นายกิตตินันท์ ธรมธัช (แดนนี่) นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย (RSAT) กล่าวกับ ‘ฐานเศรษฐกิจ‘ ว่า ในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. …. หรือ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม สู่การบังคับใช้ได้สำเร็จ มีความรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง และ เป็นข่าวดีสำหรับชาวไทย ที่จะได้มีการสมรสแบบเท่าเทียมทุกเพศ หลังจากพยายามผลักดันร่างกฎหมายนี้มากว่า 10 ปี และถือเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ
ทั้งนี้ ในมุมของเศรษฐกิจ การผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว เชื่อว่าจะส่งผลดีเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะมุมของธุรกิจการจัดงานแต่งงาน เพราะน่าจะมีปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นแน่นอน แต่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะหากมีผลบังคับใช้แล้ว ก็จะเป็นข่าวดังไปทั่วโลก ทำให้สามารถดึงเม็ดเงินจากต่างชาติเข้ามาในไทยได้จากการย้ายภูมิลำเนาเข้ามาเป็นประชากรไทย เพราะต้องการจดทะเบียนสมรสอย่างถูกกฎหมาย
"ที่สหรัฐอเมริกา ในปี 2015 มีการอนุญาตให้สมรสเท่าเทียม ส่งผลให้มีเม็ดเงินในสะพัดในระบบเศรษฐกิจเพิมขึ้นราว 4 แสนล้านบาทในปีเดียว โดยไทยจะกลายเป็นหมุดหมายใหม่ของ LGBTQIA+ เพราะกฎหมายเปิดกว้างให้คนทุกชาติสามารถมาแต่งงานจดทะเบียนได้ตามกฎหมายไทยด้วย"
ขณะเดียวกัน ไทยยังจะได้ประโยชน์จากการย้ายถิ่นฐานเข้ามาของชาวต่างชาติ ในแง่ของการสร้างทรัพยากรบุคคล เพราะกฎหมายเปิดช่องให้สามารถรับบุตรบุญธรรมเข้ามาไว้ในอุปการะได้ ส่งผลระยะยาวถึงกระบวนการทางสาธารณสุข การศึกษา และกระบวนการยุติธรรม
ส่วนในแง่ของผลดีทางสังคมนั้น การปรับแก้กฎหมายฉบับนี้ จะช่วยให้สถาบันครอบครัวแข็งแกร่งขึ้น เกิดความยอมรับทางเพศกันในสังคมไทยอย่างเปิดกว้าง ก็จะส่งผบให้สถาบัน สังคม แข็งแกร่งขึ้น มีความสุขมากขึ้น
สำหรับในส่วนของภาคการท่องเที่ยว เชื่อว่าจะได้รับผลดีมากที่สุด โดยปัจจุบันมี LGBTQIAN+ ทั่วโลกมากกว่า 600 ล้านคน จะมีความต้องการท่องเที่ยวไทยมากขึ้นแน่นอน จากเดิมที่สถิติของ LGBT Travel Index จัดอันดับให้ไทยอยู่ที่ 80 กว่าของโลก ก็จะสูงขึ้น จากกฎหมายฉบับนี้ นอกจากนี้ กฎหมายฉบับนี้จะช่วยให้การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดงาน World Pride ปี 2030 ของไทย มีความเป็นไปได้มากขึ้น
“การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดงาน World Pride นั้น มีเงื่อนไขว่า ประเทศนั้น ๆ จะต้องมีกฎหมายสนับสนุน LGBT บังคับใช้ ซึ่งไทยเราถือว่าก้าวหน้า หากทำได้จริว เม็ดเงินด้านการท่องเที่นวจะเข้าไทยมหาศาล”
กฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
สำหรับกฎหมายฉบับต่อไปที่เกี่ยวข้องและเตรียมเสนอเข้าสู่สภาฯ คือ ร่าง พ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพฯ ที่กำหนดให้บุคคลมีสิทธิในการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมาย มีเสรีภาพในการพัฒนาตนเองให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศสภาพของตน รวมทั้งต้องได้รับการรับรองชื่อตัว ภาพถ่าย และเพศที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศสภาพของตนในเอกสารแสดงตน
ทั้งนี้ปัจจุบัน ภาคประชาชน โดย สมาคมฟ้าสีรุ่งแห่งประเทศไทย สมาคมบุคคลข้ามเพศแห่งประเทศไทย มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกระเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน (Thai TGA) ได้จัดทำร่างเรียบร้อยแล้ว รวบรวมรายชื่อได้มากกว่า 12,000 ราย เช่นเดียวกับร่างกฎหมายดังกล่าวจากกระทรวง พม. และพรรคกก้าวไกลก็พร้อมเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯภายในเดือนมิถุนายนนี้
นอกจากนี้ยังมี พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 หรือ พ.ร.บ. อุ้มบุญ ที่ต้องปรับแก้ให้เปิดกว้างมากกว่าคู่รักชายหญิง ไปจนถึงกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ซึ่งกระทรวงยุติธรรมอยู่ระหว่างจัดทำ เน้นไปที่ 13 กลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก สตรี ผู้พิการ แรงงานข้ามชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ ฯลฯ
“ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องของความเท่าเทียมทางเพศ แต่เป็นความเท่าเทียมทุกบรรทัดฐานของการใช้ชีวิต บนพื้นฐานที่ว่า คนทุกคนเท่ากัน ดังนั้น กฎหมายสมรสเท่าเทียม เป็นเพียงแค่การเริ่มต้นของหลาย ๆ กฎหมายที่จะออกมาต่อจากนี้”