ส่องปัจจัยหนุน อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยปี 67-69

15 ต.ค. 2567 | 06:19 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ต.ค. 2567 | 06:25 น.

วิจัยกรุงศรี เผยอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยปี 67 -69 แนวโน้มฟื้นตัว ส่องปัจจัยหนุนธุรกิจ พร้อมเช็คปัจจัยเสี่ยงกระทบผู้ประกอบการปิโตรเคมีที่นี่

วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา วิเคราะห์ภาพรวมแนวโน้มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทย ตั้งแต่ปี 2567 -2569 โดยสรุปเบื้องต้นระบุว่าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นในปี 2567 อานิสงส์จากเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวตามภาคท่องเที่ยวและการบริโภค อย่างไรก็ดี ราคาและ Spread โดยรวมจะปรับขึ้นได้ไม่มาก ผลจากภาคการผลิตและภาคส่งออกของไทยฟื้นตัวไม่เต็มที่ และปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง กดดันอุปสงค์กลุ่มสินค้าคงทนและอุตสาหกรรมปลายน้ำอื่นๆ 

 

ขณะที่ปี 2568 และ 2569 ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและ Spreads จะปรับดีขึ้นในหลายผลิตภัณฑ์ ผลบวกจากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่องและราคาวัตถุดิบตั้งต้น (Naphtha) ปรับลดลง แต่อุปสงค์ของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์ปลายทางของปิโตรเคมียังมีแนวโน้มเติบโตช้า ท่ามกลางอุปทานส่วนเกินของผลิตภัณฑ์ (อาทิ Ethylene Propylene PE PP และ PX ) ส่งผลให้ปี 2567-2569 การบริโภคผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในประเทศและปริมาณส่งออกจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.0-2.0% ต่อปี

สำหรับมุมมองวิจัยกรุงศรี ประเมินผู้ประกอบการปิโตรเคมีในไทย ปี 2567-2569 

ตลาดปิโตรเคมีของไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวกระเตื้องขึ้นในปี 2567 อานิสงส์จากเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะเติบโต 2.4% เทียบกับ 1.9% ปี 2566 ตามการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและการบริโภค ทำให้มีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มบรรจุภัณฑ์จากอุตสาหกรรมปลายน้ำ (อาทิ อาหาร เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล และยา) 

 

ขณะที่ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ หนุนการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อตอบสนองความต้องการซื้อที่ยังมีอยู่  ปัจจัยข้างต้นกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเพิ่มสินค้าคงคลังหลังปรับลดลงในปีที่ผ่านมา จึงช่วยพยุงราคาและ Spread ของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีไม่ลดลงมาก 

 

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ โดยภาคการผลิตและส่งออกถูกกดดันจากเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณชะลอตัวชัดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง (89.6% ของ GDP ณ ไตรมาสที่ 2 ปี 2567) กดดันอุปสงค์ของกลุ่มสินค้าคงทน อาทิ รถยนต์และอุตสาหกรรมปลายน้ำอื่นๆ เมื่อผนวกกับอุปทานส่วนเกินจากการขยายกำลังการผลิตใหม่ของผู้ประกอบการในภูมิภาคเอเชีย ทำให้ราคาและ Spread โดยรวมจะปรับขึ้นได้ไม่มาก 
 

สำหรับปี 2568 และ 2569 คาดว่าราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและ Spreads จะปรับดีขึ้นในหลายผลิตภัณฑ์ โดยได้รับผลบวกจากเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่องและราคาวัตถุดิบตั้งต้น (Naphtha) ปรับลดลง แต่อุปสงค์ของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์ปลายทางของปิโตรเคมียังมีแนวโน้มเติบโตช้า ท่ามกลางอุปทานส่วนเกินของผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะ Ethylene Propylene PE PP และ PX วิจัยกรุงศรีจึงคาดว่าปี 2567-2569 การบริโภคผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในประเทศและปริมาณส่งออกจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.0-2.0% ต่อปี 

ปัจจัยที่จะมีผลต่อทิศทางราคาและ Spread ของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ได้แก่

(1) ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่ยืดเยื้อและอาจทวีความรุนแรงเป็นระยะ อาทิ สงครามรัสเซีย-ยูเครนและอิสราเอล-ฮามาส จะกระทบการขนส่งในทะเลแดง ซึ่งคิดเป็น 11% ของการไหลเวียนของการค้าโลก (ที่มา: IMF) อาจทำให้ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain disruption) กลับมา และต้นทุน Feedstock ผันผวนเป็นระยะ 


(2) จีน (สัดส่วน 45% ของการบริโภคปิโตรเคมีโลก) มีแนวโน้มเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างต่อเนื่องในระยะยาว (Long-term structural slowdown) จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร (Demographic shift) สู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging population) ผนวกกับรัฐบาลให้ความสำคัญกับการกระจายความมั่งคั่ง (Wealth redistribution) แทนการขยายสินเชื่อในภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้ความต้องการปิโตรเคมีจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เพิ่มความเสี่ยงด้านอุปทานส่วนเกินอาจสูงขึ้น

(3) อุปทานส่วนเกินของบางผลิตภัณฑ์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากกำลังการผลิตใหม่ ทำให้การแข่งขันในภูมิภาคสูงขึ้น ซึ่งบางส่วนเป็นผลพวงจากสงครามการค้า อาทิ 

  • จีน China National Petroleum Corp บริษัทน้ำมันใหญ่สุดในจีนลดการผลิตน้ำมันและหันมาผลิตปิโตรเคมีบนเส้นทาง Low carbon และ Go green คาดว่าจะมีกำลังการผลิตใหม่เพิ่มขึ้น 3.1 ล้านตันในปี 2568 จากผลิตภัณฑ์เอทิลีน (Ethylene) โพรพิลีน (Propylene) และบิวทาไดอีน (Butadiene) รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (กลุ่มวัสดุใหม่) อาทิ โพลิโอเลฟินาขั้นสูง (Polyolefin) เอทิลีนไวนิลแอซีเตด (Ethylene vinyl acetate) และยางสไตรีนบิวตาไดอีน(Styrene-Butadiene Rubber) 
  • อินเดีย Bharat Petroleum Corp (BPCL) Oil and Natural Gas Corp (ONGC) และ Indian Oil Corp (IOCL) ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการแปลงน้ำมันดิบเป็นปิโตรเคมี (Crude oil to petrochemicals) จาก 4-5% เป็น 10-15% โดยเฉพาะ PE และ PP เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำกำไรและสอดคล้องกับกลยุทธ์ของประเทศที่วางเป้าหมายเป็นผู้ส่งออกสุทธิของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี 

(4) ข้อจำกัดทางการค้าประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ซึ่งบางประเทศ (อาทิ สหรัฐ และสหภาพยุโรป) มีแนวทางควบคุมการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกในปริมาณสูง ซึ่งครอบคลุมถึงปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์บางประเภทในห่วงโซ่การผลิต 

(5) สนธิสัญญาด้านการจัดการพลาสติก (Global plastic treaty) ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่จัดทำขึ้นเพื่อแก้ไขวิกฤตมลพิษจากพลาสติก ผ่านแผนการกำจัดขยะพลาสติกขององค์การสหประชาชาติที่เรียกว่า “System change scenario” กำหนดเป้าหมายลดการปล่อยขยะพลาสติกสู่สิ่งแวดล้อมลง 80% ภายในปี 2583 จะส่งผลต่อประเทศไทยทั้งด้านการจัดการขยะพลาสติก การใช้และการผลิตพลาสติก ซึ่งจะกระทบต่ออุปสงค์ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในอนาคต (ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำ)

 

ปัจจัยท้าทายของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในระยะต่อไป อาทิ

  • แผนจัดการขยะพลาสติกระยะที่ 2 (ปี 2566-2570) ซึ่งประเทศไทยได้ยกระดับการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน ซึ่งไม่เพียงแค่รณรงค์ให้ลดและเลิกใช้พลาสติกแบบ Single-use แต่ยังครอบคลุมถึงหลักการอื่นๆ อาทิ การขยายความรับผิดชอบไปยังผู้ผลิต (Extended producer responsibility: EPR) เพื่อเน้นการจัดการบรรจุภัณฑ์ตลอดช่วงชีวิต
  • นอกจากนี้ยังคาดว่าจะมีอุปทานผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากโครงการประมาณ 1,473 โครงการในระหว่างปี 2566-2570 (ที่มา: Global Data) โดยเฉพาะโครงการผลิต PP ในจีน (ที่มา: ChemOrbis) ซึ่งจะกดดันผู้ผลิตปิโตรเคมีขั้นปลายในสายการผลิตเม็ดพลาสติกชนิด PP และ PET

 

ที่มาข้อมูล