มติครม. เก็บภาษีกำไร Investment Token 15% มีผลแล้ว

12 มี.ค. 2567 | 07:31 น.
อัพเดตล่าสุด :12 มี.ค. 2567 | 07:48 น.

ครม.เห็นชอบ โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) โดยให้หักเป็นภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% เท่านั้น และไม่ต้องนำส่วนแบ่งกำไรหรือผลประโยชน์อื่นมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีก ให้มีผลตั้งแต่ 1 ม.ค. 2567

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งเป็นการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินส่วนแบ่งกำไร หรือผลประโยชน์อื่นที่ได้รับจากการถือครอง โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) โดยให้หักเป็นภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% เท่านั้น และไม่ต้องนำส่วนแบ่งกำไรหรือผลประโยชน์อื่นมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีก ให้มีผลตั้งแต่ 1 ม.ค. 2567

ทั้งนี้ เพื่อยกระดับการดูแล Investment Token ให้มีมาตรฐานใกล้เคียงกับหลักทรัพย์ทั่วไป และเป็นไปตามมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนด้วย Investment Token ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล แม้ว่าการยกเว้นภาษีเงินได้จากการถือครองโทเคนดิจิทัลดังกล่าวจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ราวปีละ 50 ล้านบาท แต่ส่งผลดีต่อการระดมทุน การจ้างงาน ตลอดจนสนับสนุนให้ไทยเป็น Digital Asset Hub

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากรตระหนักถึงความสำคัญของโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำหรับการระดมทุนของผู้ประกอบธุรกิจในประเทศ จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนด้วยโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token)) ต่อคณะรัฐมนตรี

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร

โดยกำหนดให้ผู้มีเงินได้ซึ่งได้รับเงินส่วนแบ่งของกำไร หรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) ตามมาตรา 40(4)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร และผู้จ่ายเงินได้ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้วตามมาตรา 50(2) แห่งประมวลรัษฎากรในอัตราร้อยละ 15

สามารถเลือกไม่นำเงินส่วนแบ่งของกำไร หรือผลประโยชน์อื่นใดนั้นมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เฉพาะกรณีไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้คืนหรือไม่ขอเครดิตภาษีที่ถูกหักไว้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ทั้งนี้ สำหรับเงินส่วนแบ่งของกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใดที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า มาตรการนี้จะทำให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันด้านการเป็นศูนย์กลางการระดมทุนเพิ่มขึ้น และทำให้ผู้ประกอบธุรกิจในประเทศไทยมีทางเลือก ในการระดมทุนด้วย Investment Token เพิ่มเติมจากการระดมทุนด้วยเครื่องมือดั้งเดิม อันจะส่งผลดีต่อการระดมทุน การลงทุน และการจ้างงานในประเทศ รวมทั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. ได้คาดการณ์ว่า ในปี 2567 จะมีการระดมทุนด้วย Investment Token ถึง 18,500 ล้านบาท ซึ่งเงินที่ได้จากการระดมทุนดังกล่าวจะเป็นเงินลงทุนในระบบเศรษฐกิจของประเทศต่อไป หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ