เปิดพันธกิจ ‘ไพศาล อ่าวสถาพร’ นำทัพ ‘บิสโตร เอเชีย’ ฝ่ามรสุม

24 ต.ค. 2565 | 10:50 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ต.ค. 2565 | 17:56 น.

เปิดใจ “ไพศาล อ่าวสถาพร” แม่ทัพคุมบังเหียน “บิสโตร เอเชีย” กลุ่มธุรกิจอาหารนานาชาติ เครือไทยเบฟ ฝ่ามรสุมนานัปการ

“ถ้ามีอาหารก็ต้องมีเครื่องดื่ม มีเครื่องดื่มก็ต้องมีอาหาร” แนวคิดของ “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ ไทยเบฟ และเป็นที่มาของ “บิสโตร เอเชีย” กับการเดินหน้าขยายการลงทุนในธุรกิจร้านอาหารนานาชาติ ที่พร้อมเสิร์ฟเมนูเครื่องดื่มหลากหลายรูปแบบ

 

เป็นเหมือนโชว์รูมเครื่องดื่มหลากอรรถรสให้ได้ลิ้มลอง แต่ต้องยอมรับว่าตลอดระยะเวลา 6 ปีเศษ ยังขาด “แม่ทัพ” ที่จะนำพาให้ธุรกิจเดินหน้าได้ ทำให้เผชิญปัญหาต่างๆมากมาย ก่อนที่จะโยก “แซม-ไพศาล อ่าวสถาพร” มือดีจากโออิชิ กรุ๊ป ให้เข้ามานั่งทัพคุมบังเหียน เมื่อเดือนตุลาคม 2564

ไพศาล อ่าวสถาพร               

ล่าสุด “ไพศาล อ่าวสถาพร” กรรมการผู้จัดการ บริษัท บิสโตร เอเชีย จำกัด บริษัทในเครือไทยเบฟ เปิดใจหลังเข้านั่งบริหารได้ 1 ปีเต็ม

              

“ไพศาล” บอกว่า บิสโตร เอเชีย เป็นอีกกลุ่มธุรกิจอาหารของไทยเบฟ ที่เดินคู่กับฟู้ด ออฟ เอเชีย (FOA) ประกอบการไปด้วย บ้านสุริยาศัย (BAAN SURIYASAI) ไฮด์ แอนด์ ซีค แอทธินี (HYDE & SEEK Athenee) หม่าน ฟู่ หยวน (MAN FU YUAN) โซ อาเซียน (SO Asean Cafe, & Restaurant) สโมสรราชพฤกษ์ (Rajpruek Club) บริการจัดเลี้ยง และ ศูนย์อาหารฟู้ด สตรีท (Food Street) ที่ล่าสุดเพิ่มเปิดสาขาที่ 4 กับโมเดลใหม่ ณ ศูนย์ฯ สิริกิติ์

              

ทุกร้านในกลุ่มบิสโตร เอเชีย ล้วนมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน การเข้ามาบริหารร้านที่มีอัตลักษณ์เฉพาะแตกต่างจากเดิมที่เป็นร้านอาหารทั่วไป ถือเป็นความท้าทายครั้งสำคัญในชีวิตการทำงาน ซึ่งต้องยอมรับว่า ไม่ใช่แค่เริ่มต้นจาก 0 แต่เป็นการเริ่มต้นจากติดลบ เพราะทุกร้านอยู่ในช่วงของการเผชิญกับวิกฤตโควิด-19

              

ทำให้ “ไพศาล” ต้องลงไปคลุกคลีกอย่างใกล้ชิดแทบจะตัวต่อตัว เจาะทุกเม็ด เก็บทุกรายละเอียด พร้อมปรับกลยุทธ์สร้างการเติบโตผ่าน 5 กลยุทธ์ ได้แก่ 1. NPD : New Menu to Suit Brand Positioning, Target Group, and Location Type คือการคิดเมนูใหม่ๆ ให้เข้าโพซิชันนิ่งของแต่ละแบรนด์ 2. Focusing on Delivery Platform to gain Brand Awareness, Trail, and Sales มุ่งเน้นไปที่แพลตฟอร์มการจัดส่ง เพื่อให้ได้รับการรับรู้แบรนด์ การติดตาม และการขายผ่านดีลิเวอรี

เปิดพันธกิจ ‘ไพศาล อ่าวสถาพร’ นำทัพ ‘บิสโตร เอเชีย’ ฝ่ามรสุม               

3. Product Line Extension เป็นการต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่ ด้วยการจัดทำผลิตภัณฑ์ออกมาในรูปแบบเซตของขวัญระดับพรีเมียม เช่น Auspicious Thai Dessert & Tea Set ชุดขนมไทยมงคลความหมายดี ราคา 5,999 บาท, Premium Seasonal Fruit Premium Set A ราคา 5,000 บาท และ Seasonal Fruit Set B ชุดผลไม้พรีเมียมตามฤดูกาล ที่มีนัยความหมายมงคล เริ่มต้น 7,500-15,000 บาท เป็นต้น

              

4. Personalized Catering & Chef Table Service บริการจัดเลี้ยงส่วนบุคคล เพื่อเจาะตลาดแบบนิชมาร์เก็ต ด้วยวัตถุดิบพรีเมียม และ 5. Digital adoption ลิขสิทธิ์เฉพาะของบิสโตร เอเชีย ที่รวมทุกการจ่ายทั่วโลกมาไว้บนจอเดียวทั้งหมด ถือเป็นจุดแข็ง และความต่างที่แบรนด์อื่นไม่มี

 

“ความแตกต่างเป็นสิ่งสำคัญ” ไพศาล บอกอีกว่า การจะสร้างแรงดึงดูดให้ผู้บริโภคมาใช้บริการ ต้องมีความแตกต่าง ตัวอย่างสำคัญคือ ศูนย์อาหาร “ฟู้ด สตรีท” (Food Street) โมเดลใหม่ล่าสุด และเป็นสาขาที่ 4 ที่เริ่มเปิดให้บริการ ณ ศูนย์ฯ สิริกิติ์

เปิดพันธกิจ ‘ไพศาล อ่าวสถาพร’ นำทัพ ‘บิสโตร เอเชีย’ ฝ่ามรสุม               

“ไพศาล” บอกว่า ความท้าทายคือการสร้างแพลตฟอร์มของศูนย์อาหารแนวใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน การเนรมิตพื้นที่ 900-1,000 ตร.ม. ไม่ใช่แค่การรวมร้านค้าชั้นนำมาไว้ที่เดียวกัน แต่ยังต้องสร้างให้เป็นแฟล็กชิพและเป็นสาขาต้นแบบที่จะถูกนำไปใช้ต่อยอดในการเปิดสาขาอื่นต่อไป

              

“ฟู้ด สตรีท ศูนย์ฯสิริกิติ์ จะเป็นการยกระดับ และเปิดประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้า ซึ่งสาขานี้ จะเป็นสาขาแรกที่นำระบบ Digital มาใช้ ผ่านรูปแบบของตู้คีออส ที่ลูกค้าสามารถเลือกเมนูอาหาร และสั่งจากตู้แล้วไปรับที่ร้านที่เลือกไว้ได้เลย โดยไม่ต้องเสียเวลาไปเข้าคิวสั่งหน้าร้าน ซึ่งคีออสนี้ยังสามารถรองรับระบบการชำระเงินได้ทุกระบบทั้งแอพพลิเคชั่น คิวอาร์โค้ด หรือระบบการชำระเงินชื่อดังของต่างประเทศทั้งอาลีเพย์ วีแชทเพย์ แรบบิทเพย์ และบัตรเครดิตชั้นนำต่างๆ ได้ด้วย

เปิดพันธกิจ ‘ไพศาล อ่าวสถาพร’ นำทัพ ‘บิสโตร เอเชีย’ ฝ่ามรสุม               

ทั้งนี้เพื่อรองรับกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้ารุ่นใหม่ที่คุ้นเคยกับโลกของดิจิทัลแล้ว ยังช่วยในการแก้ Pain Point ให้กับลูกค้าโดยเฉพาะลูกค้าชาวต่างชาติที่เข้ามาใช้บริการในศูนย์ประชุม และมักจะประสบปัญหาในการใช้เงินสด ขณะเดียวกัน ยังช่วยทำให้ลูกค้าชาวไทยไม่ต้องเสียเวลาในการเข้าคิวเพื่อแลกบัตร รวมถึงต้องเสียเวลาในการรอคิวที่หน้าร้านอาหารอีกด้วย”

              

อนาคต “บิสโตร เอเชีย” ยังมีแผนเปิดตัวร้านอาหารยุโรปแนวคิดใหม่ ที่ยังไม่เคยมีมาก่อน โดยจะทดลองเปิดให้บริการเพียง 1 เดือนในช่วงที่มีการประชุม APEC 2022 ก่อนที่จะปิดและเปิดบริการเต็มรูปแบบอีกครั้งในปีหน้า

              

แม้ล่าสุด “ไพศาล” จะบอกว่า บิสโตร เอเชีย เริ่มทำกำไร แต่เป้าหมายสำคัญคือ การสร้างยอดขาย 2,000-3,000 ล้านบาทภายในปี 2569 คือพันธกิจอันยิ่งใหญ่ ที่เขาต้องพิสูจน์ให้ได้

 

หน้า 16  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,828 วันที่ 20 - 22 ตุลาคม พ.ศ. 2565