KEY
POINTS
“สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์” หนึ่งในหน่วยงานที่มักให้ความร่วมมือและประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อยกระดับมาตรฐานและคุณภาพของอุตสาหกรรมก่อสร้าง
ทั้งนี้ตลอดจนการสร้างขีดความสามารถในการพัฒนาและแข่งขันของผู้ประกอบการก่อสร้างไทย ด้วยใช้เทคโนโลยี
จากการทำงานของนางสาวลิซ่า งามตระกูลพานิช นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ ผู้บริหารหญิงที่สามารถแก้ไขปัญหาและรับข้อร้องเรียนของสมาชิกในภาควงการอุตสาหกรรมก่อสร้างจนนำมาสู่การแก้ไข
ทำให้ได้รับความไว้วางใจจากเอกชนและสมาชิกอย่างต่อเนื่อง จนได้รับตำแหน่งนายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ เป็นสมัยที่ 2
เส้นทางการเติบโตสู่การเป็นเบอร์ 1
นางสาวลิซ่า งามตระกูลพานิช นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” เราได้เข้ามาทำงานในวงการอุตสาหกรรมการก่อสร้างเกือบ 20 ปีแล้ว ถือเป็นความโชคดีที่ได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่และสมาชิกที่อยู่ในสมาคมฯมาก่อนหน้านี้
โดยช่วงที่กลับมาจากต่างประเทศ พบว่าในช่วงนั้นไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมสมาพันธ์ผู้รับเหมาก่อสร้าง 18 ประเทศ ซึ่งในสมัยนั้นอดีตนายกสมาคมฯได้ขอให้เข้ามาช่วยสมาคมฯในการจัดงานนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเข้ามาทำงานที่สมาคมฯ
“จากนั้นไม่นานอดีตนายกสมาคมฯหลายสมัยได้มีการชักชวนเข้ามาเป็นกรรมการและได้ทำงานในวงการก่อสร้าง ตลอดจนการช่วยเหลือผู้รับเหมามาเรื่อยๆ จากการร้องเรียนถึงประเด็นต่างๆ คาดว่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ได้รับความไว้วางใจ จนกระทั่งเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมาได้ รับคัดเลือกให้เป็นนายกสมาคมฯ คนที่ 20 ปัจจุบันได้ดำรงตำแหน่งนี้มาเป็นสมัยที่ 2 แล้ว” นางสาวลิซ่า กล่าว
ชู 3 กลยุทธ์ อุ้มวงการอุตสาหกรรมก่อสร้าง
ด้านการวางกลยุทธ์หรือยุทธ์ศาสตร์ของสมาคมฯนั้น ปัจจุบันสมาคมฯ ครบรอบ 96 ปี ถือเป็นหนึ่งในสมาคมการค้าที่ก่อตั้งมานาน ซึ่งเราได้วางเป้าหมายหลักคือ การยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย เนื่องจากวงการอุตสาหกรรมนี้มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียค่อนข้างเยอะ เช่น ผู้รับเหมา เจ้าของกิจการ ผู้ว่าจ้าง ฯลฯ
ทั้งนี้ในการทำงานนั้นต้องทำให้ทุกฝ่ายได้รับความเป็นธรรมและเป็นผู้ชนะ หากให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ชนะหรือผู้แพ้จะทำให้อุตสาหกรรมนี้ไม่สามารถไปต่อได้ ซึ่งมองว่าสมาคมฯต้องเป็นผู้แทนในการหารือกับภาครัฐเพื่อประสานถึงประเด็นข้อร้องเรียนที่ผู้รับเหมาไม่ได้รับความเป็นธรรม
หากอุตสาหกรรมไปได้เชื่อว่าเศรษฐกิจของประเทศจะดี พบว่า ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างมีสัดส่วน 4-7% ของจีดีพี หากในช่วงที่เศรษฐกิจดีทำให้ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างมีสัดส่วน เพิ่มขึ้นถึง 7%
“หากจะช่วยให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนี้ไปรอดได้ต้องขึ้นอยู่กับประเทศชาติและประชาชนที่ได้ประโยชน์ด้วย ซึ่งสมาคมฯพยายามผลักดันให้องคาพยพที่เกี่ยวกับการก่อสร้างไปต่อได้ ขณะที่ภาครัฐต้องได้งานที่ดีมีคุณภาพ การคอรัปชั่นลดลง และเพิ่มความปลอดภัยในงานมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งหลักๆที่วางเป้าหมายไว้ต้องไปให้ถึง” นางสาวลิซ่า กล่าว
ศึกษาแก้พ.ร.บ.PPP
ในช่วงที่ผ่านมาสมาคมฯได้ร่วมมือกับ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ในการศึกษาแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดซื้อจัดจ้างฯ แล้วเสร็จ
ซึ่งในสาระสำคัญของพ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยให้เกิดความโปร่งใสและผู้รับเหมาที่ทำงานดีควรได้รับ White List ไม่ใช่มุ่งเน้นการติด Black List เหมือบกับพ.ร.บ.ที่ใช้ในปัจจุบัน
หากพ.ร.บ.ฉบับนี้ได้รับการแก้ไขจะเป็นประโยชน์แก่ภาครัฐและผู้ประกอบการที่จะได้รับความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย
ขณะนี้ได้ส่งร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวให้กรมบัญชีกลาง, สภาหอการค้าไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย (กกร.) พิจารณาเพื่อผลักดันพ.ร.บ. ฉบับนี้ ให้มีผลบังคับใช้
แก้ปัญหามุ่งสู่ความสำเร็จ
วงการอุตสาหกรรมนี้มีความยากในตัวอีกทั้งเป็นอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นผู้ชายเป็นหลัก เราไม่ได้มาถึงตรงนี้ด้วยตัวเองเพียงคนเดียว แต่การมีคู่คิดที่ช่วยแก้ไข ปัญหาต่างๆจะเป็นประโยชน์มากกว่า
นอกจากนี้สิ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จในการทำงานในวงการอุตสาหกรรมฯนี้ คือ ความจริงใจในการแก้ปัญหา, เผชิญปัญหาและพร้อมรับฟังผู้อื่น จะทำให้การทำงานง่ายและราบรื่น ซึ่งคนคนเดียวไม่สามารถทำงานให้ประสบความสำเร็จได้ ทุกอย่างต้องทำงานเป็นทีมเวิร์ค ทิศทางของไทยกับความโปร่งใสการจัดซื้อจัดจ้าง
นางสาวลิซ่า ให้สัมภาษณ์ต่อว่า เมื่อถามถึงอยากเห็นทิศทางของไทยเติบโตไปในทางไหนนั้นมองว่าเราอยากเห็นประเทศไทยเจริญขึ้น รวมทั้งการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐมีความโปร่งใสและมีความเป็นธรรมมากขึ้นกับทุกคน
แม้แต่ผู้รับเหมารายเล็กสามารถประมูลงาน และสร้างผลงานได้บนพื้นฐานที่ถูกต้อง อย่างไรก็ดีหลายครั้งผู้คนมักมองว่าสมาคมฯเป็นผู้หาผลประโยชน์ แต่สิ่งที่เราต้องการคือ การยกระดับอุตสาหกรรมการก่อสร้างไทย
เมื่อผู้รับเหมารายใหญ่มีปัญหาก็ควรได้รับการแก้ไขอย่างเป็นธรรม
ขณะเดียวกันผู้รับเหมาขนาดกลางและขนาดเล็กที่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูล แหล่งเงินทุน ระเบียบต่างๆ ควรได้รับโอกาสเข้าถึงอย่างโปร่งใส เช่น การจัดชั้นผู้รับเหมา ควรมีความเป็นมืออาชีพ
หากสามารถดำเนินการได้จะทำให้อุตสาหกรรมก่อสร้างได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
หน้า 20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,041 วันที่ 3 - 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567