คลังนัดถก ธปท. ปรับกรอบเงินเฟ้อ ปี 68 ประเมินควรขยับขึ้น

18 ก.ย. 2567 | 06:25 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.ย. 2567 | 06:25 น.

“พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกฯ และรมว.คลัง นัดถกธปท. ปรับกรอบเงินเฟ้อ ปี 68 ประเมินควรขยับขึ้น เร่งเครื่องเศรษฐกิจ ฝั่งแนวโน้ม “อัตราดอกเบี้ยนโยบาย” ควรปรับผูกประเทศมหาอำนาจ

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การปรับกรอบเงินเฟ้อของไทย ในปี 2568 ใกล้ถึงเวลาที่ต้องมีการสรุปร่วมกันกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้ว ซึ่งขณะนี้ก็ได้มีการนัดหารือ ธปท.อย่างไม่เป็นทางการแล้ว

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ส่วนตัวจุดยืนของกระทรวงการคลัง มองว่า ขณะนี้สถานการณ์ทุกอย่างดีขึ้น รัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจน ความเชื่อมั่นเริ่มกลับมา และตลาดหุ้นก็เริ่มกลับมา จึงเห็นว่าเป็นจังหวะเหมาะสมที่จะเร่งเครื่องเศรษฐกิจ โดยขณะนี้เศรษฐกิจไทยเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป หากมีความพร้อมเราก็อยากจะไป ฉะนั้น เงินเฟ้อควรขยับขึ้น

“ตอนนี้เงินเฟ้อไทยอยู่ในระดับต่ำ เราจึงอยากให้ขยับขึ้นจากของเดิม ถ้ามองแบบชาวบ้าน เงินเฟ้อต่ำในมุมคนซื้อของก็บอกว่าดี แต่ในมุมผู้ขายก็ไม่ชอบ และหลายคนอาจจะบอกว่าไม่เป็นไรเราบริโภคต่ำก็ดีแล้ว อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าสังคมเราผูกกับการบริโภค หากคนผลิตหาย ของก็หายจากตลาด ก็จะเจอปัญหาของแพง ฉะนั้น ต้องมีความพอดี การปรับกรอบเงินเฟ้อต้องดูเพื่อนบ้าน ประเทศคู่แข่งด้วย”

ส่วนมุมมองในเรื่องแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยไทยนั้น หากมองในมุมนักวิชาการ มองว่า ขณะนี้ทั้งประเทศมหาอำนาจได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ซึ่งเดิมประเทศไทยผูกติดการเงินสอดคล้องกับสหรัฐอเมริกามาก เพราะทุกครั้งที่มีการขึ้น หรือลดอัตราดอกเบี้ยจะมีผลกระทบต่อเรา ทั้งในเรื่องเงินทุนไหลเข้าและไหลออก

“เมื่อสหรัฐอเมริกาขึ้นดอกเบี้ย ค่าเงินเราจะอ่อน และเมื่อเขาลง ค่าเงินเราจะแข็ง ซึ่งตอนนี้ค่าเงินบาทแข็ง เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น และเงินทุนจากต่างชาติไหลเขาด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เชื่อว่าการพิจารณาแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย ธปท.จะดูหลายอย่าง ทั้งเรื่องเงินเฟ้อ การเติบโตเศรษฐกิจ เป็นต้น”