นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ปัญหาเรื่องหนี้ในเศรษฐกิจไทยยังเป็นเรื่องหลัก โดยมี 3 กลุ่ม ได้แก่ หนี้ครัวเรือน ปัจจุบันมีหนี้ที่ไม่ได้ก่อให้เกิเรายได้ (NPL) สูง 1.5 ล้านล้านบาท เติบโตจากเดือนเม.ย.67 ต่อมาคือ หนี้ภาคธุรกิจ มี NPL สูง 3.9 แสนล้านบาท ขยายตัวขึ้นมา 2.9% และหนี้ของภาครัฐ 11.6 ล้านล้านบาท คิดเป็น 64.3% ต่อจีดีพี
สำหรับหนี้เสียที่น่าเป็นห่วง คือ ภาคครัวเรือน ในส่วนของรถยนต์เป็นหนี้เสียกว่า 2.5 แสนล้านบาท โดยขณะนี้รัฐบาลพยายามเข้าไปช่วยแก้ปัญหา ในส่วนของรถที่มีการถูกยึด หรือผ่อนต่อไม่ไหว ให้ผู้ที่มีความต้องการว่าจะนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร
โดยรัฐบาลจะหามาตรการสนับสนุนเข้ามาช่วย เช่น การลดหนี้เสีย และนำรถยนต์ที่ถูกยึดไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังเปิดเผยรายละเอียดไม่ได้ เพราะอยู่ในขั้นตอนจัดทำมาตรการอยู่
ขณะที่ยอดขายที่ลดลง ทั้งรถยนต์ และมอร์เตอร์ไซค์ ยอมรับว่าน่าเป็นห่วง แต่ก็เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลจะยังไม่ได้เข้าไปดูแล
ส่วนการแก้ปัญหาหนี้เสียบัตรเครดิตที่มีมูลหนี้ 6.8 หมื่นล้านบาท และสินเชื่ออุปโภคบริโภค 2.8 แสนล้านบาท อยู่ระหว่างดำเนินการผ่านคลินิคแก้หนี้ โดยเปิดให้ประชาชนรวมหนี้ แล้วมาผ่อนจ่ายดอกเบี้ยต่ำ 3% นาน 5 ปี ด้านหนี้เสียบ้าน มูลหนี้ 2.2 แสนล้านบาท ก็ให้สถาบันการเงินเข้ามาช่วยดู เช่น ปรับโครงการสร้างหนี้ ขยายเวลาชำระเงินงวดเป็น 80-85 ปี
นายพิชัย กล่าวว่า นอกจากการแก้หนี้แล้ว รัฐบาลยังเน้นการลงทุน ด้วยการดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศ โดยตั้งเป้าหมายว่า 3 ปี (2566-2568) จะมีเม็ดเงินลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เกิดขึ้นจริง 1.68 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะในปี 2568 คาดมีเงินลงทุนสูงถึง 6.38 แสนล้านบาท มาจากกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ รองลงมา คือ กลุ่มเกษตรอาหาร และอุตสาหกรรมยานยนต์
ทั้งนี้ ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 2.5% โดยส่วนตัวมองว่าไม่ได้อยู่ในระดับสูงเกินไป แต่ไม่สามารถส่งสัญญาณลบได้ ทั้งนี้ จะพบว่าที่ผ่านมา เงินทุนต่างชาติไหลเข้า เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง ทำให้เงินบาทไทยแข็งค่าขึ้น ส่วนนี้เป็นเรื่องที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องพิจารณาว่าจะต้องดำเนินการอะไรบางอย่าง
“ช่วงหลังจากสถานการณ์โควิดได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากเราปรับให้สอดคล้องดอกเบี้ยนโยบายต่างประเทศ ก็จะเป็นการส่งสัญญาณลดอัตราดอกเบี้ยลงเหมือนกับชาวโลก ยอมรับว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศเล็กๆ ของโลกใบนี้ ฉะนั้น เราต้องสอดส่องสถานการณ์โลก มากกว่าสถานการณ์ในไทย จะต้องมีการถ่วงน้ำหนัก”
นอกจากนี้ มองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2.5% นำไปสู่การคำนวณส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยต้นทุนเงินฝากและเงินกู้ (NIM) โดยต้นทุนของสถาบันการเงินปล่อยกู้รายใหญ่ 3% ต้นทุนแบงก์เพียง 1% กว่า ขณะที่การปล่อยกู้รายย่อย การคิดอัตราคิดเบี้ย MLR อยู่ที่กว่า 6-7% ฉะนั้น มี NIM ทั้ง 2 ส่วนที่ผสมอยู่ในสถาบันการเงิน โดย NIM คำนวณจากต้นทุนของแบงก์ รวมด้วยการตั้งสำรองหนี้สูญ หากแบงก์สำรองสูง ต้นทุนก็จะแพง อย่างไรก็ตาม สถาบันการเงินยังเข้มแข็ง แต่รายย่อยยังเข้าถึงเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยสูง