นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่า มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก็มีมติรับทราบข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตใน “โครงการดิจิทัลวอลเล็ต” ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอ
โดยมอบหมายให้คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน Digital Wallet หรือ บอร์ดดิจิทัลวอลเล็ต รับไปพิจารณา เพื่อให้ได้ข้อยุติแล้วนำเสนอต่อ ครม.ใน 30 วัน ตามที่ได้แจ้งต่อสื่อมวลชนไปแล้วเมื่อวันที่ 15 ก.พ.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อเสนอแนะ ป.ป.ช. เพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่ครม.มีมติรับทราบมีจำนวน 8 ข้อ มีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้
1.รัฐบาลควรศึกษา วิเคราะห์ การดำเนินโครงการตามนโยบายฯ รวมทั้งชี้แจงความชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม ว่าผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการจะไม่ตกแก่พรรคการเมือง นักการเมือง หรือเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บุคคลรายใดรายหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีศักยภาพมากกว่าผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งเป็นการดำเนินนโยบายที่อาจเข้าข่ายการทุจริตเชิงนโยบาย
รวมทั้งประชาชนที่เข้าร่วมโครงการเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะได้รับประโยชน์จากการดำเนินโครงการของรัฐบาลอย่างแท้จริง เช่น เป็นผู้ที่มีรายได้น้อย หรือ กลุ่มเปราะบาง พร้อมกับต้องมีขั้นตอนและวิธีการที่เป็นรูปธรรมชัดเจนเพื่อให้สามารถกระจายการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
2.การหาเสียงของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้ง และพรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาล ได้มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เกี่ยวกับโครงการดังกล่าวนั้น มีความแตกต่างกัน กกต.ควรตรวจสอบว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หรือไม่ มาประกอบการพิจารณาด้วย มิฉะนั้น จะเป็นบรรทัดฐานสำหรับพรรคการเมืองสามารถหาเสียงไว้อย่างไร เมื่อได้รับเลือกตั้งแล้ว ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามที่ได้หาเสียงไว้
3.การดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ควรคำนึงถึงความคุ้มค่า และความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งผลกระทบและภาระทางการเงินการคลังในอนาคต ซึ่งรัฐบาลพึงต้องใช้ความระมัดระวัง พิจารณาระหว่างผลดี ผลเสียที่จะต้องกู้เงินจำนวน 500,000 ล้านบาท
4.การดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรพิจารณาประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมายอย่างรอบคอบ ประกอบด้วย
5.คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรมีการประเมินความเสี่ยงในการดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท อย่างรอบด้าน โดยกำหนดแนวทางหรือมาตรการในการบริหารความเสี่ยง และการป้องกันการทุจริต และมีกระบวนการในการตรวจสอบทั้งก่อน ระหว่าง และหลังจากการดำเนินโครงการ
6.ในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้กับโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ครม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรพิจารณาถึงความจำเป็นและความเหมาะสม รวมทั้งระยะเวลา และงบประมาณที่ต้องใช้ในการพัฒนาระบบเพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และระยะเวลาในการดำเนินโครงการเป็นแจกเงินเพียงครั้งเดียวโดยให้ใช้จ่ายภายใน 6 เดือน
7.จากข้อมูลภาวะเศรษฐกิจของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้จากการศึกษา และตัวทวีคูณทางการคลัง รวมถึงตัวบ่งชี้ภาวะวิกฤตที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้รวบรวมและประมวลข้อมูลจากงานศึกษาของธนาคารโลกและ IMF มีความเห็นตรงกันว่า ในช่วงเวลาที่ศึกษาอัตราความเจริญเติบโตของประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ เพียงแต่ชะลอตัวเท่านั้น
ดังนั้น ในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน รัฐบาลควรพิจารณาและให้ความสำคัญต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ในกรณีที่รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายที่มีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือประชาชนภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่เข้าขั้นวิกฤต ควรพิจารณากลุ่มประชาชนเป้าหมายที่เปราะบางที่สุด ซึ่งต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง เช่น กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน เป็นต้น
8.หากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องการช่วยเหลือประชาชน รัฐบาลควรช่วยเหลือกลุ่มประชาชนที่มีฐานะยากจนที่เปราะบาง ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เท่านั้น โดยแจกจากแหล่งเงินงบประมาณปกติ มิใช่เงินกู้ ตามพระราชบัญญัติเงินกู้ และจ่ายในรูปเงินบาทปกติในอัตราที่เหมาะสม เพื่อพยุงการดำรงชีวิตของกลุ่มประชาชนที่ยากจน โดยการกระจายจ่ายเงินเป็นงวด ๆ หลายงวดผ่านระบบแอป “เป๋าตัง” และที่สำคัญคือไม่สร้างภาระหนี้สาธารณะของประเทศในระยะยาว