ปัจจุบันแผนฯ ฉบับ 14 (2021-2025) รัฐบาลจีนไม่ได้มีเป้าหมาย GDP ชัดเจน แต่ปี 2024 จีนตั้งเป้า “GDP ต้องไม่ต่ำกว่า 5%” (ปี 2020 โต 2.2% ปี 2021 โต 8.4% ปี 2022 ขยายตัว 3% และปี 2023 ขยายตัว 5.2%)
แต่ ADB ประเมิน GDP จีน 2024 เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2567 เหลือ 4.8% ปัญหาเศรษฐกิจจีนขณะนี้คือ 1.ปัญหาอสังหาริมทรัพย์เรื้อรัง (ตั้งแต่ปี 2021) อสังหาริมทรัพย์มีสัดส่วน 30% ของ GDP จีน (IMF รายงาน GDP จีน ปี 2024 อยู่ที่ 18 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ)
ปัญหาคือ อสังหาริมทรัพย์มี “ปริมาณมากเกินความต้องการ (Oversupply)” เช่น คอนโดมิเนียมที่ขายไม่ออกอยู่ในเมืองชั้น 3-5 (Tier) เป็นหลักล้านยูนิต ปริมาณที่มีมากทำเศรษฐกิจชะลอตัว ภาคก่อสร้างซึม การผลิตเหล็ก ปูนซิเมนต์และวัสดุอื่น ๆ ลดลง สถาบันการเงินมีหนี้เสีย (หนี้ 5-7 แสนล้านเหรียญ อยู่ในบริษัท Evergrade และ Country Garden) ทำว่างงานเพิ่ม (คาดว่าในอสังหาริมทรัพย์ในทุกระดับที่ได้รับผลกระทบ 100 ล้านคน)
2.ลงทุนอุตสาหกรรมชะลอตัว การลงทุนในจีน หลัก ๆ มี ลงทุนในอุตสาหกรรม (สัดส่วน 30%ต่อ GDP) อัตราขยายตัวผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงตั้งแต่เมษายน (6%) จนถึงสิงหาคม (4.3%) 2567 สอดคล้องกับดัชนีอุตสาหกรรม (PMI) ต่ำกว่า 50 ตั้งแต่เมษายน 2567 อสังหาริมทรัพย์ลงทุนติดลบ เฉลี่ย -10% ตั้งแต่ปี 2022-2024 มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยรัฐบาล (สัดส่วน 30% ต่อ GDP) ลงทุนในรถไฟความเร็วสูง (ปัจจุบันสร้างเสร็จระยะทางทั้งหมดไปแล้วมากกว่า 1.5 แสนกม. โดย 75% เป็นรถไฟความเร็วสูง
ส่วนสหรัฐฯ มีระยะทางรถไฟ 2 แสน กม. เป็นรถไฟความเร็วสูง 1% จีนเริ่มลงทุนรถไฟความเร็วสูงเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2008 เส้นทาง Beijing-Tianjin 120 กม.) ตั้งแต่ปี 2008-2023 มีการลงทุนรถไฟความเร็วสูงทุกปี รวมเงินลงทุนทั้งหมด 1.5 ล้านล้านหยวน (7 ล้านล้านบาท) ระยะทางรวม 40,000 กม. เฉลี่ยปีละ 2,500 กม. เป้าหมายเพิ่มอีก 1 หมื่น กม.ในปี 2025 และเป็น 7 หมื่น กม.ในปี 2035 การลงทุนในพลังงานสะอาด รวม 1 ล้านล้านหยวน และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล
3.การบริโภคลดลง (บริโภคจีนสัดส่วน 40% ต่อ GDP) หากวัดจากการค้าปลีกตั้งแต่ต้นปี 2024 ขยายตัวลดลงต่อเนื่องจาก 7% เหลือ 2% (สิงหาคม)
4.ว่างงานเพิ่ม ตั้งแต่เมษายน เป็นต้นมา ว่างงานเพิ่มจาก 5% เป็น 5.3% (โดยเฉพาะแรงงานอายุ 15-25 ปี) และ 5.ภาวะเงินฝืด จีนมีเงินเฟ้อต่ำกว่า 1% สะท้อนการบริโภคภายในลดลง จากปัญหาเศรษฐกิจกิจจีนข้างต้น รัฐบาลและธนาคารกลางจีน (PBOC) จึงออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ ดังนี้
1.ลดอัตราส่วนเงินสดสำรองธนาคาร (Reserve Requirement Ratio RRR) ลง 0.5% (เหลือ 6,5%) มาตรการ RRR เป็นเครื่องมือเศรษฐกิจหลักของจีนที่ใช้มาอย่างต่อเนื่อง (ตั้งแต่ปี 1985 อยู่ที่ 40%) ทำให้มีเงินเข้าสู่ระบบ 1.4 แสนล้านเหรียญ
2.ลดอัตราดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้าน 0.5% ทั้งระยะ 5 ปี จาก 3.95 % เหลือ 3.45% และ 1 ปี จาก 3.45% เหลือ 2.95% (ต้นปี 2024 ลดลง 0.25%)
3.ลดสัดส่วนวางเงินดาวน์บ้านหลังที่สอง จาก 25% เหลือ 15%
4.ลดดอกเบี้ยกู้ยืมระยะสั้น 0.3%
5.ลดดอกเบี้ยตลาดพันธบัตร (Repo) 0.2%
6.ตั้งกองทุน Stock Stabilization Fund เพื่ออัดฉีดเงินให้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์เข้าถึงสภาพคล่องได้ง่าย 800 ล้านหยวน
7.แจกเงินคนจน จำนวน 40 ล้านคน ๆ ละ 779 หยวน (110.80 ดอลลาร์) หรือ 3,700 บาท หรือเป็นเงิน 1.5 แสนล้านบาท
จะเห็นได้ว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจจีนทำแบบครบวงจร ใช้ทั้งมาตรการการคลังและการเงินไปพร้อมกัน ไม่แจกเฉพาะเงินสด ที่สำคัญจำนวนเงินที่แจกไม่มากเท่ากับไทย ทั้งที่จีนมีเงินมากกว่าไทย แต่ไทยแจกเยอะกว่า ตรงนี้สะท้อน “ฝีมือ” กันชัด ๆ ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
บทความโดย : รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช
ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
ที่ปรึกษาบริษัท อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์ (ไออาร์ซี) จำกัด