หลังจากที่ได้รับเสียงสะท้อนจากผู้โดยสารเรือ นักท่องเที่ยว รวมไปถึงผู้ประกอบการท่องเที่ยว และเรือทัวร์ เรือโดยสาร ที่เข้ามาใช้ท่าเรือทับละมุ อำเภอท้ายเหมือง ท่าเรือคุระบุรี อำเภอคุระบุรี ท่าเรือน้ำเค็ม อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา มีเสียงสะท้อนจากภาคเอกชน อยากให้ภาครัฐดำเนินก่อสร้างขยายปรับปรุงท่าเรือทับละมุ พังงา ให้มีอาคารที่พักผู้โดยสาร ทั้งผู้โดยสารขาออกและผู้โดยสารขาเข้า มีที่นั่งพักผ่อน ห้องน้ำห้องส้วม ร้านจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าจากชุมชนประมง และสิ่งอำนวยความสะดวกในท่าเรือ
นายเลิศศักดิ์ ปนกลิ่น นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดพังงา เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขอให้ภาครัฐเร่งสำรวจในการก่อสร้างโครงการปรับปรุงขยายท่าเทียบเรือทับละมุ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ จอดเรือของผู้ประกอบการหลากหลาย เช่นเรือประมงพาณิชย์เรือ เรือท่องเที่ยวเรือโดยสาร เรือตกปลา และเรือดำน้ำลึก ซึ่งมีจำนวนมากที่จะพานักท่องเที่ยวไปยังสถานที่ท่องเที่ยวทะเลอันดามัน เที่ยวเกาะสิมิลันซึ่งเป็นจุดไฮไลท์ของการท่องเที่ยวจังหวัดพังงา อีกทั้งมีเรือประมงขนาดเล็กเช่นเรือหางยาว ดังนั้นเพื่อให้มีการจัดระบบการจอดเรือ มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ปลอดภัย สะดวกสบายของผู้โดยสารและนักท่องเที่ยว
จากปัญหาดังกล่าว จึงอยากให้ภาครัฐโดยเฉพาะกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดสร้างท่าเรือโดยด่วน นอกจากนั้น ยังมีท่าเรือที่มีความสำคัญต่อการท่องเที่ยวอีกแห่งคือท่าเรือคุระบุรี ท่าเรือน้ำเค็ม ท่าเรือทั้ง 2 แห่ง สภาพก็ไม่มีความพร้อมที่จะรองรับผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวได้สะดวก สบาย แต่อย่างใด
นายกสมาคมฯ ยังกล่าวอีกว่า สิ่งที่เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวของจังหวัดพังงา คือหน่วยกู้ภัยทางทะเล ซึ่งไม่มีศักยภาพ บ่อยครั้งที่เกิดอุบัติเหตุ แต่การค้นหาผู้ประสบภัยผู้ประสบอุบัติเหตุ การลำเลียงคนเจ็บ ไม่สามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงที ทำให้เกิดปัญหานักท่องเที่ยวที่ประสบอุบัติเหตุ ได้รับบาดเจ็บ หากเข้าไปช่วยช้าอาจจะทำให้บาดเจ็บถึงขั้นสาหัสได้ รวมถึงนักท่องเที่ยวที่เกิดการเจ็บป่วยกะทันหันในระหว่างเดินทางหรือท่องเที่ยว
นายเลิศศักดิ์ กล่าวว่า ภาครัฐต้องมีความชัดเจนกรณีของหน่วยงานศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศร.ชล) ที่เข้ามามีบทบาทโดยทหารเรือมุ่งเน้นเรื่องของความมั่นคงเป็นหลัก แต่ยังไม่ได้ครอบคลุมไปถึงการค้นหากู้ภัย กู้ชีพ ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุทางทะเลอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นอยากจะให้รัฐบาล ออกกฎหมาย ระเบียบและกำหนดเรื่องของการกู้ภัยทางทะเลให้ครอบคลุมพื้นที่ มีประสิทธิภาพ ทันเหตุการณ์อุปกรณ์นำพา เช่นเรือ เฮลิคอปเตอร์ เครื่องบิน ต้องมีความพร้อมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ
รวมทั้งกลุ่มคนไทย ที่ผ่านมาเมื่อเรือท่องเที่ยวเรือโดยสารประสบอุบัติเหตุหรือจมน้ำ กลุ่มผู้ที่ประกอบอาชีพประมง เรือประมง มักจะเป็นคนกลุ่มแรก ที่เข้าไปช่วยเหลือนักท่องเที่ยวที่ลอยคออยู่กลางทะเล หากเมื่อไรไม่มีเรือประมง ทั้งเรือประมง เรือประมงพื้นบ้าน ก็จะไม่พบนักท่องเที่ยวจนอาจทำให้นักท่องเที่ยวเสียชีวิตได้
นายกสมาคมฯ กล่าวว่า ปัจจุบัน ท่าเรือทับละมุ(สะพานปูน) จะมีเรือโดยสาร เรือทัวร์ นำนักท่องเที่ยวไปยัง หมู่เกาะสิมิลัน หมู่เกาะสุรินทร์ ท่าเรือบ้านน้ำเค็ม เป็นเส้นทาง น้ำเค็ม-เกาะคอเขา ท่าเรือคุระบุรี
ส่วนสถานการณ์ท่องเที่ยวพังงา มกราคม ถึง ธันวาคม 2566 อัตราการเข้าพัก มีการเข้าพักเฉลี่ย 61.99% จำนวนห้องพัก 13,935 ห้อง วันพักเฉลี่ย 9.84วัน 2,910,157คน เป็นคนไทย 1,065,590 คน เป็นชาวต่างชาติ 1,844,567คน สัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 63.38% คนไทย 36.62%
รายได้จากผู้มาเยือน 28,494,4.55ล้านบาท เป็นชาวไทย 4,610.6ล้านบาท เป็นชาวต่างชาติ 23,884.0ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อวัน 6,119.28 นักท่องเที่ยว 7,333.63 นักทัศนาจร 2,513.97
นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในจังหวัดพังงา 5 อันดับ เยอรมัน บริติช รัสเซีย ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส บริษัทนำเที่ยวทั้งในและต่างประเทศรวม 342 แห่ง สิ้นปี 2567 คาดหวังรายได้จากการท่องเที่ยว 60,000 ล้านบาท และ สิ้นปี 2568 คาดหวังรายได้จากการท่องเที่ยว 80,000ล้านบาท