ปฏิเสธไม่ได้ว่าในแต่ละปี จะมีธุรกิจที่เติบโตเป็น “ดาวรุ่ง” ขณะเดียวกันก็มีธุรกิจที่ถดถอยเป็น “ดาวร่วง” วันนี้ “ฐานเศรษฐกิจ” รวบรวมความเคลื่อนไหวในแวดวงการตลาด ที่พลิกผันทั้งเติบโตและถดถอยในปี 2566 มานำเสนอ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการการเดินหน้าธุรกิจ พร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ ในอนาคต
เริ่มต้นที่ธุรกิจที่ยังคงร้อนแรงเป็นได้รับความนิยมอย่างสูง ถือเป็น “ดาวรุ่ง” ต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปี ทั้งจากสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ทำให้หลายคนเลือกที่จะหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพตนเองมากขึ้น ดาวรุ่งที่ว่าคือ “ฟิวเจอร์ ฟู้ด” จากข้อมูลสถาบันนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 2566 ระบุว่านวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต (Future Food) เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดย
4 เทรนด์อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต ได้แก่ เทรนด์โปรตีนทางเลือก (Plant-based Protein), เทรนด์อุตสาหกรรมส่งเสริมสุขภาพ (Functional Food), เทรนด์อุตสาหกรรมเกษตรอินทรีย์ (Organic Food) และเทรนด์อุตสาหกรรม แนวคิดการลดขยะเหลือทิ้ง (Zero Waste Cooking)
จากปัจจัยเทรนด์รักสุขภาพ และความยั่งยืนของอาหารที่ใช้วัตถุดิบทดแทนทรัพยากรธรรมชาติหรือโปรตีนจากพืช ซึ่งช่วยลดการทำลายสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน ประกอบอาหารแห่งอนาคตมีรสชาติที่อร่อยและน่ารับประทานไม่แพ้อาหารทั่วไป จึงสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี
ปัจจัยต่างๆข้างต้นยังส่งผลทำให้ “สินค้ารักษ์โลก” ถูกจัดให้อยู่ในหมวดดาวรุ่งไปด้วย เพราะเมื่อผู้บริโภคสายกรีน หลายธุรกิจหันมาทำเดินกิจการด้วยกลยุทธ์ที่คำนึงถึง ESG คือ การดูแลสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบต่อสังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี นั่นแปลว่าธุรกิจมีรูปแบบการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ได้มาตรฐาน ช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุน สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่นหลอดกระดาษที่สามารถย่อยสลายได้ การใช้ถุงกระดาษ/ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก จึงได้รับความนิยมไปด้วย
รวมไปถึง “ธุรกิจสุขภาพและความงาม” (Health&Beauty) ที่ยังถูกจัดให้เป็น “ดาวรุ่ง” ต่อเนื่อง ทั้งจากปัจจัยที่ประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย รวมถึงพฤติกรรมคนที่หันมาใส่ใจสุขภาพและความงามมากขึ้น ส่งผลให้ ธุรกิจต่างเติบโตแบบก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็นศัลยกรรมความงาม ศูนย์ชะลอวัย แพทย์ทางเลือก รวมไปถึงศูนย์ดูแลผู้สูงวัย
ขณะที่ “Pet Humanization” กระแสนิยมสัตว์เลี้ยงของคนไทย กลายเป็นปรากฏการณ์ที่ดันให้ตลาดสัตว์เลี้ยงโตแรงกว่า 4 หมื่นล้านบาท ชี้พฤติกรรมผู้รักสัตว์เปลี่ยนจาก Ownership เป็น Pet Parent ส่งผลให้ธุรกิจเกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงมีโอกาสเติบโต ขณะที่คู่แข่งในตลาดยังมีน้อย ปัจจัยที่ส่งผลให้ตลาดมีการเติบโต
เนื่องจากคนโสดเพิ่มมากขึ้นนิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงคลายเหงา และผู้คนไม่อยากมีลูกนิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงแทนลูก เมื่อผู้เลี้ยงสัตว์รักสัตว์เลี้ยงเหมือนลูกทิศทางของตลาดที่เติบโตเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคส่งผลให้ธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตลาดสัตว์เลี้ยงปรับตัวและเกิดธุรกิจใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย
ส่งท้ายกับธุรกิจดาวรุ่งที่ต้องจับตาคือ “หมาล่า” ที่กลายเป็นเมนูฮิตขวัญใจคนไทยรวมถึงต่างชาติ ที่ปีนี้ต่างยกให้เป็น “ปีแห่งหมาล่า” พิสูจน์ได้จากยอดสั่งผ่าน LINE MAN ที่ทะลุหลัก 1 ล้านออเดอร์ในปีเดียว กลายเป็นเมนูดาวรุ่งพุ่งแรง ดันยอดดิลิเวอรีหมวดเมนูหมาล่าโตสูงขึ้นถึง 45% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า รวมไปถึงการแห่เปิดร้านหมาล่ากันพรึบพรั่บทั่วเมือง
ฟากธุรกิจ “ดาวร่วง” ในปี 2566 ที่เคยรุ่งโรจน์ในอดีต แต่ปีนี้เปรียบเหมือนนางฟ้าตกสวรรค์ หนีไม่พ้น “ธุรกิจกัญชา” ด้วยปัจจัยที่ยากจะควบคุมโดยเฉพาะนโยบายจากภาครัฐ ทำให้ผู้ประกอบการต่างได้รับผลกระทบจากกฎหมายข้อบังคับต่างๆ เมื่อรัฐบาลประกาศชัดเจนว่าพร้อมเดินหน้าสนับสนุน “กัญชาเพื่อการแพทย์และสุขภาพ” เท่านั้น
ขณะที่สินค้าที่ถูกจัดให้อยู่ในหมวดดาวร่วง ก็มีทั้ง “อาหารแช่แข็ง” ที่พบว่า จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง ประหยัดค่าใช้จ่าย ขณะที่ราคาวัตถุดิบอาหารโดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้ ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตอาหารแช่แข็งเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องปรับราคาตาม จึงส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค และหันไปประทานอาหารที่สดใหม่แทน
สุดท้ายกลุ่มที่เป็น “ดาวร่วง” ต่อเนื่องยังคงเป็น ธุรกิจร้านถ่ายรูป ร้านถ่ายเอกสาร ร้านเช่าหนังสือ ร้านเช่า CD และร้านเกม ที่ต่างได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปหันมาอ่านหนังสือผ่านช่องทาง
อิเล็คทรอนิกส์ รวมไปถึงการดูภาพยนตร์ ซีรีย์ เล่นเกม ผ่านทางออนไลน์มากขึ้น แม้วันนี้ธุรกิจร้านเกมจะซบเซา ถึงแม้ยังไม่ถึงทางตันแต่ก็มีโอกาสเติบโตช้าสวนทางกับ ตลาด E-Sport กลายเป็นตลาดที่น่าสนใจระดับโลกเพราะแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี
หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,952 วันที่ 28 - 30 ธันวาคม พ.ศ. 2566