บริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด ธุรกิจขายตรงสัญชาติอเมริกันที่เริ่มดำเนินธุรกิจในไทยตั้งแต่ปี 2530 นับจนถึงวันนี้ก็ร่วม 37 ปีแล้ว โดยความท้าทายธุรกิจ Network Marketing คือ การปรับภาพลักษณ์ให้เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ซึ่งช่วงการระบาดของโควิด19 “แอมเวย์” ได้ปรับ Business Model เข้าสู่ธุรกิจดิจิทัลมากขึ้น ประกอบกับความโดดเด่นของสินค้า ทำให้ยอดธุรกิจปี 2562 พุ่งสู่ระดับ 2 หมื่นล้านบาทต่อปี
“ทศพร นิษฐานนท์” ถูกแต่งตั้งโดยแอมเวย์ โกลบอล ให้เป็นแม่ทัพคนใหม่ ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการเมื่อปี 2566 ซึ่งนับเป็นความท้าทายไม่ใช่น้อย จากที่คร่ำหวอดในวงการไอที เทคโนโลยี แต่ต้องข้ามห้วยมาทำงานในธุรกิจสายขายตรง ที่ไม่คุ้นเคยมากนัก
“ทศพร” จบการศึกษาจาก คณะมนุษยศาสตร์ ภาควิชาวรรณคดี สาขาวิชาเอกวรรณคดีไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก่อนที่จะเริ่มทำงานในบริษัทอีคอมเมิร์ซแห่งหนึ่ง ซึ่งถือเป็นการทำงานที่ไม่ตรงสายอย่างสิ้นเชิง ก่อนที่จะไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
ต่อมา “ทศพร” ได้มีโอกาสทำงานสายไอที เทคโนโลยี เป็นเวลา 25 ปี ทั้งในหมวดธุรกิจโทรศัพท์มือถือ เทเลคอม และอีคอมเมิร์ซ เคยร่วมงานกับ “ซัมซุง ประเทศไทย” ถึง 12 ปี ได้ทำงานสายกลยุทธ์ พัฒนาธุรกิจ ทั้งในประเทศไทย ภูมิภาคอาเซียน และโอเชียเนีย สามารถปั้นธุรกิจมือถือของซัมซุงขึ้นมาเป็นผู้นำเบอร์ 1 ในตลาดสมาร์ทโฟนในไทยได้
ก่อนที่จะไปหาความท้าทายใหม่กับ “หัวเว่ย คอนซูมเมอร์” ในยุคบุกเบิกสมาร์ทโฟนเป็นเวลา 3 ปี สร้างผลงานเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดขึ้นเป็นอันดับเบอร์ 2 ในตลาดสมาร์ทโฟนรองจากซัมซุง และเป็นผู้บริหารระดับสูงคนไทยคนแรกของหัวเว่ย จากนั้นก็ได้ย้ายไปร่วมงานกับ บมจ. ซินเน็ค (ประเทศไทย) ในตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ก่อนที่จะย้ายข้ามห้วยมา “แอมเวย์”
“ผมเป็นคนหนึ่งที่เปลี่ยนตำแหน่งงานมามากว่า 10 ตำแหน่งในช่วงเวลาไม่กี่ปี ดังนั้นจึงพร้อมเรียนรู้และออกจาก Comfort Zone ได้เสมอ ประกอบผมอยากร่วมงานกับธุรกิจกลุ่ม FMCG อยู่แล้ว และแอมเวย์ทำธุรกิจสุขภาพรวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีนวัตกรรม ซึ่งเป็นเทรนด์ของโลก ขณะที่แอมเวย์เองก็กำลังมองหาผู้บริหารสายเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนผ่านธุรกิจเช่นกัน”
ตำแหน่งแรกของ“ทศพร” คือ General Manager เป็นเวลาราว 2 ปี จึงเป็นช่วงที่ต้องเรียนรู้อย่างเข้มข้น เพื่อทำความเข้าใจธรรมชาติ และวัฒนธรรมขององค์กรและธุรกิจว่า “แอมเวย์” ทำงานอย่างไร และจะสามารถเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใดได้บ้าง
“ธุรกิจที่นี่เป็นธุรกิจเกี่ยวกับผู้คน ต้องมีความละเอียดอ่อน แอมเวย์ ซึ่งกำลังจะเข้าสู่ S-Curve ครั้งที่ 5 สุดท้าย สิ่งที่ต้องทำคือการคงคุณค่าของธุรกิจ ได้แก่ ความสวยงามของธุรกิจ ความเสมอภาคที่ใครเข้ามาทำก็สำเร็จได้ แต่วิธีการต้องเปลี่ยนไปตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป"
ขณะที่กลยุทธ์การทำธุรกิจของ “แอมเวย์” เน้นเข้าถึงตลาดออนไลน์มากขึ้น ด้วยการสร้างคอมมูนิตี้ “Amway Creators” สร้างสรรค์คอนเทนต์บน Social Media และการปั้นให้นักธุรกิจแอมเวย์สร้างคอนเทนต์เพื่อดึงดูดให้มากขึ้น ควบคู่ไปกับการออกเครื่องมือช่วยเหลือให้การซื้อสินค้าและบริการของ ‘แอมเวย์’ สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น จนทำให้ยอดการสั่งซื้อกว่าครึ่ง อยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์แล้ว
สินค้าหลักของ “แอมเวย์” ในยุคแรกเริ่ม จะเน้นไปที่สินค้า Home Care และ Peronal Care แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปก็ได้นำเสนอสินค้าใหม่ ๆ โดยเฉพาะหมวดหมู่ Health & Wellness Solution ทำให้สัดส่วนยอดขายปรับเปลี่ยนไปจากยุคเริ่มแรก
ดังนั้น “แอมเวย์” ในยุคของ “ทศพร” จะเป็นการต่อยอดความสำเร็จจากตลาดสุขภาพเดิม สู่การสร้างสังคมที่นอกจากจะช่วยให้สุขภาพกายที่ดีแล้ว ยังสร้างสุขภาพจิตที่ดี ไปจนถึงสุขภาพการเงินที่ดี สามารถดึงผู้คนมากมาย หลากหลายอาชีพเข้ามาอยู่ร่วมกัน เพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย
“ในแอมเวย์ จะมีการสร้างคอมมูนิตี้มากขึ้น หรือที่เรียกว่า เซ็นเตอร์ ที่นักธุรกิจเข้ามาอยู่ร่วมกัน ให้ความรู้ พัฒนา Soft Skill และทักษะการทำธุรกิจ ในปัจจุบัน คอมมูนิตี้เริ่มสนุกขึ้นเรื่อย ๆ คนรุ่นใหม่เข้ามาเรียนรู้มากขึ้น โดยเฉพาะ GenY และ Z สามารถแยก Passion Point ตามสไตล์ของแต่ละเซ็นเตอร์” นายทศพรกล่าว
นอกจากนี้ เพื่อให้นโยบายดังกล่าวทั้งหมดสามารถปฏิบัติได้จริง ต้องเริ่มจากภายในองค์กรก่อน “ทศพร” จึงเข้าโปรแกรมดูแลน้ำหนักและสุขภาพ ภายใต้คอนเซ็ป “อายยุยืนร้อยปี” จากนั้นขยายสู่พนักงานภายในบริษัททุกคน เริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับนักธุรกิจและสมาชิกจะเข้ามา
“แอมเวย์” โลก กำลังจะครบรอบ 70 ปี ในปี 2572 ซึ่งเหลือเวลาอีกไม่ถึง 5 ปีต่อจากนี้ จึงตั้งเป้ารายได้ทั้งหมดไว้ที่ 30,000 ล้านบาทต่อปีหรือคิดเป็นการเติบโตราว 50% จากปัจจุบัน และยังตั้งเป้าช่วยให้ผู้คนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งสุขภาพกายที่ดี สุขภาพใจที่ดี (Health Span) ซึ่งถือเป็นพันธกิจหลักต่อจากนี้