ททท.ชวนเที่ยว “อะ’ลอง Uttaradit” เปิดมุมมองอุตรดิตถ์ ณ อุทยาน 100 ปีจุฬาฯ

21 ก.ย. 2567 | 05:18 น.
อัพเดตล่าสุด :21 ก.ย. 2567 | 05:18 น.

ททท. จัดงาน อะ’ลอง Uttaradit เปิดมุมมองใหม่จังหวัดอุตรดิตถ์ ผ่าน 4 ประสบการณ์ ที่อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ถึง 22 ก.ย.นี้ กระตุ้นเที่ยวแนวคิดเสน่ห์ไทย

นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท. ร่วมกับจังหวัดอุตรดิตถ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การจัดงาน “อุตรดิตถ์เมืองสร้างสรรค์” (อะ’ลอง Uttaradit) ซึ่งเป็นการสร้างการรับรู้กระตุ้นการเดินทางของนักท่องเที่ยวผ่านกิจกรรมนันทนาการทางการท่องเที่ยว ด้วยแนวคิดเสน่ห์ไทย (Thailand Soft Power) 5 Must Do in Thailand

ทั้งนี้ เป็นการนำเสนอเสน่ห์ไทย Must Taste : อิ่มอร่อยกับอาหารถิ่นทั่วไทย Must See : ละลานตา วัฒนธรรมไทย Must Seek : Unseen ถิ่นน่าเที่ยว Must Buy : หัตถกรรมล้ำค่าน่าซื้อฝาก และ Must Try :  สุดยอดกีฬา ท้าทายกายใจ เพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยว

นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

“จะเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยว และต่อยอดกระแสการเดินทางของกลุ่มนักท่องเที่ยวที่จะเข้าไปเรียนรู้ ประสบการณ์ที่แตกต่างในการเดินทางท่องเที่ยวที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ไปสัมผัสธรรมชาติที่บริสุทธิ์ กิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เรียนรู้ศิลปะ วัฒนธรรม หัตถศิลป์ สถาปัตยกรรม ด้านอาหาร เครื่องแต่งกาย และสัมผัสวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่มคนในพื้นที่ รวมถึงค้นพบความสร้างสรรค์ของจังหวัดอุตรดิตถ์”

ขณะเดียวกัน ททท. พร้อมต่อยอดส่งเสริมภาพลักษณ์ผ่านกลยุทธ์เสน่ห์ไทย (Thailand Soft Power) 5 Must Do @Uttaradit ยกระดับสินค้าและบริการทางท่องเที่ยวที่เกี่ยวเนื่องกับภาคส่วนต่างๆ อาทิ สินค้า GI  ศิลปะวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตของชุมชนมาต่อยอดผ่านการเล่าเรื่องประสบการณ์ฯ เพื่อส่งต่อให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายผู้มีศักยภาพในการเดินทางสู่จังหวัดอุตรดิตถ์

“งาน อะ ’ลอง Uttaradit จะเปลี่ยนความคิดที่ว่า “อุตรดิตถ์เป็นเมืองรอง” ให้กลายเป็นเมืองน่าลอง โดยการหยิบเอาวัฒนธรรม อาหาร ศิลปะ และเรื่องราวจากเจ้าของพื้นที่มาถ่ายทอดอย่างสร้างสรรค์และเข้าถึงได้ง่ายให้นักท่องเที่ยวได้ลองสัมผัสวิถีอุตรดิตถ์แบบแท้ ๆ ผ่านประสบการณ์รูปแบบใหม่ที่จะสร้างแรงบันดาลใจ”

  • อะ’ลอง กิน : กับขันโตก น่าแล ที่รวมอาหารพื้นเมืองภาคเหนือ อีกทั้งของกินห้ามพลาดในอุตรดิตถ์ เช่น ข้าวพันผัก, ไส้กรอกใหญ่รสเด็ดพิชัย, หมี่พันลับแล
  • อะ’ลอง ดู : การแสดงดนตรีสด, นิทรรศการศิลปะในโซน Art-taradit Creative Space และ วิดีโอคอนเทนต์ที่จะพาท่องเที่ยวอุตรดิตถ์ในมุมที่คิดไม่ถึงผ่าน 3 Influencer ชื่อดัง
  • อะ’ลอง ทำ : Painting Workshop ระบายสีโปสการ์ดและจานดินเผา ที่นำเสนอความสร้างสรรค์แบบอุตรดิตถ์ ด้วยลายเส้นเฉพาะตัวจากมามะอาร์ตสเปซ
  • อะ’ลอง Time : ชวนทุกคนมา ‘Take a ลอง time ใช้เวลาอีกนิด รู้จักอุตรดิตถ์ให้มากขึ้น’ เพลิดเพลินไปกับโซนต่าง ๆ ภายในงาน ที่แฝงไปด้วยอัตลักษณ์ของอุตรดิตถ์ พบกับร้านตลาดสินค้าสร้างสรรค์ ที่พาชาวเมืองอุตรดิตถ์มาเปิดหมู่บ้าน มัดรวมของดี ของเด็ดประจำจังหวัด อาทิ งานคราฟต์ อาหาร สินค้าท้องถิ่น ให้ทุกคนได้ ชม-ชิม-ช้อป

“ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมายที่ชวนให้นักท่องเที่ยวมาลองใช้เวลาที่งาน “อุตรดิตถ์เมืองสร้างสรรค์” (อะ’ลอง Uttaradit) ในวันที่ 20-22 กันยายน 2567 ตั้งแต่เวลา 15:00-21:00 น. ณ อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”

ททท.ชวนเที่ยว “อะ’ลอง Uttaradit” เปิดมุมมองอุตรดิตถ์ ณ อุทยาน 100 ปีจุฬาฯ

นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ เปิดเผยว่า รัฐบาลมุ่งผลักดันอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยด้วยนโยบาย "IGNITE THAILAND’s TOURISM" โดยมีกลยุทธ์เมืองหลักและเมืองน่าเที่ยวเป็นส่วนสำคัญในการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวจากเมืองหลักสู่เมืองน่าเที่ยว เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

ทั้งนี้ จังหวัดอุตรดิตถ์ถือเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพทางการท่องเที่ยว โดยมีทั้งแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ กิจกรรม รวมถึงศิลปวัฒนธรรมที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในแง่มุมของความสร้างสรรค์ โดยจังหวัดอุตรดิตถ์ได้ร่วมกับศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ Thailand Creative & Design Center (TCDC) ลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือเรื่องโครงการจัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบแห่งใหม่ (NEW TCDC) ณ จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567

“เราต้องการสร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่ในท้องถิ่นได้เข้ามาร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจจังหวัด ตลอดจนเป็นการยกระดับมาตรฐานการเชื่อมโยงภาคส่วนธุรกิจให้เข้าใกล้ชุมชนได้มากขึ้น อันจะส่งผลต่อการขับเคลื่อนของภาคส่วนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมภาพลักษณ์อัตลักษณ์ของพื้นที่ และนำเสนอมุมมองใหม่ในแง่ของการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Tourism and the Creative Economy)”