เปิดไทม์ไลน์ตั้งรัฐบาลใหม่ จ่อปรับใหญ่ทีมเศรษฐกิจ

15 ส.ค. 2567 | 13:31 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ส.ค. 2567 | 14:02 น.

ไทม์ไลน์ตั้งรัฐบาลใหม่หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “เศรษฐา” พ้นตำแหน่ง คาดใช้เวลา 3 สัปดาห์ เห็นโฉม ครม.ใหม่ จ่อปรับใหญ่ทีมเศรษฐกิจ พรรคร่วมรัฐบาลเริ่มต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีรอบสอง

เอฟเฟ็กต์จากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เนื่องจากแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี ส่งผลให้คณะรัฐมนตรี “พ้นทั้งคณะ”

เปิดไทม์ไลน์ตั้งรัฐบาลใหม่ จ่อปรับใหญ่ทีมเศรษฐกิจ

นับจากวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยให้นายเศรษฐา ตกจากอี้นายกรัฐมนตรี เหลือเพียง “ครม.รักษาการ” ที่ต้องบริหารราชการแผ่นดินไปพลางก่อนอย่างน้อย 3 สัปดาห์

วิษณุ เครืองาม ในฐานะได้รับมอบหมายจากนายภูมิธรรม เวชยชัย “ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี” ชี้แจงใน “ครม.รักษาการ” ว่า

การอนุมัติงบประมาณเรื่องเร่งด่วน-จำเป็นสามารถดำเนินการต่อไปได้ เช่น โครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต และมาตรการแก้ไขปลาหมอคางดำ 

ส่วนการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงที่กำลังจะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2567 สามารถแต่งตั้งได้ตามปกติ ที่แต่งตั้งไปแล้วก็สามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯได้ต่อไป รวมถึงร่างกฎหมายที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เป็นไปตามขั้นตอน

สำหรับไทม์ไลน์การได้ตัวนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ “สรวงศ์ เทียนทอง” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ปักหมุดไว้ภายใน 2-3 สัปดาห์ 

โดยจะเริ่มนับ 1 ในวันที่ 16 สิงหาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรจะลงมติให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งไม่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 

รวมถึงต้องมีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มี สส.25 คนขึ้นไป โดยที่ประชุมสภาจะต้องลงคะแนนโดยเปิดเผย-ขานชื่อทีละคน และต้องได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบ “มากกว่ากึ่งหนึ่ง” ของจำนวน สส.ทั้งหมด หรือ อย่างน้อย 247 เสียง

ชื่อนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 เกิดหักหลบ-เลี้ยวเข้าซอยจรัญสนิทวงศ์ 71 หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5 ต่อ 4 จบเส้นทางการเมืองของนายเศรษฐา บนเก้าอี้นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ไว้ที่ 358 วัน

หลังจากแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเดิม 3 พรรค พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ตบเท้าเข้า “บ้านจันทร์ส่องหล้า” ในช่วงเกือบพลบค่ำ 

พร้อมกับชื่อของ “ชัยเกษม นิติสิริ” 1 ในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย แพร่สะพัดออกมาจากบ้านพัก “อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23” ว่าจะได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 

ทว่าเพียงข้ามคืนเดียว ชื่อของนายชัยเกษมก็โดนวงประชุม สส.-กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยตีตก

พร้อมกับการชู-เชิด-ชื่อ “แพทองธาร ชินวัตร” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย-แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีตัวจริง 

เปิดไทม์ไลน์ตั้งรัฐบาลใหม่ จ่อปรับใหญ่ทีมเศรษฐกิจ

ตกเย็นของวันที่ 15 สิงหาคม 2567 พรรคเพื่อไทยจะเปิด “ตึกชินวัตร” แถลงข่าวพร้อมกับหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค “ว่าที่พรรคร่วมรัฐบาล” แถลงข่าวต่อหน้ากองทัพสื่อมวลชนเสนอชื่อ “แพทองธาร ชินวัตร” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อในสภาผู้แทนราษฎร

สำหรับไทม์ไลน์เลือกนายกรัฐมนตรีและการฟอร์ม “ครม.แพทองธาร1” โดยการประชุมสภาผู้แทนราษฏรจะเสนอชื่อ “แพทองธาร ชินวัตร” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทยเพียงชื่อเดียวในวันที่ 16 สิงหาคม 2567  

จากนั้น 1-2 วัน ประธานสภาผู้แทนราษฎรลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี โดยคาดว่าจะใช้เวลา จัดตั้ง “ครม.แพทองธาร1” ประกอบกับสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะต้องมีเวลาในการตรวจสอบคุณสมบัติ 1-2 สัปดาห์

ช่วง 1-2 สัปดาห์จะมีการต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีเกิดขึ้นอีก “ระลอกสอง” หลังจากมี “สัญญาใจ” กันในการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อไทยเทคสอง-รอบแรกในบ้านจันทร์ส่องหล้า ให้ยึดโควตาตำแหน่งรัฐมนตรีเดิมในช่วงรัฐบาลเศรษฐา 

ทว่า “อำนาจการต่อรอง” ในรอบที่สองจะตกอยู่ในมือของ “นายกรัฐมนตรีตัวจริง” ไม่เหมือนกับการต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีในรอบแรก-ก่อนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

โดยในส่วนของพรรคเพื่อไทยคาดว่าจะเป็นการ “ปรับใหญ่” ทีมเศรษฐกิจอดีตรัฐมนตรี “สายตรงเศรษฐา” จะหลุดจากตำแหน่งรัฐมนตรีใน “ครม.แพทองธาร 1” ทั้งหมด 

ทั้งนายจักรพงษ์ แสงมณี-น.ส.จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะ “พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง 

ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลอื่น ๆ อาทิ พรรคพลังประชารัฐ คนที่มีอำนาจรับผิดชอบในจัดโผโควตา “รัฐมนตรีบ้านป่า” ใน “ทางนิตินัยของพรรคมีอยู่ 3 คน

หนึ่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค สอง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค และ สาม สันติ พร้อมพัฒน์ รองหัวหน้าพรรคคนที่ 1 แต่ในทาง “พฤตินัย” อาจจะเหลือเพียง 2 คนในการสแกนประวัติ  

ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ ณ วันก่อนโหวต “ว่านายกรัฐมนตรีเพื่อไทย” โควตาเก้าอี้รัฐมนตรียังเหมือนเดิม คือ 1 เก้าอี้รองนายกรัฐมนตรี 1 รัฐมนตรีว่าการ 2 รัฐมนตรีช่วยว่าการ โดยเฉพาะ “กระทรวงขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า” ที่เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม 

สำหรับพรรคที่ต้องจับตามากที่สุด เพราะเป็น “พรรคตัวแปร” คือ “พรรค70เสียง” พรรคที่มีอำนาจต่อรองมากที่สุด อย่างพรรคภูมิใจไทย ที่รอจังหวะต่อรองเก้าอี้กระทรวงใหญ่เกรดเอ อย่างกระทรวงคมนาคม เพื่อสานต่อบิ๊กโปรเจ็กต์ ถนน-ราง-น้ำ 

รวมถึงกระทรวงสาธารณสุข ที่มีนโยบายกัญชาของพรรคภูมิใจไทยเป็นเดิมพัน 

หลังจากจัดโผครม.ลงตัว-สะเด็ดน้ำ ครบทุกตำแหน่งแล้ว นายกรัฐมนตรีจะนำรายชื่อ “ครม.แพทองธาร1” นำขึ้นทูลเกล้าฯ

ขั้นตอนต่อไปคือ นายกรัฐมนตรีและครม.จะเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่

“ครม.แพทองธาร 1” ยังไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ จนกกว่าจะแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ถวายสัตย์ ฯ

เป็น 15 วันอันตราย ที่จะชี้ขาด “นโยบายเรือธง” ของพรรคเพื่อไทย ทั้งโครงการ “เงินดิจิทัลวอลเล็ต” อภิมหาโปรเจ็กต์อย่างแลนด์บริดจ์ ที่มีมูลการลงทุนถึง 1 ล้านล้าน

รวมถึงพิมพ์เขียว Entertainment complex แสนล้านที่ยังเป็นวุ้นอยู่ในเว็บไซต์รับฟังความคิดเห็น ว่าจะเดินหน้าไปต่อหรือพับเก็บใส่ลิ้นชัก