สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือประเมิน "เงินบาทแข็ง” สูญรายได้ 5 หมื่นล้าน/เดือน

25 ก.ย. 2567 | 12:10 น.
อัพเดตล่าสุด :25 ก.ย. 2567 | 12:15 น.

ผลกระทบ “เงินบาทแข็งค่า” หนักสุดรอบ 30 เดือน ผู้ส่งออก ประเมินบางรายขาดทุน หยุดรับออเดอร์ต่างประเทศ คาดสูญรายได้เดือนละ 5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ผู้นำเข้ารับโอกาสทอง ซื้อวัตถุดิบเข้าประเทศ

สถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น จนแตะระดับสูงสุดในรอบ 30 เดือน ในวันนี้ (25 กันยายน 2567) ที่ระดับ 32.56 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ สถานการณ์เช่นนี้นับว่าส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ส่งออก ซึ่งนับเป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทย

ล่าสุด แม้กระทรวงพาณิชย์ จะรายงานตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนสิงหาคม 2567 พบว่า มีมูลค่า 26,182.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 939,521 ล้านบาท ขยายตัว 7% 

แต่ในช่วงที่เหลือของปี 2567 ก็ยังติดตามปัจจัยสำคัญที่จะกระทบต่อการส่งออกไทย โดยเฉพาะค่าเงินบาทที่ยังแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความไม่แน่นอนสูง และปัญหาอุทกภัยในประเทศที่อาจส่งผลต่อปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรด้วย

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” โดยประเมินผลกระทบเกี่ยวกับสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่าในปัจจุบัน ว่า กรณีที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้ ส่งผลกระทบอย่างน้อย 2 เรื่องหลัก นั่นคือ การส่งมอบสินค้า และคำสั่งซื้อ หรือออเดอร์ใหม่

ส่วนแรก คือ การส่งมอบสินค้า นายชัยชาญ มองว่า ผลกระทบเกี่ยวกับการส่งมอบสินค้า จะได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนจากเงินดอลลาร์เป็นเงินบาท โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตร และกลุ่มอาหาร จะเป็นกลุ่มที่รับผลกระทบอย่างสูง โดยผู้ประกอบการ SME และผู้ส่งออกบางรายอาจต้องประสบปัญหาขาดทุน ซึ่งจากการประเมินมูลค่าการสูญเสียจะมีจำนวนมหาศาลถึงเดือนละ 50,000 ล้านบาท 

ส่วนที่สอง คือ คำสั่งซื้อ หรือออเดอร์ใหม่ จากกรณีค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ส่งผลทำให้ผู้ประกอบการบางราย ตัดสินใจหยุดรับออเดอร์จากต่างประเทศ เช่น กลุ่มสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมอาหาร เพราะกังวลว่า อาจจะเกิดความไม่คุ้มค่า และกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดส่งออกลดลง โดยคาดว่า กรณีนี้จะเริ่มมีผลตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป

“ตอนนี้ยังคงไม่มีการปรับเป้าการส่งออก ในปี 2567 เนื่องจากในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา ตัวเลขการส่งอกค่อนข้างไปได้ดี ถึงแม้ไตรมาส 4 จะมีความกังวลในเรื่องของสินค้าเกษตรอยู่บ้าง โดยคาดว่า ตัวเลขการส่งออกในช่วงไตรมาสที่ 4 ปีนี้ จะมีมูลค่าเทียบกับปี 2566 คือเฉลี่ยเดือนละ 24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ” นายชัยชาญ ระบุ

ชง 3 ข้อเสนอให้รัฐบาลช่วย

ส่วนประเด็นเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าทางเรือ นายชัยชาญ มองว่า ปัจจุบันค่าระวางเรือปรับตัวลดลงเล็กน้อย แต่ยังมีปัจจัยกดดันจากภาคการผลิตทั่วโลกยังอยู่ในภาวะชะลอตัว เป็นผลมาจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักซบเซา ทั้ง จีน ยุโรป และสหรัฐฯ โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ยังคงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง และยังอยู่ในคงที่ในระดับต่ำ 

ทั้งนี้ภาคเอกชนยังมีข้อเสนอขอให้ภาครัฐช่วยเข้ามาช่วยเหลือ 3 เรื่องหลัก ดังนี้

  1. ขอให้รัฐบาลพิจารณาอย่างรอบคอบในแง่ของการรักษาเสถียรภาพของค่าเงิน ให้อยู่ในระดับ 35 - 36 บาทต่อดอลลาร์ เหมือนต้นปีที่ผ่านมา
  2. พิจารณาเรื่องซอฟต์โลนในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME ได้รับผลกระทบเรื่องค่าเงินบาท ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน
  3. การชะลอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ เพราะเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการ อีกทั้งผู้ผลิตและผู้ส่งออกต้องแบกรับภาระเรื่องต้นทุนการผลิต