KEY
POINTS
ปัจจุบันทอท.มีแผนพัฒนา 2 ท่าอากาศยานภูมิภาคแห่งใหม่ วงเงินรวมกว่า 1.5 แสนล้านบาท เพื่อรองรับการเดินทางผ่านระบบขนส่งทางอากาศ ซึ่งจะเป็นทางเลือกให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางได้สะดวกมากขึ้น รวมทั้งยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในประเทศได้เป็นอย่างดี
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ แห่งที่ 2 (ท่าอากาศยานล้านนา) วงเงินลงทุน 70,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดหาที่ปรึกษาฯเพื่อศึกษาวิเคราะห์ความคุ้มค่าของโครงการ คาดว่าจะดำเนินการพร้อมศึกษาแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้ หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท.,กระทรวงคมนาคม และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) พิจารณาภายในเดือนมกราคม-มีนาคม 2568
ขณะเดียวกันตามแผน กพท.จะเสนอแนวทางต่อคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ (กบร.) เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนเมษายน-กรกฎาคม 2568 โดยจะออกแบบเพื่อการศึกษาความเป็นไปได้และความคุ้มค่าในการลงทุนเบื้องต้น (Preliminary Feasibility Study) และรายงาน EHIA เพื่อเสนอต่อกระทรวงคมนาคม รวมทั้งออกพ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินและเวนคืนที่ดิน ภายในเดือนสิงหาคม 2568-กันยายน 2569 คาดว่าครม.อนุมัติก่อสร้างโครงการฯ ภายในเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2570 หลังจากนั้นจะเสนอจัดตั้งสนามบินต่อ กพท.ภายในเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2570 และก่อสร้างภายในเดือนกันยายน 2570-ธันวาคม 2573
สำหรับท่าอากาศยานเชียงใหม่ แห่งที่ 2 ได้กำหนดที่ตั้งใน อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน มีระยะทางห่างจากท่าอากาศยานเชียงใหม่ 22 กม. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 32 นาที มีพื้นที่ 8,050 ไร่ เนื้อที่รวม 12.88 ตร.กม. กว้าง 2.3 กม. ยาว 5.6 กม. ซึ่งมีที่ดิน 5,875 แปลง โดยมี 2 ทางวิ่ง กว้าง 45 เมตร ยาว 3,800 เมตร รองรับ 41 เที่ยวบินต่อชั่วโมง อาคารผู้โดยสารขนาด 100,000 ตร.ม. รองรับ 21 ล้านคนต่อปี สามารถขยายได้ถึง 24 ล้านคนต่อปี รองรับสินค้าได้ 29,000 ตันต่อปี มี 38 หลุมจอด จากปัจจุบันท่าอากาศยานเชียงใหม่มีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารอยู่ที่ 8 ล้านคนต่อปี โดยมี 1 รันเวย์ รองรับได้ 24 เที่ยวบินต่อชั่วโมง
ขณะที่ความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ตแห่งที่ 2 ที่จังหวัดพังงาหรือท่าอากาศยานอันดามัน (Andaman International Airport) วงเงินลงทุน 80,000 ล้านบาท ประกอบด้วย งานในเขตการบิน วงเงิน 28,000 ล้านบาท งานอาคารผู้โดยสารวงเงิน 25,000 ล้านบาท งานสนับสนุน และสาธารณูปโภค วงเงิน 15,000 ล้านบาท สำรองราคาและภาษี 12,000 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดหาที่ปรึกษาฯเพื่อศึกษาวิเคราะห์ความคุ้มค่าของโครงการ คาดว่าจะดำเนินการพร้อมศึกษาแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้ หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท.,กระทรวงคมนาคม และ กพท. พิจารณาภายในเดือนพฤศจิกายน 2567-มกราคม 2568
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อว่า กพท.จะเสนอแนวทางต่อกบร. เพื่อเสนอครม. ภายในเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2568 ทั้งนี้ตามแผนจะออกแบบเพื่อการศึกษาความเป็นไปได้และความคุ้มค่าในการลงทุนเบื้องต้น (Preliminary Feasibility Study) และรายงาน EHIA เพื่อเสนอต่อกระทรวงคมนาคม หลังจากนั้นจะออกพ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินและเวนคืนที่ดิน ภายในเดือนมิถุนายน 2568-พฤศจิกายน 2569 คาดว่าครม.อนุมัติก่อสร้างโครงการฯ ภายในเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2570 โดยจะเสนอจัดตั้งสนามบินต่อ กพท.ภายในเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2570 และก่อสร้างภายในเดือนพฤศจิกายน 2570-เมษายน 2574
อย่างไรก็ตามท่าอากาศยานยานภูเก็ตแห่งที่ 2 หรือท่าอากาศยานอันดามัน มีพื้นที่ 7,300 ไร่ เป็นท่าอากาศยานที่ตั้งอยู่ในจังหวัดพังงา มีวัตถุประสงค์ให้เป็นฮับรองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ โดยเป็นการก่อสร้างทางวิ่ง 2 เส้น (รันเวย์) รองรับ 43 เที่ยวบินต่อชั่วโมง รองรับผู้โดยสาร 22.5 ล้านคนต่อปี มี 44 หลุมจอด จากปัจจุบันท่าอากาศยานภูเก็ตมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารที่ 12.5 ล้านคนต่อปี มี 1 ทางวิ่ง (รันเวย์) รองรับได้ 20 เที่ยวบินต่อชั่วโมง และมี 25 หลุดจอด