หนี้สาธารณะ ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องกำลังกลายเป็นประเด็นท้าทายสำคัญที่รัฐบาลไทยต้องเผชิญ เมื่อล่าสุด คณะรัฐมนตรีได้ปรับแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2571) ฉบับทบทวนครั้งที่ 2 โดยคาดการณ์ว่าหนี้สาธารณะของไทยจะทะยานแตะระดับ 68.9% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในปี 2570
การพุ่งสูงขึ้นของตัวเลขหนี้สาธารณะในระดับใกล้เคียง 70% ของ GDP นับเป็นสัญญาณเตือนเรื่องภาระหนี้ที่อาจกลายเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ เป็นความท้าทายและภาระกดดันต่อรัฐบาลที่ต้องบริหารจัดการให้สอดคล้องกับกรอบวินัยทางการคลัง
สาเหตุหลักที่ทำให้หนี้สาธารณะพุ่งสูงขึ้นนั้น มาจากการที่รัฐบาลได้เพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 โดยจัดสรรเพิ่มเติมเพื่อนำมาใช้ในการดำเนิน โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งถือเป็นหนึ่งในนโยบายเศรษฐกิจเด่นและผลักดันให้ประเทศก้าวสู่ยุคดิจิทัลมากขึ้น ถึงอย่างนั้นการขยายงบประมาณเพื่อรองรับโครงการดังกล่าวกลับเป็นการบั่นทอนความสามารถในการชำระหนี้สาธารณะ
นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) โดยกล่าวกับ ฐานเศรษฐกิจ ว่า จากการคาดการณ์ว่าหนี้สาธารณะของไทยจะแตะระดับ 68.9% ในปี 2570 น่ากังวลใจเพราะเพดานหนี้สาธารณะตามกฏหมายอยู่ที่ 70% หมายความว่าส่วนต่างที่เหลือจะมีไม่มากนัก
“ส่วนต่างเหล่านี้เปรียบเสมือนเครดิตที่ควรเอาไว้กู้มาใช้ยามเกิดวิกฤติ แม้ว่าเพดานนี้จะสามารถขยายออกไปได้ แต่การมีหนี้ที่สูงแปลว่าเราต้องจ่ายดอกเบี้ยของเงินที่กู้มาสูงตามไปด้วย จึงเสียโอกาสที่จะเอาเงินส่วนนี้มาพัฒนาประเทศ”
ส่วนแผนระยะกลางทางการคลัง มีเป้าหมายคือ การลดระดับหนี้สาธารณะลง เพื่อให้ฐานะการคลังมีเสถียรภาพ แต่แผนใหม่นี้ คือ การยืดเวลาการลดหนี้ออกไปอีก เรียกได้ว่าเป็นการเน้นกระตุ้นในระยะสั้น ปรับแผนระยะปานกลางในการกลับคืนสู่สมดุลให้ยาวนานขึ้น ทำให้เสถียรภาพทางการคลังในระยะปานกลางแย่ลง
สิ่งที่น่ากังวลใจคือ การกระทำในลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะรัฐบาลนี้แต่เกิดขึ้นบ่อยมากในช่วงหลังที่เราเสียความน่าเชื่อถือทางการคลัง
“ผลที่ตามมา เบาๆ ก็แค่ดอกเบี้ยที่ภาครัฐจ่ายเพื่อกู้เงินมาใช้จะแพงขึ้น แต่ถ้าใช้เงินแบบไม่มีความรับผิดชอบมากๆ ก็เสี่ยงที่ต่างชาติจะไม่เชื่อมั่นในเศรษฐกิจ ไม่เชื่อมั่นในเงินบาท ที่นี้จะยุ่งกันใหญ่”
นอกจากนี้ยังมีความเห็นว่า รัฐบาลควรมีแนวทางและมาตรการลดการกระตุ้นระยะสั้น เร่งวางแผนปรับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว วางแผนลดรายจ่ายภาครัฐ ปฏิรูประบบภาษี วางเป้าหมายลดระดับหนี้สาธารณะในระยะยาวให้กลับมาต่ำกว่า 60% เพื่อบริหารจัดการหนี้สาธารณะให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
นักวิชาการ TDRI เสนอมุมมองที่จะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการหนี้สาธารณะของประเทศไทย โดยระบุว่าต้องการเห็นการปฏิรูปรายจ่ายภาครัฐ ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ลดคน ใช้เทคโนโลยี ลดกฏระเบียบ รวมทั้งไทยจำเป็นต้องมี การปฏิรูปเชิงโครงสร้าง ทำอย่างไรที่คนไทยจะผลิตสินค้าและบริการที่โลกต้องการ โดยเเนะนำว่าจำเป็นต้องเกาะกระแสโลกให้ได้ ความต้องการสินค้าและบริการในโลกที่คาดว่าน่าจะเป็นธีม เช่น สังคมผู้สูงวัย (silver economy), เศรษฐกิจสีเขียว, พลังงานสะอาด, ท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ฯลฯ
“ต้องพัฒนาตอบโจทย์ให้ทันโลก คือ มีคนไทยเข้าไปร่วมเป็นธุรกิจที่ผลิตสินค้า เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วน เป็นแรงงานทักษะ เป็นนักวิจัยและพัฒนา”