ทั้งนี้จากสินค้าจีนที่เข้ามาบุกตลาดทุกช่องทาง ผู้ประกอบการไทยแข่งขันยากขึ้น จากต้นทุนสูงกว่า หลายรายประกาศปิดโรงงานล่าสุดสินค้าจีน-ทุนจีนยังลามกระทบธุรกิจอื่น ๆ ในไทยต่อเนื่อง ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญประเทศจีน ถึงข้อกังวลพร้อมข้อเสนอแนะรัฐบาลใหม่ให้ดูแลใกล้ชิดเป็นวาระเร่งด่วน
รศ.ดร.สมภพ กล่าวว่า ภาพรวมการเมืองไทยในเวลานี้ การเปลี่ยนแปลงตัวนายกรัฐมนตรีคงไม่มีอะไรมากเพราะที่ผ่านมาประเทศไทยเกิดกีฬาสีมาแล้ว ทั้งปิดถนน ปิดรถไฟฟ้า และเกิดวิกฤตการเมืองมาหลายรอบ แต่หน่วยงานที่ดูแลด้านต่าง ๆ ยังทำงานต่อไป เช่น บีโอไอที่ดูแลนโยบายการลงทุนก็ยังทำต่อ
แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงและรัฐบาลจะต้องเร่งลงมาดูแลควบคุมกลุ่มคนระดับกลางไปถึงฐานราก รวมถึงกลุ่มธุรกิจไทยขนาดกลางหรือเอสเอ็มอี เพราะมีสิ่งที่น่ากังวลมากเมื่อกลุ่มธุรกิจจีนรุกเข้ามาในไทย ทั้งในรูปแบบการเข้ามาลงทุน และค้าขายผ่านออนไลน์ ถ้าไม่มีการบริหารจัดการที่ดี จะเกิดผลกระทบได้ทั้งด้านบวกและด้านลบ เหมือนเหรียญมีสองด้าน ต้องบริหารจัดการให้พอดี ๆ เพราะเราไปกีดกันมากก็ไม่ได้
ดังนั้นทั้งรัฐบาลไทยและจีนจะต้องร่วมมือกันอย่าให้กระแสบานปลายไปสู่ความขัดแย้งกัน และดูแลให้ไปสู่ความเข้าใจอันดีอย่าให้กลายเป็นเรื่องเกลียดชัง และให้เป็นวาระเร่งด่วนเพราะเป็นเรื่องเกี่ยวโยงกับปากท้องประชาชนและเอสเอ็มอีจำนวนมาก
“เวลานี้สินค้าที่ผลิตจากจีนมุ่งกระจายไปยังประเทศที่กำลังพัฒนาแทนซึ่งรวมถึงไทยด้วย ฉะนั้นถ้าไทยไม่ระวังเรื่องนี้ก็น่าห่วงเพราะอาจจะกลายเป็นความขัดแย้งที่กำลังลงไปถึงฐานรากแล้ว เนื่องจากกลุ่มเอสเอ็มอีร้องว่ามีสินค้าจากจีนเข้ามาขายแข่งในราคาถูก มีร้านอาหารจีน ถ้วยชามจีนราคาถูกมาตีตลาด จนสินค้าไทย ร้านอาหารไทยสู้ไม่ได้”
ขณะเดียวกันอีกด้านถ้ามองเป็นโอกาส การที่สินค้าจีนเข้ามาก็มีของดีราคาถูกเข้ามาช่วยผู้บริโภคในสถานการณ์ที่ไทยเผชิญสินค้าราคาแพงในประเทศอยู่ในขณะนี้ ส่วนร้านอาหารจีนก็เหมือนกับที่ร้านอาหารญี่ปุ่นเข้ามาตั้งในไทย หากมองให้เป็นโอกาสได้ใช้วัตถุดิบไทยและแรงงานในไทย
อย่างไรก็ดีเกรงด้านการแข่งขันจะกลายเป็นนํ้าผึ้งหยดเดียว นำสู่ความเกลียดชัง จากเรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ ฉะนั้นการให้ข้อมูลข่าวสารก็สำคัญ อย่าให้เกิดข่าวที่จะทำให้กลายเป็นความบาดหมางของคนทั้งสองชาติได้
ทั้งหมดนี้ รัฐบาลไทย-จีนจะต้องร่วมมือกันจัดระเบียบให้ดีให้พ่อค้าแม่ค้าไทย-จีนมีผลประโยชน์ร่วมกันให้ได้ การที่สินค้าจีนเข้ามาถ้าเป็นของดีและถูกก็เข้ามาช่วยเรื่องค่าครองชีพในเวลานี้ได้ ยกตัวอย่าง พ่อค้าจีนเป็นผู้ส่งออก แล้วมาขายให้กับกลุ่มผู้ค้าปลีกไทย แต่ไม่ควรส่งเสริมให้จีนเข้ามาเปิดร้านเองอย่างกว้างขวางตีตลาดไทยจนอยู่ไม่ได้
รศ.ดร.สมภพ กล่าวอีกว่า ขณะนี้เศรษฐกิจโลกแย่ เพราะเกิดจากความขัดแย้งระหว่างอเมริกากับจีน ดังนั้นทุกชาติที่พึ่งพา 2 ประเทศนี้ก็รวนไปหมด และนับจากนี้ 3-5 ปีต้องจับตามองให้ดี เนื่องจากจีนจำเป็นต้องสร้างห่วงโซ่อุปทานหรือซัพพลายเชนใหม่โดย จีนหาแหล่งเงินทุนและแหล่งค้าขายใหม่โดยโฟกัสไปที่กลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา และด้อยพัฒนา หลังจากที่จีนส่งสินค้าไปขายในประเทศที่พัฒนาแล้วยากขึ้น เพราะมีปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้บทบาทเศรษฐกิจจีนและอเมริกาจะลดน้อยลง และเกิดสงครามการค้าสงครามการลงทุน และสงครามเทคโนโลยีขยายตัว
“ตอนนี้จะเห็นว่าจีนมุ่งเน้นขยายความร่วมมือเพื่อขยายโอกาสการค้า การลงทุน ภาคบริการ ไม่ว่าจะเป็นท่องเที่ยว สุขภาพ โรงพยาบาล บันเทิงไปยังกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนามากขึ้น”
ดังนั้นในแง่ประเทศไทยภายใน 3-5 ปี นับจากนี้ไป ต้องรีบคว้าโอกาสและให้เกิดการเชื่อมโยงกับจีนให้มากขึ้น ไล่ตั้งแต่ดึงนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยมากขึ้น ให้บริการรักษาโรคครบวงจร ส่งทุเรียนไปจีนให้มากขึ้น รวมถึงการเชื่อมโยงด้านธุรกิจบันเทิง การกีฬาและการศึกษา เพราะด้านภาคการผลิตเริ่มอิ่มตัวแล้ว
ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำทางการเมืองไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเคยเกิดขึ้นเป็นปกติอยู่แล้ว เพียงแต่ใครก็ตามที่ก้าวขึ้นมาก็ขอให้ทำงานในเชิงรุกอย่าไปติดกับดักเพียงไม่กี่เรื่องจนประเทศชาติเสียหาย
รศ.ดร. กล่าวอีกว่า หากมองในแง่นักวิชาการ วันนี้ยังคาดหวังว่าจีดีพีไทยปี 2567 น่าจะเติบโตได้ 2-3% (ปี 2566 โต 1.9%) อย่างไรก็ตามในปี 2568 ตัวแปรนอกประเทศน่าเป็นห่วง มีความไม่แน่นอนและมีความเสี่ยงสูง ปัญหารัสเซีย-ยูเครน ปัญหาตะวันออกกลางกินลึกไปหลายประเทศ อีกทั้งปัญหาความขัดแย้งฟิลิปปินส์-จีนอีก
ดังนั้นไทยเองจะต้องดูแลความเรียบร้อยภายในประเทศให้ดี ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องรีบทำงานสำคัญในเชิงรุกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศ จำเป็นต้องสร้างความรับรู้และการเปลี่ยนแปลงให้ดี โดยเฉพาะผลด้านบวก เช่น ทำให้เกิดเงินทุนไหลเข้า เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวเที่ยวไทย เป็นต้น
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,021 วันที่ 25 - 28 สิงหาคม พ.ศ. 2567