เปิดมาตรการป้องกัน "โรงงานปิดกิจการ" ระยะเร่งด่วน-ยาวกระทรวงอุตสาหกรรม

27 มิ.ย. 2567 | 00:19 น.
อัปเดตล่าสุด :27 มิ.ย. 2567 | 02:02 น.

เปิดมาตรการป้องกัน "โรงงานปิดกิจการ" ระยะเร่งด่วน-ยาวกระทรวงอุตสาหกรรม ยันภาพรวมการดำเนินกิจการโรงงานในปัจจุบันยังคงขยายตัว ระบุห้ความสำคัญกับความอยู่รอดของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs 

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในภาพรวมการดำเนินกิจการโรงงานในปัจจุบันยังคงขยายตัว โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้ความสำคัญกับความอยู่รอดของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs 

ทั้งนี้ จึงสั่งการให้กำหนดมาตรการเพื่อช่วยขับเคลื่อนให้ภาคอุตสาหกรรมเติบโตและแข่งขันได้มากขึ้น โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิต ผู้จัดหาวัตถุดิบ หรือผู้กระจายสินค้า ซึ่งแบ่งออกเป็น มาตรการเร่งด่วน ระยะสั้น ประกอบด้วย

  • เข้มงวดเรื่องการตรวจสินค้านำเข้าที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยมุ่งเน้นตรวจสอบสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของประชาชน และดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบมาตรฐานของสินค้าให้เป็นไปตามข้อกำหนดของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
  • พัฒนาสมรรถนะแรงงานด้านเทคโนโลยีการผลิต โดยเน้นการจัดการสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยภาคอุตสาหกรรม การจัดการตามมาตรฐานสากล เพื่อให้มีศักยภาพรองรับการปรับตัวสู่เศรษฐกิจยุคใหม่

เปิดมาตรการป้องกัน "โรงงานกิจการ" ระยะเร่งด่วน-สั้น-ยาวกระทรวงอุตสาหกรรม

  • กระตุ้นตลาดในประเทศ โดยจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อออกมาตรการกระตุ้นการซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในประเทศ เช่น ผู้บริโภคสามารถนำค่าใช้จ่ายมาใช้ในการลดหย่อนภาษี และการสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถเข้าถึงระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
  • สนับสนุนเงินทุน เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องของภาคอุตสาหกรรม เช่น เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อ SMEs โดย SME D Bank

ส่วนมาตรการระยะยาวเป็นการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม ได้แก่
 

  • ปรับอุตสาหกรรมให้ตอบโจทย์ต้องการของโลก (S-Curve) มุ่งสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยี เช่น Smart Electronics, Next-Generation Automotive, Future Food
  • สร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่โลกต้องการปรับเปลี่ยนสู่อุตสาหกรรมบริการตามเทรนด์โลก เช่น Circular for The Future, Innovative Construction                  
  • พัฒนาปัจจัยแวดล้อมที่เอื้ออำนวย เช่น การแก้ไขปัญหาอุปสรรคเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจการพัฒนาทักษะแรงงานที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด การใช้ประโยชน์จากกรอบเจรจาต่าง ๆ การหา/ขยายตลาดใหม่
  • Green Productivity เพิ่มผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรม สร้างความเข้มแข็งควบคู่ไปกับความยั่งยืน 
  • ส่งเสริมการลงทุน โดยจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และสนับสนุนให้เกิดการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง

“กระทรวงฯให้ความสำคัญกับการดูแล SMEs ให้อยู่รอดและเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ที่แข็งแรง สามารถแข่งขันได้ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมเป็นหลักสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภายใต้สังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อให้คุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนดีขึ้น และเพื่อให้ประเทศพัฒนาอย่างยั่งยืน”