นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราขการ (กบข.) เปิดเผยว่า กบข.มั่นใจว่าแนวโน้มผลตอบแทนสมาชิกปีนี้จะทำดีกว่าปีที่แล้วที่ได้ 1.46% โดยผลตอบแทนล่าสุดในช่วง 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.) กบข.ทำได้แล้ว 3% กว่า และคาดว่าจะรักษาทิศทางได้ต่อเนื่อง
“กบข. มุ่งสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่ดีในระยะยาว มากกว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 10 ปี บวก 2% ต่อปี โดยในปี 2567 ตั้งเป้าผลตอบแทนสูงกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 1.46%”
ทั้งนี้ เนื่องจากกองทุนฯ มีการปรับพอร์ตบริหารความเสี่ยงรองรับความไม่แน่นอนด้านต่างๆ ไว้ เช่น มีการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ อย่างทองคำ น้ำมัน ในภาวะที่มีสงครามตะวันออกกลาง และรัสเซีย-ยูเครน
ขณะเดียวกัน ก็มีการลงทุนในตลาดต่างประเทศสัดส่วนที่ 60% และตลาดในประเทศ 40% หลังตลาดต่างประเทศมีผลตอบแทนที่ดีกว่า
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มองว่าสัดส่วนการลงทุนที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่กำหนดให้ลงทุนต่างประเทศไม่เกิน 60% และในประเทศ 40% เป็นสัดส่วนที่เหมาะสมแล้ว ไม่จำเป็นต้องแก้ไขเพิ่ม ส่วนแผนการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล กบข.ยังไม่มีความสนใจในตอนนี้
“การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นเรื่องที่เรายังไม่มีความเข้าใจพอ อีกทั้ง ปัจจุบัน กองทุนฯ ก็สามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความหลากหลายเพียงพออยู่แล้ว ทั้งหุ้น ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ สินทรัพย์อื่นๆ ฉะนั้น จึงยังไม่มีความสนใจในสินทรัพย์ดังกล่าว”
ขณะเดียวกัน กบข. อยู่ระหว่างศึกษาการสร้างที่อยู่อาศัยหลังเกษียณ (Retirement Complex) เพื่อเพิ่มทางเลือกในการรับผลตอบแทนรูปแบบอื่นให้กับสมาชิก โดยจะหาผู้ร่วมลงทุนที่สนใจพัฒนาอาคารอยู่อาศัยสำหรับวัยเกษียณที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นของกลุ่มประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาทางเลือกผลตอบแทนด้านอื่นๆ อาทิ การรับเงินปันผลระหว่างทาง ทางเลือกในการออมเพิ่ม รับสิทธ์ในการรับบริการ เช่น การรักษาพยาบาลส่วนเพิ่ม โดยจะมีการศึกษาความเป็นไปได้และอาจต้องมีการปรับปรุงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในปีนี้
ขณะเดียวกัน กบข. จะมีการทบทวนความเพียงพอของเงิน ณ วันเกษียณ โดยเพิ่มตัวแปรหนี้สิน การมีอายุยืนยาวของคนไทย และระดับความเพียงพอของสมาชิกแต่ละกลุ่มอาชีพเข้ามาศึกษาเพิ่มเติม เพื่อให้ระดับความเพียงพอมีค่าเป็นปัจจุบันมากที่สุด และนำผลศึกษามาปรับปรุงแผนการจัดสรรการลงทุนของ กบข.
อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานในช่วงปี 67-69 นี้ ยังต้องติดตามปัจจัยที่จะเข้ามากระทบการลงทุน ซึ่งมี 3 ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ 1.ผลการเลือกตั้งและนโยบายในหลายประเทศ โดยเฉพาะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และแนวนโยบายการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน 2.ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ ระหว่างรัสเซีย-ยูเครน, อิสราเอล-อิหร่าน และ 3.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง
ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศที่ต้องจับตา ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยที่คงอยู่ในระดับสูงในช่วงที่ผ่านมา จะลดทอนความสามารถในการใช้จ่ายภาคครัวเรือนลดลง เงินเฟ้อปรับตัวลดลงแบบชะลอตัวและยังคงสูงกว่าเป้าหมายระยะยาวของธนาคารกลาง ส่วนเศรษฐกิจไทย ยังต้องติดตามการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งนี้ มีความเชื่อมั่นในการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว และการกดดันด้านเงินเฟ้อลดลง