DGA ล้มแผนจ้างทำแพลตฟอร์มการชำระเงิน รับดิจิทัลวอลเล็ต

13 ก.ย. 2567 | 05:29 น.
อัพเดตล่าสุด :13 ก.ย. 2567 | 05:37 น.

สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ล้มแผนจ้างพัฒนาระบบแพลตฟอร์มการชำระเงิน (Payment Platform) รับโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทของรัฐบาล

ความคืบหน้าการจัดทำพัฒนาระบบแพลตฟอร์มการชำระเงิน (Payment Platform) เพื่อรองรับโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท (Digital Wallet) ของรัฐบาล หลังสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ได้มีหนังสือเชิญชวนสำหรับ จ้างงานจ้างพัฒนาระบบ Payment Platform โดยวิธีคัดเลือกไปแล้วนั้น 

ล่าสุด นางไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการ รักษาการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ได้ลงนามในประกาศสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เรื่อง ยกเลิกงานจ้างพัฒนาระบบแพลตฟอร์มการชำระเงิน (Payment Platform) โดยวิธีคัดเลือก

สำหรับสาระสำคัญของประกาศ มีเนื้อหาว่า ตามที่ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ได้มีหนังสือเชิญชวนสำหรับ จ้างงานจ้างพัฒนาระบบแพลตฟอร์มการชำระเงิน (Payment Platform) โดยวิธีคัดเลือก นั้น เนื่องจาก ไม่มีผู้ยื่นข้อเสนอตามวัน เวลา ที่สำนักงานฯ กำหนด

ดังนั้นสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) จึงขอยกเลิกงานจัดจ้างฯ ดังกล่าว โดยประกาศ ณ วันที่ 27 สิงหาคม 2567

 

 

โดยที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร. เป็นผู้ดำเนิน โครงการแพลตฟอร์มการชำระเงิน (Payment Platform) ภายใต้กรอบงบประมาณโครงการ รวมเป็นเงิน 95 ล้านบาท 

ทั้งนี้เพื่อเป็นแพลตฟอร์มการชำระเงินกลางของประเทศไทยที่สามารถเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการทางการเงินที่หลากหลาย โดยโครงการดังกล่าวจะช่วยยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศไทย ลดต้นทุนของระบบเศรษฐกิจในภาพรวม ยกระดับศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 

 

DGA ล้มแผนจ้างทำแพลตฟอร์มการชำระเงิน รับดิจิทัลวอลเล็ต

สำหรับสาระสำคัญของโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มการชำระเงิน (Payment Platform) สรุปได้ดังนี้

วัตถุประสงค์โครงการ Payment Platform

  • เพื่อให้มีระบบแพลตฟอร์มการชำระเงินที่สามารถรองรับการบริหารจัดการการชำระเงินของภาครัฐให้กับประชาชนที่มีประสิทธิภาพ ประหยัด ปลอดภัย เชื่อถือได้และเปิดกว้างให้เชื่อมต่อกับผู้ให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ได้หลายรายและตอบโจทย์นโยบายรัฐบาลดิจิทัลของรัฐบาลได้
  • เพื่อรองรับการให้เงินช่วยเหลือ/สนับสนุนจากรัฐถึงประชาชนที่สามารถเจาะจงเป้าหมายการรับเงินในแต่ละกรณี/ประเภท เพื่อให้ประชาชนได้รับเงินอย่างรวดเร็วและตรงตัวมากขึ้น
  • เพื่อให้ภาครัฐมีฐานข้อมูลของการจ่ายเงินช่วยเหลือและค่าชดเชยต่าง ๆ ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์นโยบายเกี่ยวกับเงินสนับสนุนต่าง ๆ เพื่อการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องได้ต่อไป
  • เป็นแพลตฟอร์มการชำระเงินกลางของประเทศไทยที่สามารถรองรับการใช้งานของประชาชนและภาคธุรกิจผ่านการเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการทางการเงินได้ทุกรายที่เข้าร่วมโครงการ

กรอบแนวคิดโครงการ Payment Platform

  • ประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อนกลุ่มต่าง ๆ เช่น ประชาชนที่เดือดร้อนจากเหตุภัยพิบัติ เกษตรกร และผู้ประกอบธุรกิจด้านการเกษตรสามารถลงทะเบียนเพื่อขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ผ่าน Government Super Application โดยข้อมูลการร้องขอจะถูกส่งไปยังแพลตฟอร์มการชำระเงิน
  • ผู้ใช้งานสามารถเลือกใช้แอปพลิเคชันของธนาคารหรือแอปพลิเคชันทางการเงินหรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์รายใดก็ได้ที่เข้าร่วมโครงการในการชำระเงิน หรือรับชำระเงิน
  • แพลตฟอร์มการชำระเงินสามารถตรวจสอบรายการให้เป็นไปตามกฎหรือกติกาตามที่ภาครัฐกำหนด ทั้งในส่วนผู้ชำระเงินและผู้รับชำระเงิน (Transaction Processing System) โดยธุรกรรมที่เกิดขึ้นภายในระบบการชำระเงินจะถูกบันทึกและเก็บข้อมูลในรูปแบบการเข้ารหัสผ่านบล็อกเชน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยด้านความปลอดภัยและมีความน่าเชื่อถือ