให้กับประชาชนที่มีรายได้น้อย จำนวนประมาณ 50 ล้านคนผ่านทางกระเป๋าเงินดิจิทัล

ไฟแนนเชียลไทม์สระบุว่า แผนแจกเงินดังกล่าวเป็นหัวใจสำคัญในการรณรงค์หาเสียงของพรรคเพื่อไทยของนายเศรษฐา ซึ่งอ้างว่ามาตรการนี้มีความจำเป็นสำหรับการกระตุ้นการใช้จ่าย สนับสนุนธุรกิจ และเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ

แต่ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โต้แย้งว่า ไทยไม่ได้มีภาวะวิกฤติ เขายังวิพากษ์วิจารณ์แผนการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต รวมทั้งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ “ระยะสั้น” อื่นๆ ว่าน่าจะแทนที่ด้วยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจซึ่งเป็นมาตรการระยะยาวมากกว่า เช่น การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อรองรับประชากรสูงอายุของประเทศ

สื่อนอกตีข่าวนายกฯ งัดข้อธปท.กรณีแจกเงินดิจิทัล ทำอนาคตศก.ไทยยากจะคาดเดา

“นายกรัฐมนตรีและธนาคารกลางกำลังงัดข้อกันหนัก เกี่ยวกับอนาคตของนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล ทำให้ใครก็ตามที่พยายามคาดการณ์เกี่ยวกับเศรษฐกิจไทย ต้องพบกับความยุ่งยากอย่างไม่น่าเชื่อ”

ปีเตอร์ มัมฟอร์ด หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัท ยูเรเชีย กรุ๊ป (Eurasia Group) ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวกับไฟแนนเชียลไทม์ส ว่า “นี่ (เศรษฐา) ต้องเป็นหนึ่งในผู้นำโลกเพียงไม่กี่คน ที่พยายามโน้มน้าวประชาชนของตัวเองให้เชื่อว่าเศรษฐกิจของประเทศเลวร้ายกว่าที่เป็นอยู่”

“นายกรัฐมนตรีและธนาคารกลางกำลังงัดข้อกันหนัก เกี่ยวกับอนาคตของนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล ทำให้ใครก็ตามที่พยายามคาดการณ์เกี่ยวกับเศรษฐกิจไทย ต้องพบกับความยุ่งยากอย่างไม่น่าเชื่อ”

ความขัดแย้งดังกล่าวตอกย้ำจุดยืนที่ไม่มั่นคงของประเทศไทยในขณะที่กำลังพยายามขับเคลื่อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจให้หลุดพ้นภาวะซบเซาจากช่วงที่ต้องรับมือกับโควิด-19

รัฐบาลไทยซึ่งตั้งเป้าหมายการเติบโตรายปีที่อัตราเฉลี่ย 5% ในอีกสี่ปีข้างหน้า เปิดเผยข้อมูลเมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมาว่า เศรษฐกิจขยายตัวเพียง 1.8% ในปี 2566 ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ก่อนหน้านี้ของธปท.ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ 2.5-3%

การเติบโตดังกล่าวของไทยตามหลังคู่แข่งในภูมิภาค ขณะที่ราคาผู้บริโภคหดตัวเป็นเวลาสี่เดือนติดต่อกัน โดยลดลง 1.1% ในเดือนมกราคม ตามตัวเลขที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (5 ก.พ.) แต่ธปท.ซึ่งจะมีการประชุมกำหนดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของปีในวันพุธ (7 ก.พ.) ได้ตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี โดยคาดว่าจะได้เห็นการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในปีนี้

การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยตามหลังคู่แข่งในภูมิภาค (ที่มา: ไฟแนนเชียลไทมส์)

แต่สำหรับนายกฯเศรษฐา มหาเศรษฐีอดีตนักอสังหาริมทรัพย์แถวหน้าของไทย ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วยนั้น แผนแจกเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลถือเป็นหัวใจสำคัญของพรรคเพื่อไทยในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในฐานะรัฐบาลหลังจากที่ชนะการเลือกตั้งโดยได้คะแนนมาเป็นอันดับสองในการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว

ทั้งนี้ สื่ออังกฤษรายงานว่า พรรคเพื่อไทยได้ละทิ้งแผนจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับ "พรรคก้าวไกล" ซึ่งเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งแบบนำโด่ง หลังจากที่ฝ่ายหลังยืนกรานที่จะปฏิรูปกองทัพและสถาบันฯ การแยกวงดังกล่าวทำให้พรรคเพื่อไทยหันมาจับมือกับพรรคการเมืองฝั่งตรงข้ามที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ และได้เป็นรัฐบาลมาตั้งแต่ที่มีการรัฐประหารในปี 2557

สัญญาต้องเป็นสัญญา 

“เศรษฐาขึ้นสู่อำนาจโดยสัญญาว่าจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตเร็วขึ้น ดังนั้น ความชอบธรรมของรัฐบาลของเขาในระดับหนึ่งจึงขึ้นอยู่กับการทำสิ่งที่สัญญาไว้ให้เป็นจริง หรือไม่ก็ต้องอาศัยโชคช่วยแล้ว” มัมฟอร์ดกล่าว “กระเป๋าเงินดิจิทัลเป็นนโยบายหลักของเขาในการที่จะบรรลุเป้าหมายนั้น”

ประชาชนส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่าเศรษฐกิจไทยกำลังมีปัญหา โดยเกือบ 64% ของผู้ตอบแบบสำรวจล่าสุดโดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์กล่าวว่า พวกเขาเชื่อว่ามีวิกฤตเศรษฐกิจที่ต้องได้รับการจัดการแก้ไขในทันที

แต่แผนการแจกเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ต หรือกระเป๋าเงินดิจิทัลนั้น ก็เต็มไปด้วยคำถามเกี่ยวกับวิธีการชำระเงิน และยังเจอกับ “โรคเลื่อน” ครั้งแล้วครั้งเล่า การเปิดตัวซึ่งเคยกำหนดไว้ในเดือนกุมภาพันธ์ ได้ถูกเลื่อนไปเป็นเดือนพฤษภาคมหรืออาจจะยาวนานกว่านั้น

นักวิจารณ์ยังโต้แย้งด้วยว่า การอัดฉีดทางการคลังครั้งใหญ่นับเป็นมาตรการที่ขาดความรับผิดชอบ ธนาคารดีบีเอส ซึ่งเป็นธนาคารในสิงคโปร์ คาดการณ์ว่า การหาเงินมาสนับสนุนโครงการดิจิทัลวอลเล็ตโดยการกู้ยืมอาจส่งผลให้รัฐบาลไทยขาดดุลมากกว่า 5% ในปีงบประมาณ 2567

ในขณะเดียวกัน นายกฯเศรษฐายังได้ย้ำข้อเรียกร้องของเขา ให้ธปท.ลดอัตราดอกเบี้ยลง โดยกล่าวว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% จะไม่กระตุ้นเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย กำลังต่อสู้กับความท้าทายต่างๆรอบด้าน เช่น หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นสูงคิดเป็นสัดส่วน 90% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นสัญญาณว่าจำเป็นแล้วที่จะต้องเร่งสกัดเงินเฟ้อ

ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ช่วงสั้นๆ

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ชี้ว่า เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณการฟื้นตัว โดยการท่องเที่ยวซึ่งสร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 12% ของจีดีพีและได้รับผลกระทบอย่างหนักจากข้อจำกัดการเดินทางในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด กำลังเห็นแสงสว่างจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน โดยได้รับแรงหนุนจากมาตรการฟรีวีซ่า ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนในเดือนธันวาคม 2566 กลับมาสู่ระดับ 50% ของสถิติที่เคยทำไว้ในปี 2562 แล้ว ซึ่งนับเป็นสถิติสูงสุดหลังการระบาดของโควิด-19

ขณะที่การส่งออกก็มีการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา แม้จะช้ากว่าที่คาดไว้ก็ตาม บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Fitch Ratings คาดการณ์ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2567 น่าจะอยู่ที่อัตรา 3.8% แต่หากมาตรการแจกเงินดิจิทัลเกิดขึ้นจริง ก็จะดันการเติบโตเพิ่มขึ้นอีกเป็น 4.5%

จอร์จ สู นักวิเคราะห์ของ Fitch Ratings กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจของประเทศไทยยังไม่ได้ฟื้นตัวเต็มที่จากผลกระทบของโควิด-19 แต่ก็ถือว่าจุดต่ำสุดได้ผ่านพ้นไปแล้ว เขาเชื่อว่า มาตรการแจกเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในช่วงสั้นๆ แต่ไม่ได้ช่วยปัญหาด้านโครงสร้างซึ่งรวมถึงการเป็นสังคมผู้สูงวัยของไทยด้วย

ไฟแนนเชียลไทมส์ระบุในตอนท้ายว่า ได้มีการสอบถามไปยังกระทรวงการต่างประเทศของไทย แต่ก็ได้รับคำตอบว่า ทางกระทรวงไม่สามารถแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัลได้ เนื่องจากเกิดความล่าช้าในการดำเนินการตามแผน อีกทั้งยังอาจมีการปรับแก้ไขรายละเอียดต่างๆ

ท่ามกลางความไม่แน่นอนดังกล่าว ตลาดหุ้นไทยได้ร่วงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี และเงินบาทก็อ่อนค่าลง 4.6% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในปีนี้

จักรพันธ์ พรพรรณรัตน์ จากบริษัทหลักทรัพย์ เจพีมอร์แกน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับไฟแนนเชียลไทมส์ว่า ตลาดในวงกว้างต้องการเห็นการใช้จ่ายภาครัฐ “ทั้งนโยบายการเงินและการใช้จ่ายภาครัฐต่างเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ” เขาเชื่อว่า นายกรัฐมนตรีและผู้ว่าแบงก์ชาติสุดท้ายแล้วก็จะพบจุดยืนร่วมกัน

ที่มา:Financial Times