นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เปิดเผยว่า ดีพร้อม ได้ดำเนินการร่วมกับสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ยกระดับเกษตรกรด้วยเกษตรอุตสาหกรรม ผ่านเครือข่ายความร่วมมือ (DIPROM CONNECTION) ด้วยการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพการแปรรูป เพิ่มผลิตภาพให้กับพืชเศรษฐกิจและผลไม้
รวมถึงนำนวัตกรรม และองค์ความรู้เข้ามายกระดับสินค้าเกษตร โดยเน้น โกโก้ ไผ่ สมุนไพร ชีวมวล ในระยะแรก และพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ในอนาคต และการส่งเสริมการนำวัสดุเหลือทิ้งจากภาคการเกษตรมาใช้เป็นพลังงานทดแทน เพื่อเข้าสู่การใช้พลังงานสะอาดและความเป็นกลางทางคาร์บอน
นอกจากนี้ ยังมีการผลักดันการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวทางลดการปล่อยคาร์บอนสู่สิ่งแวดล้อม เพื่อให้ท้องถิ่นเติบโต มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน โดยเชื่อว่าจะสามารถยกระดับรายได้ให้กับชุมชนเกษตรกรทั่วประเทศได้มากกว่า 8 พันล้านบาท
ทั้งนี้ ดีพร้อมดำเนินนโยบาย RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต ในกลยุทธ์การพัฒนาเชิงพื้นที่ (RESHAPE the Area) มาประยุกต์ใช้ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ให้กับสินค้าและบริการในกลุ่มเกษตรอุตสาหกรรม สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการและชุมชนมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทาน และพัฒนาชุมชนแบบองค์รวมที่ครอบคลุมทั้งชุมชนด้วยการบูรณาการเครือข่ายความร่วมมือ (DIPROM CONNECTION) ผ่านการร่วมมือดังกล่าว
นอกจากนี้ ดีพร้อมยังเข้าไปร่วมบริหารจัดการกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรในด้านการแปรรูปสินค้า ตั้งแต่การบริหารจัดการด้านวัตถุดิบ เทคโนโลยีการผลิต การควบคุมคุณภาพ การตรวจวัดมาตรฐาน ไปจนถึงการจัดหาตลาดทั้งในประเทศ ต่างประเทศ ผ่านระบบออนไลน์ และออฟไลน์ผ่านเครือข่ายพันธมิตรทั่วประเทศ
รวมทั้งขยายความร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อให้เกษตรอุตสาหกรรมของชุมชน ผลิตสินค้าได้ตรงกับความต้องการ สร้างระบบนิเวศด้านการเกษตรอย่างครบวงจร ซึ่งจะทำให้ภาคการเกษตรของไทยเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น การนำผู้ประกอบการกลุ่มโก้โก้เข้าร่วมงาน Craft Cocoa Village กับบริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าที่รวบรวมผู้ประกอบการตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทั้งเกษตรกรผู้ปลูกโกโก้จากทั่วประเทศ, Processor และผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์โกโก้ทุกรูปแบบ
นายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า แผนการยกระดับชุมชนเกษตรกรไปสู่การเป็นเกษตรอุตสาหกรรม เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของสภาเกษตรกรแห่งชาติ โดยความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยชุมชนเกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ และผลิตสินค้าได้ตรงกับความต้องการของตลาดทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยให้แผนการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมเดินหน้าไปสู่เป้าหมายได้เร็วขึ้น
"สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ จะเข้าไปสนับสนุนในด้านการสำรวจความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อให้การพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมตรงกับความต้องการของคนพื้นที่ สอดคล้องกับศักยภาพและจุดเด่นของท้องถิ่น รวมทั้งการสร้างกลุ่มเครือข่ายเกษตรกร เพื่อรวบรวมผลผลิตมาแปรรูป และกระจายรายได้อย่างทั่วถึง"